ดุม กำ กง (บาลีวันละคำ 3,538)
ดุม กำ กง
อาศัยล้อเกวียนไปเรียนบาลี
เป็นคำไทย อ่านตรงตามรูปคำ ดุม – กำ – กง
(๑) “ดุม”
พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2554 บอกไว้ว่า –
“ดุม ๑ : (คำนาม) ส่วนกลางของล้อเกวียนหรือล้อรถที่มีรูสำหรับสอดเพลา.”
“ดุม” ตามความหมายนี้ บาลีใช้ศัพท์ว่า “นาภิ” (-ภิ สระ อิ, แต่ที่เป็น “นาภี” ก็มี)
“นาภิ” รากศัพท์มาจาก นภฺ (ธาตุ = เบียดเบียน) + อิ ปัจจัย, ทีฆะ อ (ที่ น-) เป็น อา
: นภฺ >นาภ + อิ = นาภิ (อิตถีลิงค์) แปลตามศัพท์ว่า –
(1) “ชิ้นส่วนที่เบียดเพลา” หมายถึง ดุมล้อ หรือแกนกลางของล้อรถ
(2) “อวัยวะที่เหมือนกับดุมล้อ” คืออยู่ตรงกลางเหมือนกัน หมายถึง สะดือ
พจนานุกรมบาลี-อังกฤษ แปล “นาภิ” เป็นภาษาอังกฤษว่า –
(1) the navel = สะดือ
(2) the nave of a wheel = ดุมล้อ
พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2542 บอกไว้ว่า –
“นาภิ, นาภี ๑ : (คำนาม) สะดือ, ราชาศัพท์ใช้ว่า พระนาภี, เช่น พระพุทธรูปส่วนสูงวัดจากพระบาทถึงพระนาภี, ท้อง เช่น ประชวรพระนาภี; ดุมเกวียน, ดุมรถ; ศูนย์กลาง. (ป., ส.).”
ต่อมา พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2554 ตัดความหมายที่ว่า ดุมเกวียน, ดุมรถ ออกไป และแก้ไขบทนิยามเป็นดังนี้ –
“นาภิ, นาภี ๑ : (คำนาม) สะดือ, ราชาศัพท์ใช้ว่า พระนาภี, เช่น พระพุทธรูปส่วนสูงวัดจากพระบาทถึงพระนาภี, ท้อง เช่น ประชวรพระนาภี; ศูนย์กลาง เช่น อันไพโรจรูจี ในนาภีพสุธา (นันโท). (ป., ส.).”
บาลี “นาภิ” “นาภี” สันสกฤตก็มีทั้ง “นาภิ” และ “นาภี”
สํสกฤต-ไท-อังกฤษ อภิธาน บอกไว้ว่า –
(สะกดตามต้นฉบับ)
“นาภิ, นาภี : (คำนาม) มัธยภาคแห่งล้อ, ดุมล้อรถ; กัสตูรี, มฤคนาภิ, คันธธูลิ (แผลงจาก– คันธธุลี), ชะมด; สะดือ; อธิราช, มหาราช, อธีศวร, พระเจ้าอยู่หัว, ไทเหนือว่า–‘เจ้าเหนือหัว’, พระราชา, นฤบดี; กษัตริย์หรือฮินดูผู้วงศ์วานกษัตริย์ชาตินักรบ; บุตรของปริยวฺรต ชาติ, วงศ์; the nave of a wheel; musk; the navel; an emperor, a sovereign, a paramount lord, a king, a chief; a Kshatriya or Hindū of the regal and military tribe; a race, a family.”
(๒) “กำ”
พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2554 บอกไว้ว่า –
“กำ ๒ : (คำนาม) ซี่ล้อรถหรือเกวียน.”
“กำ” ตามความหมายนี้ บาลีใช้ศัพท์ว่า “อร” (อะ-ระ) รากศัพท์มาจาก อรฺ (ธาตุ = ไป) + อ (อะ) ปัจจัย
: อรฺ + อ = อร (ปุงลิงค์) แปลตามศัพท์ว่า “สิ่งเป็นเครื่องแล่นไปได้แห่งรถ” หมายถึง ซี่ล้อรถหรือเกวียน (the spoke of a wheel)
(๓) “กง”
พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2554 บอกไว้ว่า –
“กง ๒ : (คำนาม) วง, ส่วนรอบของล้อเกวียนหรือล้อรถม้าเป็นต้น, …”
“กง” ตามความหมายนี้ บาลีใช้ศัพท์ว่า “เนมิ” (เน-มิ) รากศัพท์มาจาก นิ (ธาตุ = นำไป) + มิ ปัจจัย, แผลง อิ ที่ นิ เป็น เอ (นิ > เน)
: นิ + มิ = นิมิ > เนมิ (อิตถีลิงค์) แปลตามศัพท์ว่า “ชิ้นส่วนที่นำล้อไป” หมายถึง เส้นรอบวงของดุมล้อรถ, วง, กรอบ, ขอบ (the circumference of a wheel, circumference, rim, edge)
สรุปว่า –
“ดุม” เป็นคำไทย ใช้เรียก “ส่วนกลางของล้อเกวียนหรือล้อรถที่มีรูสำหรับสอดเพลา” คำบาลีว่า “นาภิ” หรือ “นาภี”
“กำ” เป็นคำไทย ใช้เรียก “ซี่ล้อรถหรือเกวียน” คำบาลีว่า “อร” (อะ-ระ)
“กง” เป็นคำไทย ใช้เรียก “ส่วนรอบของล้อเกวียน” คำบาลีว่า “เนมิ” (เน-มิ)
คนเก่า เมื่อพูดว่า “ดุม กำ กง” จะรู้กันทันทีว่าหมายถึงส่วนไหนของล้อเกวียน
เชื่อว่า 3 คำนี้ คนสมัยใหม่ไม่รู้จัก
แถมให้อีกคำหนึ่ง คือ “เกวียน”
“เกวียน” อ่านว่า เกฺวียน กฺว ควบ ไม่ใช่ เก-วี-ยน แต่ออกเสียงเหมือน เวียน มี ก อยู่หน้า ว
ลองออกเสียงว่า กะ-เวียน แล้วออกเสียงเร็วๆ ลดเสียง กะ ให้แผ่วลง จน ก ไปควบอยู่กับ ว ก็จะได้เสียงคำว่า “เกวียน”
พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2554 บอกไว้ว่า –
“เกวียน : (คำนาม) ยานชนิดหนึ่ง มีล้อ ๒ ล้อ ใช้ควายหรือวัวเทียม, ลักษณนามว่า เล่ม; …”
“เกวียน” ตามความหมายนี้ บาลีใช้ศัพท์ว่า “สกฏ” (สะ-กะ-ตะ) รากศัพท์มาจาก –
(1) สกฺ (ธาตุ = อาจ, สามารถ) + อฏ ปัจจัย
: สกฺ + อฏ = สกฏ แปลตามศัพท์ว่า “ยานที่สามารถนำภาระไปได้”
(2) สม (ราบเรียบ, เสมอ) + กฏฺ (ธาตุ = ไป) + อ (อะ) ปัจจัย, ลบ ม ที่บทหน้า (สม > ส)
: สม + กฏฺ = สมกฏฺ + อ = สมกฏ > สกฏ แปลตามศัพท์ว่า “ยานที่ไปบนภูมิภาคที่เรียบ”
“สกฏ” (ปุงลิงค์) หมายถึง เกวียน
พจนานุกรมบาลี-อังกฤษ แปล “สกฏ” ว่า a cart, waggon; a cartload (รถ, เกวียน; ขนาดบรรทุกรถคันหนึ่ง)
เชื่อว่าเด็กไทยสมัยใหม่ไม่รู้จัก “เกวียน” จริงๆ กันแล้ว นอกจากเกวียนในรูปถ่าย
ผู้เขียนบาลีวันละคำขอถือโอกาสใช้คำว่า “เกวียน” ชวนกันไปเรียนบาลี และแนะนำให้รู้จักเกวียนไปในตัว
…………..
ดูก่อนภราดา!
: ไทยบอกไทยให้รู้จักเกวียน ถ้าไม่ฟัง
: วันหนึ่งคงต้องให้ฝรั่งมาบอกไทย
#บาลีวันละคำ (3,538)
18-2-65
…………………………….