อารามบอย
อารามบอย
———–
ไม่ใช่แค่คนหิ้วย่ามตามหลังพระ
“อารามบอย” เป็นภาษาปากที่แปลงมาจากคำว่า “เด็กวัด”
เด็ก = boy
วัด = อาราม
“เด็กวัด” หมายถึง เด็กชายที่อยู่ในวัยศึกษาเล่าเรียน พ่อแม่หรือผู้ปกครองนำไปฝากให้พระสงฆ์อบรมสั่งสอนและพักอาศัยอยู่ในวัด นอกจากเล่าเรียนวิชาตามที่พระจะเป็นผู้สอนให้แล้วก็ทำหน้าที่รับใช้พระและช่วยทำกิจต่างๆ ของวัดไปด้วย
ต่อมาเมื่อทางบ้านเมืองตั้งโรงเรียนของทางราชการขึ้นและกำหนดให้เด็กต้อง “เข้าโรงเรียน” โรงเรียนจึงทำหน้าที่อบรมสั่งสอนแทนวัด
โรงเรียนในสมัยแรกมักตั้งอยู่ในวัด เด็กชายส่วนหนึ่งที่บ้านอยู่ไกลจึงยังคงพักอาศัยอยู่ในวัดด้วยในฐานะ “เด็กวัด”
ต่อมาแม้โรงเรียนและสถานศึกษาระดับต่างๆ จะขยายตัวออกไปจากวัดมากขึ้น นักเรียนชายส่วนหนึ่งที่อยู่ต่างจังหวัด โดยเฉพาะเด็กที่ไม่มีญาติอยู่ในเมือง เมื่อเข้าไปศึกษาในตัวเมืองหรือในเมืองหลวงก็ยังนิยมพักอาศัยตามวัดต่างๆ ในฐานะเป็น “เด็กวัด” และต้องทำกิจต่างๆ ตามที่วัดกำหนด เช่นไหว้พระสวดมนต์และรับใช้พระในโอกาสต่างๆ เช่นเดียวกับ “เด็กวัด” สมัยก่อน เพียงแต่หน้าที่หลักคือไปเรียนหนังสือ
ลักษณะเช่นนี้จึงมีผู้กล่าวว่า เด็กวัดสมัยหลังนี้อาศัยวัดเป็นเสมือนหอพักเท่านั้น ไม่ได้มีชีวิตเป็น “เด็กวัด” ที่แท้จริงเหมือนในสมัยก่อน
อย่างไรก็ตาม สถานะของเด็กวัดในสายตาของคนทั่วไปมักต่ำต้อย เด็กที่ถูกเรียกว่า “เด็กวัด” มักรู้สึกมีปมด้อย ไม่เทียมหน้าเทียมตาเด็กทั่วไป
คำว่า “เด็กวัด” จึงมีความหมายในทางไม่น่าชื่นชม และมักถูกมองอย่างเหยียดๆ หรือดูถูกดูหมิ่นเอาด้วยซ้ำ
คำว่า “อารามบอย” จึงเกิดขึ้นคล้ายกับต้องการจะหลบเลี่ยง-หรือไม่ก็มีเจตนาจะล้อเลียน-คำว่า “เด็กวัด” นั่นเอง
ปัจจุบัน วัดต่างๆ แทบจะหาเด็กวัดไม่ได้แล้ว เด็กไทยสมัยใหม่มีช่องทางศึกษาหรือใช้ชีวิตแบบอื่นที่ไม่ต้องอาศัยวัดอีกต่อไป
“เด็กวัด” หรือ “อารามบอย” กำลังกลายเป็นตำนานสำหรับเล่าขานว่า ครั้งหนึ่งสังคมไทยเคยมีคนที่ใช้ชีวิตอยู่ในวัดในฐานะ “เด็กวัด” ก่อนที่จะเติบโตขึ้นไปเป็นใครต่อใครอยู่ในสังคม-ตั้งแต่คนระดับที่เอ่ยชื่อแล้วคนรู้จักกันทั่วประเทศหรือแทบทั่วโลก ไปจนถึงคนที่ไม่มีใครจำชื่อได้แม้แต่คนเดียว
พลเรือตรี ทองย้อย แสงสินชัย
๑๘ กุมภาพันธ์ ๒๕๖๕
๑๐:๐๐
………………………………………….
อารามบอย