วิศสุกรรมนฤมาณ (บาลีวันละคำ 3,552)
วิศสุกรรมนฤมาณ
สะพานที่ “วิศสุกรรม” สร้าง
อ่านว่า วิด-สุ-กำ-นะ-รึ-มาน
ประกอบด้วยคำว่า วิศสุกรรม + นฤมาณ
(๑) “วิศสุกรรม”
บาลีเป็น “วิสฺสุกมฺม” อ่านว่า วิด-สุ-กำ-มะ ประกอบด้วยคำว่า วิสฺสุ + กมฺม
(ก) “วิสฺสุ” คำเดิมในบาลีเป็น “วิสฺส” (วิด-สะ) หนังสือ ศัพท์วิเคราะห์ ของ พระมหาโพธิวงศาจารย์ (ทองดี สุรเตโช ป.ธ.๙, ราชบัณฑิต) มีศัพท์ว่า “วิสฺส” บอกไว้ว่า วิสฺส รากศัพท์มาจาก วิสฺ (ธาตุ = พรากออกไป) + ส ปัจจัย
: วิสฺ + ส = วิสฺส แปลตามศัพท์ว่า “กลิ่นที่พรากออก” (คือไล่คนออกห่างเพราะเหม็น) หมายถึง เหม็นคาว
พจนานุกรมบาลี-อังกฤษ (THE PALI TEXT SOCIETY’S PALI-ENGLISH DICTIONARY EDITED BY T. W. RHYS DAVIDS) มีคำว่า “วิสฺส” 2 คำ บอกไว้ดังนี้ –
(1) วิสฺส ๑ : (คุณศัพท์) ทั้งหมด, ทุกอย่าง, ทั้งเพ; เฉพาะในชื่อบุคคลเป็น วิสฺสกมฺม (all, every, entire; only in Np. Vissakamma.)
(2) วิสฺส ๒ : (คำนาม) เหม็นคาว (a smell like raw flesh)
สํสกฤต-ไท-อังกฤษ อภิธาน มีคำว่า “วิศว” 3 คำ บอกไว้ดังนี้ –
(สะกดตามต้นฉบับ)
(1) วิศว : (คุณศัพท์) สกล, ทั้งมวล, ทั้งสิ้น, ทั่วไป; entire, whole, all, universal.
(2) วิศว : (คำนาม) โลก; ขิงแห้ง; the world; dry ginger.
(3) วิศว : (คำนาม) เทวดาองค์หนึ่งในจำพวกพิเศษซึ่งนับได้สิบองค์ด้วยกันอันมีนามว่า วสุ, สัตยะ, กระตุ, ทักษะ, กาละ, กามะ, ธฤติ, กุรุ, ปุรุรวะ, และมทรวะ; a deity of a particular class in which ten are enumerated; their names are Vasu, Satya, kratu, Daksha, Kāla, Kāma, Dhriti, Kuru, Pururava, and Madrava.
อนึ่ง พจนานุกรมบาลี-อังกฤษ บอกด้วยว่า คำว่า “วิสฺส” ในบาลีที่หมายถึง all, every, entire คือที่ตรงกับ “วิศว” ในสันสกฤตนั้น เป็นคำรุ่นเก่าในบาลี (antiquated) ในคัมภีร์ใช้คำว่า “สพฺพ” แทนหมดแล้ว
ได้ความว่า บาลี “วิสฺส” ตรงกับสันสกฤตว่า “วิศว” ที่เรารู้จักกันในภาษาไทยว่า “วิศวะ” ซึ่งมีความหมายเกี่ยวกับการช่าง
(ข) “กมฺม” อ่านว่า กำ-มะ รากศัพท์มาจาก กรฺ (ธาตุ = กระทำ) + รมฺม (รำ-มะ, ปัจจัย) ลบ รฺ ที่สุดธาตุและ ร ที่ต้นปัจจัย
: กร > ก + รมฺม > มฺม : ก + มฺม = กมฺม
“กมฺม” แปลว่า การกระทำ, สิ่งที่ทำ, การงาน (the doing, deed, work) นิยมใช้ทับศัพท์อิงรูปสันสกฤตว่า “กรรม”
ในภาษาไทย พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2554 บอกไว้ว่า –
“กรรม ๑, กรรม– ๑ : (คำนาม) (๑) การ, การกระทำ, การงาน, กิจ, เช่น พลีกรรม ต่างกรรมต่างวาระ, เป็นการดีก็ได้ ชั่วก็ได้ เช่น กุศลกรรม อกุศลกรรม.(๒) การกระทำที่ส่งผลร้ายมายังปัจจุบัน หรือซึ่งจะส่งผลร้ายต่อไปในอนาคต เช่น บัดนี้กรรมตามทันแล้ว ระวังกรรมจะตามทันนะ.(๓) บาป, เคราะห์, เช่น คนมีกรรม กรรมของฉันแท้ ๆ.(๔) ความตาย ในคำว่า ถึงแก่กรรม.”
ในที่นี้ “กรรม” หมายถึง การงานทั่วไป
วิสฺส + กมฺม = วิสฺสกมฺม (วิด-สะ-กำ-มะ) แปลว่า “งานเกี่ยวกับการช่าง”
“วิสฺสกมฺม” แปลง อะ ที่ ส เป็น อุ ได้รูปเป็น “วิสฺสุกมฺม” (วิด-สุ-กำ-มะ) ก็มี
“วิสฺสกมฺม” หรือ “วิสฺสุกมฺม” ในภาษาไทยใช้เป็น “วิสสุกรรม” พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2554 บอกไว้ว่า –
“วิสสุกรรม : (คำนาม) พระวิศวกรรม, วิษณุกรรม เวสสุกรรม หรือ เพชฉลูกรรม ก็เรียก.”
ดูที่คำว่า “วิศวกรรม” พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2554 บอกไว้ว่า –
“วิศวกรรม : (คำนาม) ชื่อเทวดาตนหนึ่ง ผู้ชํานาญในการช่างทั้งปวง, วิษณุกรรม วิสสุกรรม เวสสุกรรม หรือ เพชฉลูกรรม ก็เรียก. (ส.; ป. วิสฺสกมฺม, วิสฺสุกมฺม); การนําความรู้ทางคณิตศาสตร์และวิทยาศาสตร์ธรรมชาติมาประยุกต์ใช้.”
ได้ความว่า “วิศสุกรรม” ในชื่อนี้ ก็คือ “วิศวกรรม” “วิษณุกรรม” “วิสสุกรรม” “เวสสุกรรม” หรือ “เพชฉลูกรรม” นั่นเอง และหมายถึง “เทวดาตนหนึ่ง ผู้ชํานาญในการช่างทั้งปวง”
(๒) “นฤมาณ”
บาลีเป็น “นิมฺมาน” อ่านว่า นิม-มา-นะ รากศัพท์มาจาก นิ (คำอุปสรรค = เข้า, ลง) + มา (ธาตุ = วัด, เนรมิต, สร้าง) + ยุ ปัจจัย, แปลง ยุ เป็น อน (อะ-นะ), ซ้อน มฺ ระหว่างอุปสรรคกับธาตุ (นิ + มฺ + มา)
: นิ + มฺ + มา = นิมฺมา + ยุ > อน = นิมฺมาน แปลตามศัพท์ว่า “การเนรมิต” “สิ่งที่เนรมิตขึ้น” หมายถึง การวัด, การผลิต, การสร้าง, การทำงาน (measuring; production, creation, work)
บาลี “นิมมาน” ในที่นี้ภาษาไทยใช้เป็น “นฤมาณ” อ่านว่า นะ-รึ-มาน พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2554 บอกไว้ว่า –
“นฤมาณ : (คำแบบ) (คำนาม) การสร้าง, การแปลง, การทํา, การวัดส่วน. (ส. นิรฺมาณ).”
วิศสุกรรม + นฤมาณ = วิศสุกรรมนฤมาณ (วิด-สุ-กำ-นะ-รึ-มาน) แปลให้คุ้นตาคนไทยว่า “การสร้างของพระวิษณุกรรม” ใช้เป็นชื่อสะพาน มีความหมายว่า สะพานที่พระวิษณุกรรมสร้าง
ขยายความ :
“วิศสุกรรมนฤมาณ” เป็นชื่อสะพานแห่งหนึ่งในกรุงเทพฯ
วิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี (อ่านเมื่อ 4 มีนาคม 2565 เวลา 20:30) มีคำว่า “สะพานวิศุกรรมนฤมาณ” บรรยายความตอนหนึ่ง ดังนี้ (วรรคตอนและสะกดตามต้นฉบับ)
…………..
สะพานวิศุกรรมนฤมาณ หรือ สะพานวิศสุกรรมนฤมาณ [ชื่อที่สะกดตามป้ายชื่อบนสะพาน] สะพานข้ามคลองผดุงกรุงเกษมแห่งหนึ่ง ตั้งอยู่ในพื้นที่แขวงบางขุนพรหม เขตพระนคร และแขวงดุสิต เขตดุสิต กรุงเทพมหานคร เป็นสะพานเชื่อมระหว่างถนนนครราชสีมาและถนนประชาธิปไตย สะพานวิศุกรรมนฤมาณเป็นหนึ่งในห้าสะพานข้ามคลองผดุงกรุงเกษม ที่พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวโปรดเกล้าฯ ให้สร้างขึ้น และได้ชื่อที่คล้องจองกัน คือ สะพานเทเวศรนฤมิตร, สะพานวิศุกรรมนฤมาณ, สะพานมัฆวานรังสรรค์, สะพานเทวกรรมรังรักษ์ และสะพานจตุรภักตร์รังสฤษดิ์ โดยพระราชเลขานุการซึ่งเชี่ยวชาญภาษามคธ มีความหมายโดยรวมว่า “สะพานที่เทพยดาทรงสร้าง” ซึ่งในส่วนของสะพานวิศุกรรมนฤมาณนั้นมีความหมายว่า “สะพานที่พระวิสสุกรรมทรงสร้าง”
สะพานวิศุกรรมนฤมาณ เดิมเป็นสะพานโครงเหล็กพื้นไม้ มีราวสะพานเป็นรูปกรงเหล็กหล่อ ต่อมาได้มีการปรับปรุงใหม่เป็นสะพานคอนกรีตเสริมเหล็กขนาดกว้างกว่าเดิม ลักษณะราวสะพานเป็นรูปกรงคอนกรีตโปร่ง มีโค้งออกด้านข้าง ได้รับการบูรณะในปี พ.ศ. 2510
…………..
ดูก่อนภราดา!
: สร้าง มีวันเสร็จ
: ดูแลรักษา ไม่มีวันเสร็จ
#บาลีวันละคำ (3,552)
4-3-65
…………………………….
…………………………….