บาลีวันละคำ

มัฆวานรังสรรค์ (บาลีวันละคำ 3,553)

มัฆวานรังสรรค์

สะพานที่ท้าวมฆวานสร้าง

อ่านว่า มัก-คะ-วาน-รัง-สัน

ประกอบด้วยคำว่า มัฆวาน + รังสรรค์ 

(๑) “มัฆวาน” 

อ่านว่า มัก-คะ-วาน บาลีเป็น “มฆวา” อ่านว่า มะ-คะ-วา รากศัพท์มาจาก มหฺ (ธาตุ = บูชา) + วนฺตุ ปัจจัย, แปลง หฺ เป็น + สิ วิภัตตินามที่หนึ่ง (ปฐมาวิภัตติ) แปลง นฺตุ กับ สิ เป็น อา

: มหฺ + วนฺตุ = มหวนฺตุ > มฆวนฺตุ + สิ = มฆวนฺตุสิ > มฆวา แปลตามศัพท์ว่า “ผู้อันบุคคลพึงบูชา

อีกนัยว่า เมื่อเป็นมนุษย์ผู้นี้มีชื่อว่า “มฆ” (มะ-คะ) + วนฺตุ ปัจจัย ดำเนินกรรมวิธีทางไวยากรณ์แบบเดียวกัน แปลตามศัพท์ว่า “ผู้มีชื่อเดิมว่ามฆะ”

ในภาษาไทยใช้เป็น “มัฆวาน” พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2554 เก็บชื่อนี้ไว้หลายรูป บอกไว้ดังนี้ –

(1) มฆวัน, มัฆวา, มัฆวาน : (คำนาม) พระอินทร์. (ส. มฆวนฺ; ป. มฆวา).

(2) มัฆวา, มัฆวาน : (คำนาม) พระอินทร์. (ป. มฆวา, มฆวนฺตุ; ส. มฆวนฺ).

พจนานุกรมพุทธศาสน์ ฉบับประมวลศัพท์ ของท่าน ป.อ. ปยุตฺโต อธิบายไว้ดังนี้ –

…………..

มฆวัน, มฆวา, มัฆวา, มัฆวาน : พระอินทร์ เรียกพระนามตามตำนานที่ได้เคยเป็นหัวหน้ากลุ่มผู้ร่วมกันทำบุญบำเพ็ญประโยชน์ ๓๓ คน ก่อนจะได้เกิดในสวรรค์ชั้นดาวดึงส์;

…………..

(๒) “รังสรรค์

อ่านว่า รัง-สัน พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2554 บอกไว้ว่า –

รังสรรค์ : (คำกริยา) สร้าง, แต่งตั้ง.”

พจนานุกรมฯ ไม่ได้บอกว่า “รังสรรค์” เป็นภาษาอะไรหรือมาจากภาษาอะไร

ภาษาไทยมีคำว่า “สรรค์” อีกคำหนึ่ง พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2554 บอกไว้ว่า –

สรรค์ : (คำกริยา) สร้างให้มีให้เป็นขึ้น, มักใช้เข้าคู่กับคำ สร้าง เป็น สรรค์สร้าง หรือ สร้างสรรค์. (ส. สรฺค ว่า สร้างอย่างพระพรหมสร้างโลก).”

พจนานุกรมฯ บอกว่า “สรรค์” เทียบคำสันสกฤต “สรฺค” ดังจะให้เข้าใจว่า “สรรค์” มาจาก “สรฺค” ในสันสกฤต

สํสกฤต-ไท-อังกฤษ อภิธาน มีคำว่า “สรฺค” บอกไว้ดังนี้ –

(สะกดตามต้นฉบับ)

สรฺค : (คำนาม) แผลงเปน- ‘สรรค, สรรค์,’ สฤษฏิ์, สวภาวประกฤติหรือภาวะ; สวภาพหรือความน้อมไป; การสร้าง; อุตสาหะ, อภินิเวศหรือความเพียร; การตกลงหรือยินยอม, สัญญา; การสละ; การถ่าย (ดุจอุจจาระ); บริจเฉท, เล่ม, ภาคหรือตอน; อศังสยะ, ความแน่นอน; nature, natural property or disposition; tendency; creation; effort, perseverance; assent, agreement; abandoning; voiding (as excrement); a chapter, a book, a section; doubtlessness, certainly.”

รังสรรค์” คงแผลงมาจาก “สรรค์” และ “สรรค์” กลายรูปมาจาก “สรฺค” ในสันสกฤต

มัฆวาน + รังสรรค์ = มัฆวานรังสรรค์ แปลว่า “พระอินทร์สร้าง” 

ขยายความ :

มัฆวานรังสรรค์” เป็นชื่อสะพานแห่งหนึ่งในกรุงเทพฯ ขอคัดข้อความจากเว็บไซต์ชื่อ ศูนย์ข้อมูลเกาะรัตนโกสินทร์ (อ่านเมื่อ 5 มีนาคม 2565 เวลา 20:30) ซึ่งบรรยายถึงสะพานมัฆวานรังสรรค์ไว้มาเสนอ ดังนี้ 

…………..

สะพานมัฆวานรังสรรค์

ที่ตั้ง

เป็นสะพานข้ามคลองผดุงกรุงเกษม ตั้งอยู่ใน 3 แขวง ได้แก่ แขวงบางขุนพรหม เขตพระนคร, แขวงวัดโสมนัส เขตป้อมปราบศัตรูพ่าย และแขวงดุสิต เขตดุสิต กรุงเทพมหานคร 

ประวัติ

ในปี ร.ศ.119 พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ได้ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้มีการตัดถนนราชดำเนินนอก ตั้งแต่เชิงสะพานผ่านฟ้าลีลาศไปทางทิศเหนือ ไปจนบรรจบบริเวณสวนดุสิต คือ ลานพระบรมรูปทรงม้าในปัจจุบัน ถนนที่ตัดขึ้นใหม่นี้เป็นถนนขนาดใหญ่ อย่างที่เรียกว่า AVENUE ตามมาตรฐาน ที่ทำอยู่ในเมืองใหญ่ในยุโรปขณะนั้น สองข้างทางปลูกต้นไม้ยืนต้น ประกอบด้วยทางเดินลาดซีเมนต์และปลูกหญ้าอย่างงดงาน ณ จุดที่ถนนสายนี้ข้ามคลองผดุงกรุงเกษม ได้ทรงโปรดเกล้าฯให้กระทรวงโยธาธิการออกแบบและก่อสร้างสะพาน ขึ้นให้มีความสง่างามสมกับถนนสายนี้ การก่อสร้างถนนและสะพานได้ดำเนินมาเป็นเวลาสามปีจึงเสร็จลง สะพานนี้ได้รับพระราชทานชื่อว่า สะพานมัฆวานรังสรรค์ เป็นสะพานที่มีความงดงามวิจิตรกว่าสะพานใดๆในกรุงเทพ

ลักษณะทางสถาปัตยกรรมที่สำคัญ

สะพานนี้ประกอบด้วยโครงสร้างคานเหล็กพื้นคอนกรีต ส่วนประดับคือราวสะพานที่เป็นเหล็กหล่อและดวงตรารูปช้างเอราวัณที่กึ่งกลางสะพาน เป็นศิลปกรรมที่งดงามอย่างยิ่งแต่สิ่งที่เด่นที่สุดของสะพานนี้ ได้แก่ เสาหินอ่อนสี่มุมสะพานรองรับโคมไฟสำริด และผนังเชิงลาดสะพานประดับด้วยหินอ่อนเช่นเดียวกัน สัดส่วนทั้งหมดของสะพานมีความสง่างามเที่ยบได้กับสะพานสำคัญในยุโรปนายช่างผู้ออกแบบ คือ มร.คาร์โล อาเลกรี ชาวอิตาเลียน ผู้รับราชการในกระทรวงโยธาธิการขณะนั้น

บรรณานุกรม

ศิริชัย นฤมิตรเรขการ. สะพานเก่ากรุงเทพฯ (Old bridges of Bangkok). กรุงเทพฯ : สยามสมาคมฯ, 2520.

…………..

ดูก่อนภราดา!

: แม้ชื่อสะพานจะแปลว่าพระอินทร์สร้าง

: แต่ทุกอย่างมนุษย์นี่แหละทำเอง

#บาลีวันละคำ (3,553)

5-3-65 

…………………………………..

ดูโพสต์ในเฟซบุ๊กของครูทองย้อย

…………………………………..

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องข้อมูลจำเป็นถูกทำเครื่องหมาย *