สมุหฐาน คำเขียนผิด (บาลีวันละคำ 4,019)
สมุหฐาน คำเขียนผิด
ยกมาให้ดูเป็นบทเรียน ไม่ใช่ให้เขียนตาม
คำว่า “สมุหฐาน” เป็นคำเขียนผิด
เมื่อจะเขียนคำที่หมายถึง ที่เกิด, ที่ตั้ง, เหตุ ซึ่งออกเสียงว่า สะ-หฺมุด-ถาน เช่น … เรื่องนี้มี สะ-หฺมุด-ถาน มาจาก …
คนส่วนหนึ่ง-และอาจจะเป็นส่วนมาก-มักสะกดเป็น … เรื่องนี้มีสมุหฐานมาจาก …
โปรดระลึกและจดจำไว้ว่า –
“สมุหฐาน” เป็นคำเขียนผิด
“สมุหฐาน” เป็นคำเขียนผิด
“สมุหฐาน” เป็นคำเขียนผิด
คำถูกคือ “สมุฏฐาน” ฏ ปฏัก สะกด ฐ ฐาน ตัวตาม อ่านว่า สะ-หฺมุด-ถาน
“สมุฏฐาน” เขียนแบบบาลีเป็น “สมุฏฺฐาน” (มีจุดใต้ ฏฺ) อ่านว่า สะ-มุด-ถา-นะ รากศัพท์มาจาก สํ + อุ + ฐาน
(๑) “สํ”
เป็นคำอุปสรรค ตำราบาลีไทยแปลว่า “พร้อม, กับ, ดี” หมายถึง พร้อมกัน, ร่วมกัน (together)
(๒) “อุ”
เป็นคำอุปสรรค นักเรียนบาลีท่องจำกันมาว่า “อุ : ขึ้น, นอก”
(๓) “ฐาน”
บาลีอ่าน ถา-นะ รากศัพท์มาจาก ฐา (ธาตุ = ตั้งอยู่) + ยุ ปัจจัย, แปลง ยุ เป็น อน (อะ-นะ)
: ฐา + ยุ > อน : ฐา + อน = ฐาน แปลตามศัพท์ว่า “ที่เป็นที่ตั้งแห่งผล”
“ฐาน” ใช้ในความหมายหลายอย่างตามแต่บริบท
พจนานุกรมบาลี-อังกฤษ แปลความหมายของ “ฐาน” ไว้ดังนี้ –
(1) standing position (อิริยาบถยืน)
(2) place, region, locality, abode, part (สถานที่, เขตแคว้น, ตำบล, แหล่ง, ที่อาศัย, ส่วน)
(3) location (ที่ตั้ง)
(4) attribute, quality, degree (คุณลักษณะ, คุณภาพ, ตำแหน่ง)
(5) thing; item, point; grounds, ways, respects, [assumption] reason (สิ่ง; ข้อ, จุด; ฐานะ, หนทาง, ประการ, เหตุผลสำหรับ [การถือเช่นนั้น])
(6) condition (สภาวะ)
(7) supposition, principle (ความคาดคิด, ข้อสมมุติ, หลักการ)
(8 ) at once, immediately (ทันทีทันใด)
การประสมคำ :
(๑) อุ + ฐาน ซ้อน ฏฺ = อุฏฺฐาน (อุด-ถา-นะ)
รูปศัพท์ที่เป็น “อุฏฺฐาน” มีความหมายดังนี้ –
(1) การลุกขึ้น, การตั้งขึ้น, การตื่นขึ้น, การยืนขึ้น (rising, rise, getting up, standing) (เฉพาะความหมาย “การยืนขึ้น” ตรงข้ามกับ “สยน” และ “นิสีทน” การนอนลง และ การนั่งลง [lying or sitting down])
(2) การขึ้นสูง, มูลราก, เวลาหรือโอกาส (rise, origin, occasion or oppertunity for)
(3) “ความอุตสาหะ”, ความขยัน, ความเพียร, ความกระตือรือร้น, ความเอาใจจดจ่อ, ความแข็งขัน, ความพยายาม (“rousing”, exertion, energy, zeal, activity, manly vigour, industry)
(๒) สํ + อุฏฺฐาน แปลงนิคหิตที่ สํ เป็น ม
: สํ > สม + อุฏฺฐาน = สมุฏฺฐาน (สะ-มุด-ถา-นะ) แปลตามศัพท์ว่า “เหตุเป็นที่ตั้งขึ้นพร้อม”
“สมุฏฺฐาน” เป็นคำนาม หมายถึง การเกิดขึ้น, สมุฏฐาน, สาเหตุ (rising, origination, cause)
“สมุฏฺฐาน” ถ้าใช้เป็นคุณศัพท์ หมายถึง มีสมุฏฺฐานมาจาก.. (arising from)
ในภาษาไทย พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2554 บอกไว้ว่า –
“สมุฏฐาน : (คำนาม) ที่เกิด, ที่ตั้ง, เหตุ, เช่น สมุฏฐานของโรค โรคนี้มีจิตเป็นสมุฏฐาน. (ป.).”
…………..
“สมุหฐาน” เป็นคำเขียนผิด แต่ก็ควรพลิกวิกฤตให้เป็นโอกาส คือหาความรู้เกี่ยวกับคำว่า “สมุห” ไปด้วย
“สมุห” บาลีเป็น “สมูห” (-มู- สระอู) อ่านว่า สะ-มู-หะ รากศัพท์มาจาก สํ (คำอุปสรรค ในที่นี้ใช้ในความหมายว่า “สมฺมา” = ถูกต้อง, “วิเสส” = พิเศษ, “สม” = เสมอกัน, พร้อมกัน) + อูหฺ (ธาตุ = นับ; ตั้งอยู่; รู้) + ณ ปัจจัย, ลบ ณ, แปลงนิคหิตที่ สํ เป็น ม (สํ > สม)
: สํ > สม + อูหฺ = สมูหฺ + ณ = สมูหณ > สมูห แปลตามศัพท์ว่า (1) “หมู่ที่นับกันโดยชอบและโดยพิเศษ” (2) “หมู่ที่ดำรงอยู่กับส่วนย่อย” (3) “หมู่อันเขารู้กันดีว่าเป็นส่วนเดียวกัน”
“สมูห” (ปุงลิงค์) หมายถึง กอง กลุ่ม, การรวมกัน (multitude, mass, aggregation)
บาลี “สมูห” ในภาษาไทยใช้เป็น “สมุห-” (อ่านว่า สะ-หฺมุ-หะ- เมื่อมีคำอื่นมาสมาสข้างท้าย) และ “สมุห์” (อ่านว่า สะ-หฺมุ)
พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2554 บอกไว้ว่า –
“สมุห-, สมุห์ : (คำนาม) หมู่, กอง, พวก. (ป.; ส. สมูห); หัวหน้าในตําแหน่งหน้าที่ เช่น สมุหพระราชพิธี สมุหราชองครักษ์ สมุห์บัญชี; ตําแหน่งพระฐานานุกรมเหนือใบฎีกา เช่น พระสมุห์ พระครูสมุห์.”
คำที่ใช้ “สมุห-, สมุห์” ในภาษาไทย เช่น –
สมุหพระกลาโหม
สมุหนายก
สมุหพระราชพิธี
สมุหราชองครักษ์
สมุห์บัญชี
พระสมุห์
พระครูสมุห์.
ข้อสังเกต คำว่า “สมุห”:
ความหมายว่า หมู่, กอง, พวก เป็นความหมายเดิมตามภาษาบาลี
ความหมายว่า หัวหน้าในตําแหน่งหน้าที่ และตําแหน่งพระฐานานุกรม เป็นความหมายที่กลายมาในภาษาไทย
แถม :
คำว่า “สมุฏฺฐาน” ในภาษาไทยอ่านว่า สะ-หฺมุด-ถาน
ไม่ใช่ สะ-หฺมุด-ตะ-ถาน ดังที่มักมีผู้อ่านผิด
สะ-หฺมุด-ถาน อ่านถูก
สะ-หฺมุด-ตะ-ถาน อ่านผิด
อย่าให้กลายเป็นว่า เขียนถูก แต่อ่านผิด
เขียนถูกด้วย อ่านถูกด้วย จึงจะดี
…………..
ดูก่อนภราดา!
รู้ดี : ดีครึ่ง
ปฏิบัติดี : ดีครึ่ง
รู้ดีด้วย ปฏิบัติดีด้วย : ดีเต็ม
#บาลีวันละคำ (4,019)
14-6-66
…………………………….
…………………………….