บาลีวันละคำ

สุทัสสา (บาลีวันละคำ 3,527)

สุทัสสา

รูปพรหมชั้นที่สิบสี่

อ่านว่า สุ-ทัด-สา 

สุทัสสา” เขียนแบบบาลีเป็น “สุทสฺสา” อ่านว่า สุ-ทัด-สา รูปคำเดิมเป็น “สุทสฺส” (สุ-ทัด-สะ) รากศัพท์มาจาก สุ (คำอุปสรรค = ดี, งาม, ง่าย) ทิสฺ (ธาตุ = เห็น) + (อะ) ปัจจัย, แปลง ทิสฺ เป็น ทสฺส 

: สุ + ทิสฺ = สุทิสฺ > สุทสฺส + = สุทสฺส แปลตามศัพท์ว่า “ผู้เห็นได้ง่าย” 

พจนานุกรมบาลี-อังกฤษ แปล “สุทสฺส” ว่า easily seen (เห็นได้ง่าย) และขยายความไว้ว่า a kind of gods, found in the fourteenth rūpa-brahmaloka (เทพจำพวกหนึ่ง พบในรูปพรหมโลกชั้นที่ 14) 

ในภาษาบาลี “สุทสฺส” ใช้เป็นคุณศัพท์ขยายคำว่า “เทวา” (เทวดาทั้งหลาย) เปลี่ยนรูปเป็น “สุทสฺสา” 

สุทสฺสา” ใช้ในภาษาไทยเป็น “สุทัสสา” คำนี้ยังไม่ได้เก็บไว้ในพจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2554

อภิปรายขยายความ :

ในคัมภีร์ชั้นอรรถกถาลงมา ขยายความคำว่า “สุทัสสา” ไว้ดังจะขอยกมาเสนอบางแห่ง ดังนี้ 

…………..

สุนฺทรา  ทสฺสนา  อภิรูปา  ปาสาทิกาติ  สุทสฺสา  ฯ

ชื่อว่า สุทัสสา เพราะดูแล้วงามดี คือมีรูปงามน่าชื่นชม

ที่มา: สัมโมหวิโนทนี อรรถกถาวิภังคปกรณ์ หน้า 836

…………..

ตติยตลวาสิโน  ปรมสุนฺทรรูปตฺตา  สุเขน  ทิสฺสนฺตีติ  สุทสฺสา  ฯ

พวกพรหมผู้อยู่ในชั้นที่ 3 ชื่อว่าสุทัสสา โดยความหมายว่า เห็นได้ง่าย (หรือเห็นแล้วสบาย) เพราะพรหมเหล่านั้นมีรูปงามอย่างยิ่ง

ที่มา: อภิธัมมัตถวิภาวินี หน้า 159

…………..

สุทัสสา” เป็นชื่อของพรหมชั้นที่ 14 ในรูปาวจรภูมิซึ่งมีทั้งหมด 16 ชั้น 

สุทัสสา” เป็นพรหมที่อยู่ในชั้นที่เรียกว่า “สุทธาวาส” ซึ่งมี 5 จำพวก คือ อวิหาพรหม อตัปปาพรหม สุทัสสาพรหม สุทัสสีพรหม และอกนิฏฐพรหม 

สุทัสสาพรหมเป็นพรหมชั้นที่ 3 ในชั้นสุทธาวาส มีอายุยืนยาว 4,000 กัป

…………..

ดูก่อนภราดา!

: ไม่ยากที่จะศึกษาธรรม

: แต่ไม่ง่ายที่จะเห็นธรรม

#บาลีวันละคำ (3,527)

7-2-65 

…………………………….

ดูโพสต์ในเฟซบุ๊กของครูทองย้อย

…………………………….

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องข้อมูลจำเป็นถูกทำเครื่องหมาย *