ถวายให้เป็นของสงฆ์ 
ถวายให้เป็นของสงฆ์
————————-
ไม่ใช่ “ถวายสังฆทาน”
เจตนาแห่ง “ทาน” คือ “การให้” มี ๒ ลักษณะ
พจนานุกรมพุทธศาสตร์ ฉบับประมวลธรรม ของท่าน ป.อ.ปยุตฺโต ข้อ [12] ขยายความคำว่า “ทาน” ไว้ว่า –
………………………………………………………
[12] ทาน 2 (การให้ — Dāna: gift; giving; almsgiving; offering; charity; liberality; generosity; benevolence; donation; benefaction)
1. ปาฏิบุคลิกทาน (การให้จำเพาะบุคคล, ทานที่ให้เจาะจงตัวบุคคลหรือให้เฉพาะแก่บุคคลผู้ใดผู้หนึ่ง — Pāṭipuggalika-dāna: offering to a particular person; a gift designated to a particular person)
2. สังฆทาน (การให้แก่สงฆ์, ทานที่ถวายแก่สงฆ์เป็นส่วนรวม หรือให้แก่บุคคล เช่นพระภิกษุหรือภิกษุณีอย่างเป็นกลางๆ ในฐานะเป็นตัวแทนของสงฆ์ โดยอุทิศต่อสงฆ์ ไม่เจาะจงรูปใดรูปหนึ่ง — Saṅghadāna: offering to the Sangha; a gift dedicated to the Order or to the community of monks as a whole)
ในบาลีเดิมเรียกปาฏิบุคลิกทานว่า ปาฏิปุคฺคลิกา ทกฺขิณา (ของถวายหรือของให้ที่จำเพาะบุคคล) และเรียกสังฆทาน ว่า สงฺฆคตา ทกฺขิณา (ของถวายหรือของให้ที่ถึงในสงฆ์)
ในทาน 2 อย่างนี้ พระพุทธเจ้าตรัสสรรเสริญสังฆทานว่าเป็นเลิศ มีผลมากที่สุด ดังพุทธพจน์ว่า “เราไม่กล่าวว่า ปาฏิบุคลิกทานมีผลมากกว่าของที่ให้แก่สงฆ์ ไม่ว่าโดยปริยายใดๆ” และได้ตรัสชักชวนให้ให้สังฆทาน
………………………………………………………
คำที่เราพูดกันด้วยความเข้าใจผิดมากที่สุดก็คือคำว่า “ถวายสังฆทาน” เราพูดว่า “ถวายสังฆทาน” ด้วยความเข้าใจผิดๆ ว่า “สังฆทาน” เป็น “สิ่งของ” ชนิดหนึ่ง
ฝ่ายผู้ประกอบการค้าก็ยิ่งตอกย้ำความเข้าใจผิดให้ลึกลงไปด้วยการผลิตสิ่งของจำพวกหนึ่งขึ้นมาแล้วเรียกว่า “ชุดสังฆทาน”
ผู้คนก็พากันเข้าใจว่าชุดสังฆทานนั่นแหละคือ “สังฆทาน”
เอาชุดสังฆทานไปถวายพระ ก็พากันเข้าใจว่านั่นแหละคือ “ถวายสังฆทาน”
ถึงกับในช่วงเวลาหนึ่ง ผู้คนเป็นอันมากในเมืองไทยพากันยืนยันว่า จะถวายสังฆทานต้องมี “ชุดสังฆทาน” จึงจะเป็น “สังฆทาน”
ไม่มีชุดสังฆทาน ไม่เป็นสังฆทาน
แม้ถึงวันนี้ก็ยังมีคนเชื่ออย่างนี้อยู่ น่าเศร้าไหม?
ที่หนักกว่านั้นก็คือ นักเรียนบาลีของเราเองก็ช่วยกันอธิบายว่า คำว่า “สังฆทาน” เป็นชื่อสิ่งของ เช่นตั้งวิเคราะห์ ( = การกระจายคำเพื่อหาความหมาย) ว่า “สงฺฆสฺส ทาตพฺพนฺติ สงฺฆทานํ = สิ่งของอันบุคคลพึงถวายแก่สงฆ์ ชื่อว่า สังฆทาน”
ทำให้ผู้ที่ไม่เข้าใจเรื่องสังฆทานพากันเชื่อมั่นดิ่งหนักลงไปอีก
โปรดทำความเข้าใจให้ถูกต้องว่า “สังฆทาน” เป็นคำเรียกเจตนาที่จะถวายสิ่งของให้เป็นของสงฆ์
ไม่มีสิ่งของชนิดใดๆ ทั้งสิ้นที่มีชื่อเรียกโดยเฉพาะว่า “สังฆทาน”
โปรดสดับคำอธิบายประกอบต่อไปนี้:
๑ เรามีอาหารอยู่ชุดหนึ่ง เอาอาหารนั้นไปให้สุนัขกิน
เป็น “สังฆทาน” หรือไม่?
ไม่เป็น ไม่ใช่
เราให้อะไรแก่สุนัข?
เราให้ “อาหาร” แก่สุนัข
๒ เอาอาหารนั้นไปให้คนขอทาน
เป็น “สังฆทาน” หรือไม่?
ไม่เป็น ไม่ใช่
เราให้อะไรแก่คนขอทาน?
เราให้ “อาหาร” แก่คนขอทาน
๓ เอาอาหารนั้นไปถวายพระมหาทองย้อยเป็นส่วนตัว
เป็น “สังฆทาน” หรือไม่?
ไม่เป็น ไม่ใช่ แบบนั้นเป็น “ปาฏิบุคลิกทาน”
เราถวายอะไรแก่พระมหาทองย้อย?
เราถวาย “อาหาร” แก่พระมหาทองย้อย
๔ เอาอาหารนั้นไปถวายเป็นของสงฆ์
เป็น “สังฆทาน” หรือไม่?
แบบนี้เป็นสังฆทาน ใช่เลย อย่างนี้แหละคือ “สังฆทาน”
เราถวายอะไรแก่สงฆ์?
เราถวาย “อาหาร” แก่สงฆ์
อ้าว! ไม่ใช่ถวาย “สังฆทาน” แก่สงฆ์ดอกรึ!?
จะเห็นได้ว่า อาหารชุดนั้นให้สุนัขกิน ให้คนขอทาน หรือแม้แต่ถวายพระเป็นส่วนตัว ไม่เป็นสังฆทาน
แต่อาหารชุดเดียวกันนั่นเองถวายเป็นของสงฆ์ เป็นสังฆทาน
ถ้า “อาหาร” ชุดนั้นเป็น “สังฆทาน” (ตามที่เข้าใจกันผิดๆ)
เอาหารนั้นให้สุนัข ก็ต้องเป็นสังฆทาน
เอาหารนั้นให้คนขอทาน ก็ต้องเป็นสังฆทาน
เอาหารนั้นถวายพระเป็นส่วนตัว ก็ต้องเป็นสังฆทาน
แต่นี่ไม่เป็น ไม่ใช่
จะเป็น “สังฆทาน” ก็ต่อเมื่อเอาอาหารนั้นไปถวายเป็นของสงฆ์
โดยหลักการเช่นนี้ เอาของที่เรียกกันเพลินไปว่า “ชุดสังฆทาน” ไปถวายพระมหาทองย้อยเป็นส่วนตัว ก็ไม่มีทางที่จะเป็น “ถวายสังฆทาน” ไปได้เลย
เป็นการยืนยันว่า สังฆทานไม่ได้อยู่ที่สิ่งของ
แต่อยู่ที่เจตนาแห่งการถวาย ประกอบด้วยสถานะของผู้รับ
เราถวายอะไรตั้งใจให้เป็นของสงฆ์ การถวายด้วยเจตนาเช่นนั้นแหละเรียกว่า “ถวายสังฆทาน”
และเวลาถวาย เราถวาย “สิ่งของ”
ไม่ใช่ถวาย “สังฆทาน”
เพราะ “สังฆทาน” ไม่ใช่สิ่งของ
ไม่ได้เป็น “สังฆทาน” ที่สิ่งของ
และไม่มีสิ่งของชนิดใดๆ ที่มีชื่อเรียกว่า “สังฆทาน”
จะถวายอะไรให้เป็นของสงฆ์ ก็ระบุชื่อลงไป เช่น –
ถวายอาหาร ก็ระบุลงไปว่า “อิมานิ มยํ ภนฺเต ภตฺตานิ …” (ข้าแต่พระสงฆ์ผู้เจริญ ข้าพเจ้าทั้งหลาย ขอน้อมถวาย ซึ่งภัตตาหาร …)
ถวายสิ่งของหลายอย่างอันสมควรแก่สมณบริโภค ก็ระบุลงไปว่า “อิมานิ มยํ ภนฺเต กปฺปิยภณฺฑานิ …” (ข้าแต่พระสงฆ์ผู้เจริญ ข้าพเจ้าทั้งหลาย ขอน้อมถวาย ซึ่งกัปปิยภัณฑ์ …)
คำถวายยอดนิยม “อิมานิ มยํ ภนฺเต สงฺฆทานานิ …” (ข้าแต่พระสงฆ์ผู้เจริญ ข้าพเจ้าทั้งหลาย ขอน้อมถวาย ซึ่งสังฆทาน …)
ควรจะเลิกกันได้หรือยังเจ้าข้า!?
…………………
เรื่องสังฆทานนี่เป็นอีกเรื่องหนึ่งที่ผมกำลังพยายามเปลื้องความผิดที่ถูกตำหนิว่า –
……………………………
“คุณไปว่าเขาก็ไม่ถูก เพราะเขาไม่รู้
คุณรู้คุณก็ต้องบอกเขา
เป็นความผิดของคุณเองที่ไม่บอกเขา”
……………………………
นี่ก็เป็นอีกครั้งหนึ่งในจำนวนหลายๆ ครั้งที่ผมบอก-บอกแล้วก็บอกอีก
ช่วยกันเข้าใจหน่อยนะครับ
เหนื่อย!!
พลเรือตรี ทองย้อย แสงสินชัย
๓ กุมภาพันธ์ ๒๕๖๕
๑๘:๑๔
…………………………………………
ถวายให้เป็นของสงฆ์ ไม่ใช่ “ถวายสังฆทาน”