ราชการ-เอกชน (บาลีวันละคำ 947)
ราชการ-เอกชน
ทำงานอะไร ราชการหรือเอกชน ?
(๑) “ราชการ” อ่านว่า ราด-ชะ-กาน
ประกอบด้วย ราช + การ
“ราช” บาลีอ่านว่า รา-ชะ แปลตามรากศัพท์ว่า –
(1) “ผู้รุ่งเรืองโดยยิ่งเพราะมีเดชานุภาพมาก”
ความหมายนี้ประกอบขึ้นจาก ราชฺ (ธาตุ = รุ่งเรือง) + อ (ปัจจัย) = ราช
หมายความว่า ผู้เป็นพระราชาย่อมมีเดชานุภาพมากกว่าคนทั้งหลาย
(2) “ผู้ยังคนทั้งหลายให้ยินดี”
ความหมายนี้ประกอบขึ้นจาก รญฺชฺ (ธาตุ = ยินดี พอใจ) + ณ (ปัจจัย) ลบ ณ ลบ ญฺ แผลง ร เป็น รา = ราช
หมายความว่า เป็นผู้อำนวยความสุขให้ทวยราษฎร์ จนคนทั้งหลายร้องออกมาว่า “ราชา ราชา” (พอใจ พอใจ)
“ราช” หมายถึง พระราชา, พระเจ้าแผ่นดิน ใช้นำหน้าคำให้มีความหมายว่า เป็นของพระเจ้าแผ่นดิน, เกี่ยวกับพระเจ้าแผ่นดิน หรือเป็นของหลวง
พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2554 บอกไว้ว่า –
“ราช ๑, ราช– : (คำนาม) พระเจ้าแผ่นดิน, พญา (ใช้แก่สัตว์) เช่น นาคราช คือ พญานาค สีหราช คือ พญาราชสีห์, คํานี้มักใช้ประกอบกับคําอื่น, ถ้าคําเดียวมักใช้ว่า ราชา.”
“การ” บาลีอ่านว่า กา-ระ รากศัพท์มาจาก กรฺ (ธาตุ = ทำ) + ณ ปัจจัย, ลบ ณ, ยืดเสียง อะ ที่ ก– เป็น อา
: กรฺ + ณ = กร > การ แปลว่า การกระทำ, กิริยาอาการ, วิธีทำ, การบริการ, ผู้ทำ, ผู้จัดการ, ผู้ดำเนินการ, ผู้ปฏิบัติการ
ราช + การ = ราชการ แปลว่า งานของพระราชา, ผู้ทำงานของพระราชา
ในภาษาไทย พจน.54 บอกไว้ว่า –
“ราชการ : (คำนาม) การงานของรัฐบาลหรือของพระเจ้าแผ่นดิน.”
คำว่า “ราชการ” เป็นคำที่คิดขึ้นใช้ในภาษาไทย ในคัมภีร์ยังไม่พบคำที่ประกอบรูปเช่นนี้ แต่มีคำว่า “ราชการก” (รา-ชะ-กา-ระ-กะ) แปลว่า “ผู้ทำงานของพระราชา” คือที่เราเรียกว่า “ข้าราชการ” นั่นเอง
(๒) “เอกชน” อ่านว่า เอก-กะ-ชน
ประกอบด้วย เอก + ชน
“เอก” บาลีอ่านว่า เอ-กะ แปลตามศัพท์ว่า “ไปตามลำพัง” หมายถึง หนึ่งเดียว, ไม่มีเพื่อน, คนใดคนหนึ่ง, ใครคนหนึ่ง, บางคน, ประเสริฐ, สูงสุด
“ชน” บาลีอ่านว่า ชะ-นะ หมายถึง คน, ประชาชน, สัตว์, ผู้เกิด บางทีก็ใช้ทับศัพท์ว่า ชน
“ชน” แปลตามศัพท์ว่า “ผู้ยังกุศลหรืออกุศลให้เกิดได้” เป็นคำแปลที่ตรงตามสัจธรรม เพราะธรรมดาของคน ดีก็ทำได้ ชั่วก็ทำได้
เอก + ชน = เอกชน ในบาลีรูปคำเช่นนี้หมายถึง “คนคนหนึ่ง” (a man, one man)
ในภาษาไทย พจน.54 บอกไว้ว่า –
“เอกชน : (คำนาม) บุคคลคนหนึ่ง ๆ. (คำวิเศษณ์) ส่วนบุคคล, ไม่ใช่ของรัฐ, เช่น โรงพยาบาลเอกชน.”
ในภาษาไทย คำว่า “ราชการ” กับ “เอกชน” มักนำมาพูดเทียบกันเมื่อกล่าวถึงการทำงานประกอบอาชีพ เช่น รับราชการ ( = เข้าทำงานของรัฐบาลหรือของพระเจ้าแผ่นดิน) ทำงานเอกชน ( = ทำงานของบริษัท ห้างร้าน หรือกิจการที่ไม่ใช่ของรัฐบาล) และมักมีการเปรียบเทียบถึงรายได้ สวัสดิการ ความมั่นคง ระบบการทำงาน และการบริการเป็นต้น
ทางเลือกของคนทำงาน :
ทำงานเพื่อส่วนรวม : มองหน้าประชาชน
ทำงานเพื่อส่วนตน : มองหน้านาย
#บาลีวันละคำ (947)
21-12-57