เขียนอย่างไร อ่านอย่างไร ต่อไปก็เลิกพูดกัน?
เขียนอย่างไร อ่านอย่างไร ต่อไปก็เลิกพูดกัน?
————————————
ภาษาไทยของเรา คำไหนจะอ่านอย่างไร มีหลักสำคัญข้อหนึ่ง คือ “อ่านตามหลักภาษา”
ทุกวันนี้เรามีเหตุผลในการอ่านคำต่างๆ เพิ่มขึ้นมาข้อหนึ่ง เรียกกันว่า “อ่านตามความนิยม”
ตัวอย่างเช่น คำว่า “คมนาคม”
สมัยที่ผมเรียนชั้นประถมศึกษา (พ.ศ.๒๔๙๖-๒๔๙๙) ครูสอนให้อ่านคำนี้ว่า คะ-มะ-นา-คม
พจนานุกรมก็กำหนดให้อ่าน คะ-มะ-นา-คม
นี่คืออ่านตามหลักภาษา
อ่านเป็นอย่างอื่นถือว่าอ่านผิดหลักภาษา
ต่อมาไม่นานก็มีผู้อ่านคำนี้ว่า คม-มะ-นา-คม
จาก คะ-มะ-นา-
เป็น คม-มะ-นา-
และอ่านเช่นนี้กันทั่วไป จนในที่สุดพจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถานก็ต้องเพิ่มคำอ่านจาก คะ-มะ-นา-คม เป็น คม-มะ-นา-คม อีกแบบหนึ่ง โดยบอกว่าเป็นการอ่านตามความนิยม และไม่ถือว่าผิด-ซึ่งก็คือยอมรับว่าถูกนั่นเอง
ครั้นมาถึงวันนี้ คำว่า “คมนาคม” มีคนอ่านว่า คม-นา-คม กันทั่วไป
จะเห็นได้ว่า —
๑ จาก คะ-มะ-นา- กลายเป็น คม-มะ-นา-
๒ จาก คม-มะ-นา- กลายเป็น คม-นา-
เชื่อว่าต่อไปถ้ามีคนอ่านคำนี้แปลกไปจากนี้ พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถานก็จะต้องเพิ่มคำอ่านคำนี้ขึ้นมาอีก โดยอ้างว่าเป็นการอ่านที่ถูกต้องตามความนิยมเช่นเคย
ถามว่า หลักเกณฑ์การอ่านคำจำพวกนี้ที่มีกำหนดไว้ชัดเจน คนไทยไม่มีความสามารถจะศึกษาเรียนรู้และอ่านให้ถูกต้องตามกฎเกณฑ์กระนั้นหรือ?
ตอบว่า โดยความสามารถทางกายภาพ คนไทยในเวลานี้มีความสามารถที่จะศึกษาเรียนรู้และอ่านให้ถูกต้องตามกฎเกณฑ์ได้อย่างยิ่ง
แต่สิ่งที่ขาดหายไป คือ ความใฝ่รู้และความอุตสาหะที่จะเรียนรู้
และสิ่งที่เกิดขึ้นแทน คือ ความมักง่าย
เวลานี้มีทฤษฎีแนวใหม่เกี่ยวกับภาษาไทยเกิดขึ้น กล่าวคือมีผู้เสนอว่า
……………………………………………….
ภาษาไทยจะเขียนอย่างไรและจะอ่านอย่างไรไม่จำเป็นต้องเอากฎเกณฑ์ทางไวยากรณ์หรือหลักภาษามาตัดสินอีกต่อไปแล้ว
ควรใช้หลักเดียว คือ –
เขียนไปแล้วคนอ่านเข้าใจได้ตรงกันว่าสื่อสารถึงอะไร
อ่านไปแล้วคนฟังเข้าใจได้ตรงกันว่าสื่อสารถึงอะไร
– เท่านี้พอแล้ว
……………………………………………….
ถ้าเรายอมรับทฤษฎีนี้กันมากขึ้น ในที่สุดกฎเกณฑ์ทางไวยากรณ์หรือหลักภาษาก็ไม่มีความหมายอีกต่อไป
นั่นคือ คนไทยก็ไม่ต้องเรียนหลักภาษาไทยกันอีกต่อไป
เรียนแค่ตัวอักษร ให้รู้ว่าอักษรตัวไหนใช้แทนเสียงอะไร
แล้วก็เรียนวิธีประสมตัวอักษรเป็นคำ-เท่านี้ก็พอแล้ว
ใครอยากสะกดคำไหนอย่างไร ก็สะกดไปตามสบาย ไม่มีผิดไม่มีถูก
ใครอยากอ่านคำไหนอย่างไร ก็อ่านไปตามสบาย ไม่มีผิดไม่มีถูก
และถ้าทฤษฎีนี้ลุกลามเข้าไปถึงภาษาบาลีซึ่งเป็นภาษาที่ใช้บันทึกคำสอนในพระพุทธศาสนา เป็นภาษาที่มีกฎเกณฑ์ทางไวยากรณ์ละเอียดรัดกุมเพื่อรักษาความหมายแห่งคำสอนให้ถูกต้องตรงตามต้นฉบับ
กลายเป็นว่า ต่อไปนี้ ภาษาบาลี –
ใครอยากสะกดคำไหนอย่างไร ก็สะกดไปตามสบาย ไม่มีผิดไม่มีถูก
ใครอยากแปลคำไหนอย่างไร ก็แปลไปตามสบาย ไม่มีผิดไม่มีถูก
อะไรจะเกิดขึ้นกับพระพุทธศาสนาในอนาคต?
ถึงตอนนั้น –
“พุทธัง” แปลว่า “เอาสตังค์ใส่ตู้”
แม่กองบาลีหรือกรรมการตรวจบาลีก็เอาผิดไม่ได้
เจริญเลย!!
พลเรือตรี ทองย้อย แสงสินชัย
๑๘ มีนาคม ๒๕๖๕
๑๐:๓๙
………………………………………..
เขียนอย่างไร อ่านอย่างไร ต่อไปก็เลิกพูดกัน?
………………………………………..