บาลีวันละคำ

สัมมาสมาธิ (บาลีวันละคำ 3,565)

สัมมาสมาธิ

องค์ที่แปดของมรรคมีองค์แปด

อ่านว่า สำ-มา-สะ-มา-ทิ

ประกอบด้วยคำว่า สัมมา + สมาธิ

(๑) “สัมมา” บาลีเป็น “สมฺมา” (สำ-มา)

“สมฺมา” รากศัพท์มาจาก สมุ (ธาตุ = สงบ) + อ ปัจจัย, ลบสระท้ายธาตุ, ซ้อน มฺ, ลง อา ปัจจัยเครื่องหมายอิตถีลิงค์

: สมุ > สม + ม = สมฺม + อ = สมฺม + อา = สมฺมา แปลตามศัพท์ว่า “เหตุเป็นเครื่องสงบ”

หมายเหตุ :

“สมฺมา” ตามรากศัพท์นี้ หมายถึง สลักของแอก (a pin of the yoke)

“สมฺมา” ที่กำลังกล่าวถึงนี้น่าจะมีรากศัพท์เดียวกัน

——-

“สมฺมา” เป็นคำที่ภาษาไวยากรณ์เรียกว่า “อัพยยศัพท์” คือคำที่คงรูป ไม่เปลี่ยนรูปไปตามวิธีแจกวิภัตติ แต่อาจเปลี่ยนตามวิธีสนธิได้บ้าง และทำหน้าที่เป็นคุณศัพท์ ขยายคำอื่น ไม่ใช้ตามลำพัง

“สมฺมา > สัมมา” แปลว่า โดยทั่วถึง, โดยสมควร, โดยถูกต้อง, โดยชอบ, ในทางดี, ตามสมควร, ดีที่สุด, โดยสมบูรณ์ (thoroughly, properly, rightly; in the right way, as it ought to be, best, perfectly)

คำที่ใช้ “สัมมา” นำหน้า ที่เราคุ้นกันดีก็เช่น สัมมาสัมพุทโธ พระสัมมาสัมพุทธเจ้า สัมมาทิฐิ

คำที่ตรงกันข้ามกับ “สัมมา” ก็คือ “มิจฉา” (มิด-ฉา) แปลว่า ผิด, อย่างผิดๆ, ด้วยวิธีผิด, ไม่ถูก, เก๊, หลอกๆ (wrongly, in a wrong way, wrong–, false)

(๒) “สมาธิ”

บาลีอ่านว่า สะ-มา-ทิ รากศัพท์มาจาก –

(1) สํ (คำอุปสรรค = พร้อมกัน, ร่วมกัน, ดี) + อา (คำอุปสรรค = ทั่วไป, ยิ่ง) + ธา (ธาตุ = ตั้งขึ้น, ยกขึ้น) + อิ ปัจจัย, แปลงนิคหิตที่ สํ เป็น ม (สํ > สม), ลบสระหน้า คือ อา ที่ ธา (ธา > ธ)

: สํ > สม + อา = สมา + ธา = สมาธา > สมาธ + อิ = สมาธิ แปลตามศัพท์ว่า “การตั้งจิตไว้ด้วยดีในอารมณ์เดียว”

(2) สมุ (ธาตุ = สงบ, ระงับ) + อาธิ ปัจจัย, ลบสระหน้า คือ อุ ที่ สมุ (สมุ > สม)

: สมุ > สม + อาธิ = สมาธิ แปลตามศัพท์ว่า “ภาวะที่ยังความฟุ้งซ่านแห่งจิตให้สงบ”

“สมาธิ” (ปุงลิงค์) หมายถึง ความสงบ, จิตตั้งมั่น

พจนานุกรมบาลี-อังกฤษ แปลและขยายความ “สมาธิ” ว่า concentration; a concentrated, self-collected, intent state of mind and meditation, which, concomitant with right living, is a necessary condition to the attainment of higher wisdom and emancipation. (การสำรวมใจ; สมาธิ, ความตั้งใจแน่วแน่และสำรวมตั้งตนกับสมาธิ ซึ่งร่วมกับสัมมาอาชีวะ เป็นปัจจัยหนึ่งที่จะนำไปสู่การบรรลุปัญญาชั้นสูงขึ้นและความหลุดพ้น)

ในภาษาไทย คำว่า “สมาธิ” พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2554 บอกความหมายไว้ว่า –

“สมาธิ : (คำนาม) ความตั้งมั่นแห่งจิต; ความสํารวมใจให้แน่วแน่เพื่อให้จิตใจสงบหรือเพื่อให้เกิดปัญญาเห็นแจ้ง. (ป., ส.).”

สมฺมา + สมาธิ = สมฺมาสมาธิ (สำ-มา-สะ-มา-ทิ) ใช้ในภาษาไทยเป็น “สัมมาสมาธิ” แปลตามสำนวนนิยมว่า “ความตั้งจิตมั่นชอบ” หมายถึง การตั้งจิตดิ่งนิ่งตามแบบที่ถูกต้อง

“ชอบ” ในภาษาไทยมักหมายถึง ถูกใจ หรือ like

“ชอบ” ในภาษาบาลีหมายถึง ถูกต้อง หรือ right

“สัมมาสมาธิ” เป็นองค์หนึ่งในหลักธรรมที่เรียกว่า “มรรคมีองค์แปด” อันประกอบด้วย (1) สัมมาทิฏฐิ (2) สัมมาสังกัปปะ (3) สัมมาวาจา (4) สัมมากัมมันตะ (5) สัมมาอาชีวะ (6) สัมมาวายามะ (7) สัมมาสติ (8 ) สัมมาสมาธิ

ขยายความ :

ในพระไตรปิฎกท่านให้คำจำกัดความคำว่า “สัมมาสมาธิ” ไว้ดังนี้ –

…………..

กตโม จ ภิกฺขเว สมฺมาสมาธิ ฯ

ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย สัมมาสมาธิคืออย่างไร

อิธ ภิกฺขเว ภิกฺขุ วิวิจฺเจว กาเมหิ วิวิจฺจ อกุสเลหิ ธมฺเมหิ

ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย ภิกษุในธรรมวินัยนี้สงัดแล้วจากกามารมณ์ สงัดแล้วจากธรรมที่เป็นอกุศล

สวิตกฺกํ สวิจารํ วิเวกชํ ปีติสุขํ ปฐมํ ฌานํ อุปสมฺปชฺช วิหรติ

ย่อมเข้าถึงปฐมฌาน (ความเพ่งที่ 1) ประกอบด้วยวิตกและวิจาร มีปีติและสุขอันเกิดจากวิเวก

วิตกฺกวิจารานํ วูปสมา อชฺฌตฺตํ สมฺปสาทนํ เจตโส เอโกทิภาวํ อวิตกฺกํ อวิจารํ สมาธิชํ ปีติสุขํ ทุติยํ ฌานํ อุปสมฺปชฺช วิหรติ

เพราะวิตกและวิจารระงับลง ย่อมเข้าถึงทุติยฌาน (ความเพ่งที่ 2) เป็นเครื่องผ่องใสใจ ณ ภายใน ให้สมาธิเป็นธรรมอันเอกเกิดมีขึ้น ไม่มีวิตกไม่มีวิจาร มีแต่ปีติและสุขที่เกิดจากสมาธิ

ปีติยา จ วิราคา อุเปกฺขโก จ วิหรติ สโต จ สมฺปชาโน สุขญฺจ กาเยน ปฏิสํเวเทติ ยนฺตํ อริยา อาจิกฺขนฺติ อุเปกฺขโก สติมา สุขวิหารีติ ตติยชฺฌานํ อุปสมฺปชฺช วิหรติ

อนึ่ง เพราะปีติคลายไป ย่อมเป็นผู้วางเฉยอยู่ มีสติสัมปชัญญะเสวยสุขทางกาย อันเป็นเหตุที่พระอริยเจ้าทั้งหลายกล่าวสรรเสริญว่าเป็นผู้มีอุเบกขามีสติอยู่เป็นสุขฉะนี้ ย่อมเข้าถึงตติยฌาน (ความเพ่งที่ 3)

สุขสฺส จ ปหานา ทุกฺขสฺส จ ปหานา ปุพฺเพ ว โสมนสฺสโทมนสฺสานํ อตฺถงฺคมา อทุกฺขมสุขํ อุเปกฺขาสติปาริสุทฺธึ จตุตฺถํ ฌานํ อุปสมฺปชฺช วิหรติ ฯ

เพราะละสุขละทุกข์เสียได้ โสมนัสและโทมนัสที่มีอยู่ในกาลก่อนอัสดงดับไป ย่อมเข้าถึงจตุตถฌาน (ความเพ่งที่ 4) ไม่มีทุกข์ ไม่มีสุข มีแต่สติเป็นธรรมชาติบริสุทธิ์เพราะอุเบกขา

อยํ วุจฺจติ ภิกฺขเว สมฺมาสมาธิ ฯ

ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย อันนี้เรียกว่าสัมมาสมาธิ

ที่มา: มหาสติปัฏฐานสูตร ทีฆนิกาย มหาวรรค

พระไตรปิฎกเล่ม 10 ข้อ 299

…………..

พจนานุกรมพุทธศาสตร์ ฉบับประมวลธรรม ของท่าน ป.อ. ปยุตฺโต ข้อ [293] สรุปความหมายของ “สัมมาสมาธิ” ไว้ดังนี้ –

…………..

8. สัมมาสมาธิ (ตั้งจิตมั่นชอบ ได้แก่ ฌาน 4 — Sammāsamādhi: Right Concentration)

…………..

พจนานุกรมพุทธศาสตร์ ฉบับประมวลธรรม ของท่าน ป.อ. ปยุตฺโต ข้อ [9] แสดงความหมายของ “ฌาน” ทั้ง 4 ไว้ดังนี้ –

…………..

[9] ฌาน 4 = รูปฌาน 4 (the Four Jhānas)

1. ปฐมฌาน (ฌานที่ 1 — Paṭhama-jhāna: the First Absorption) มีองค์ 5 คือ วิตก วิจาร ปีติ สุข เอกัคคตา

2. ทุติยฌาน (ฌานที่ 2 — Dutiya-jhāna: the Second Absorption) มีองค์ 3 คือ ปีติ สุข เอกัคคตา

3. ตติยฌาน (ฌานที่ 3 — Tatiya-jhāna: the Third Absorption) มีองค์ 2 คือ สุข เอกัคคตา

4. จตุตถฌาน (ฌานที่ 4 — Catuttha-jhāna: the Fourth Absorption) มีองค์ 2 คือ อุเบกขา เอกัคคตา

คัมภีร์ฝ่ายอภิธรรม นิยมแบ่งรูปฌานนี้เป็น 5 ขั้น เรียกว่า ฌานปัญจกนัย หรือ ปัญจกัชฌาน โดยแทรก ทุติยฌาน (ฌานที่ 2) ที่มีองค์ 4 คือ วิจาร ปีติ สุข เอกัคคตา เพิ่มเข้ามา แล้วเลื่อนทุติยฌาน ตติยฌาน และจตุตถฌาน ในฌาน 4 ข้างต้นนี้ออกไปเป็น ตติยฌาน จตุตถฌาน และปัญจมฌาน ตามลำดับ (โดยสาระก็คือ การจำแนกขั้นตอนให้ละเอียดมากขึ้นนั่นเอง)

…………..

สรุปว่า “สัมมาสมาธิ” หมายถึง สมาธิในขั้นฌาน อันเป็นบาทฐานแห่งการเจริญวิปัสสนาต่อไป

…………..

ดูก่อนภราดา!

ในกระบวนการประหาณกิเลส –

: สมาธิเหมือนหินทับหญ้า

: วิปัสสนาเหมือนถอนรากถอนโคน

17-03-65

………………………………………………………..

ดูโพสต์ในเฟซบุ๊กของครูทองย้อย

………………………………………………………..

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องข้อมูลจำเป็นถูกทำเครื่องหมาย *