ภาคีสมาชิก (บาลีวันละคำ 4,163)
ภาคีสมาชิก
แห่งราชบัณฑิตยสภา
อ่านว่า พา-คี-สะ-มา-ชิก
แยกศัพท์เป็น ภาคี + สมาชิก
(๑) “ภาคี”
บาลีและไทยใช้รูปเดียวกัน อ่านว่า พา-คี รากศัพท์มาจาก ภาค + อี ปัจจัย
(ก) “ภาค” อ่านว่า พา-คะ รากศัพท์มาจาก –
(1) ภชฺ (ธาตุ = จำแนก, แบ่ง) + ณ ปัจจัย, ลบ ณ, ทีฆะ อะ ที่ ภ-(ชฺ) เป็น อา, แปลง ช เป็น ค
: ภชฺ + ณ = ภชณ > ภช > ภาช > ภาค แปลตามศัพท์ว่า “สิ่งที่จำแนกผลดีหรือไม่ดีให้มากขึ้น”
(2) ภชฺ (ธาตุ = เสพ) + ณ ปัจจัย, ลบ ณ, ทีฆะ อะ ที่ ภ-(ชฺ) เป็น อา, แปลง ช เป็น ค
: ภชฺ + ณ = ภชณ > ภช > ภาช > ภาค แปลตามศัพท์ว่า “สิ่งอันบุคคลเสพ”
(3) ภาชฺ (ธาตุ = จำแนก, แบ่ง) + ณ ปัจจัย, ลบ ณ, แปลง ช เป็น ค
: ภาชฺ + ณ = ภาชณ > ภาช > ภาค แปลตามศัพท์ว่า “สิ่งอันเขาแบ่งออก”
“ภาค” ในบาลีใช้ในความหมายดังนี้ :
(1) ส่วน, ภาค, อนุภาค, ส่วนแบ่ง (part, portion, fraction, share)
(2) ส่วน (ของเงิน) ที่แบ่งให้, ค่าธรรมเนียม, ค่าจ้างรางวัล (apportioned share (of money), fee, remuneration)
(3) ส่วนของพื้นที่, สถานที่, ภูมิภาค (division of space, quarter, side, place, region)
(4) ส่วนของเวลา, เวลา (division of time, time)
ในที่นี้ “ภาค” ใช้ในความหมายว่า “ส่วน” ตามข้อ (1)
(ข) ภาค + อี ปัจจัยในตัทธิต (ตัทธิต : ศัพท์จำพวกหนึ่งที่ลงปัจจัยแทนความหมายต่างๆ) อี-ปัจจัย ในที่นี้มีความหมายว่า “มี”
: ภาค + อี = ภาคี
รูปวิเคราะห์ (กระบวนการแยกส่วนประกอบเพื่อหาความหมาย) ของ “ภาคี” คือ –
ภาโค อสฺส อตฺถีติ ภาคี : ส่วนของผู้นั้นมีอยู่ ดังนั้น ผู้นั้นจึงชื่อว่า “ภาคี = ผู้มีส่วน”
“ภาคี” เป็นคำคุณศัพท์ หมายถึง ผู้มีส่วนร่วม มีส่วนได้ส่วนเสีย เข้าเป็นพวกเป็นฝ่ายในเรื่องนั้นๆ ในกิจนั้นๆ
พจนานุกรมบาลี-อังกฤษ แปล “ภาคี” ว่า sharing in, partaking of, endowed with; getting, receiving (มีส่วนแบ่งหรือเข้าร่วม, เข้าไปร่วม, เพียบพร้อมด้วย-; ได้มา, ได้รับ)
ในภาษาไทย พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2554 บอกไว้ว่า –
“ภาคี : (คำนาม) ผู้มีส่วน, ผู้เป็นฝ่าย. (ป.; ส. ภาคินฺ).”
(๒) “สมาชิก”
บาลีอ่านว่า สะ-มา-ชิ-กะ รากศัพท์มาจาก สมาช + ณิก ปัจจัย
(ก) “สมาช” อ่านว่า สะ-มา-ชะ รากศัพท์มาจาก สํ (คำอุปสรรค = พร้อมกัน, ร่วมกัน) + อชฺ (ธาตุ = ไป) + ณ ปัจจจัย, ลบ ณ, แปลงนิคหิตเป็น ม, ทีฆะต้นธาตุ (อชฺ > อาช)
: สํ > สม + อชฺ = สมช + ณ = สมชณ > สมช > สมาช แปลว่า (1) “ที่เป็นที่ประชุม” (2) “ผู้เข้าไปสู่ที่ชุมนุม” (คือมาเป็นส่วนเดียวกัน)
สํสกฤต-ไท-อังกฤษ อภิธาน มีคำว่า “สมาช” แปลว่า หมู่, จำนวนหรือปริมาณ; สภา, ที่ประชุม multitude, a number; an assembly, meeting.
“สมาช” มีรากศัพท์เดียวกับคำว่า “สมชฺช” (สะ-มัด-ชะ) เดิมหมายถึงสถานที่สำหรับจัดการแสดงมหรสพ มีนักแสดงและผู้ชมไปรวมกันเป็นจำนวนมาก ต่อมาคำนี้กลายเป็น “สมชฺชา” (สะ-มัด-ชา) หมายถึง ที่ประชุม, การประชุมเพื่อประโยชน์อย่างใดอย่างหนึ่งโดยเฉพาะ
สมชฺช > สมชฺชา > สมาช
(ข) สมาช + ณิก ปัจจัย, ลบ ณ
: สมาช + ณิก > อิก = สมาชิก แปลว่า (1) “ผู้เป็นส่วนหนึ่งแห่งที่ประชุม” (2) “ผู้เป็นส่วนหนึ่งของผู้เข้าไปสู่ที่ชุมนุม”
ความหมายเดิมของ “สมาชิก” เน้นที่การมีสิทธิ์เข้าประชุม ต่อมาความหมายกลายเป็นว่า ผู้มีส่วนร่วมในกิจการอย่างใดอย่างหนึ่งโดยไม่จำเป็นว่าจะมีการประชุมหรือไม่
พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2554 บอกไว้ว่า –
“สมาชิก ๑ : ผู้มีสิทธิและมีส่วนร่วมในสมาคม องค์การ หรือกิจกรรมใด ๆ เช่น สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร สมาชิกสมาคมศิษย์เก่า สมาชิกวารสาร, (ปาก) ลูกค้า, ขาประจำ, เช่น หมู่นี้สมาชิกไม่ค่อยมาอุดหนุนที่ร้านเลย”
ภาคี + สมาชิก = ภาคีสมาชิก แปลว่า “สมาชิกผู้มีส่วนร่วม” มีความหมายเฉพาะว่า เป็นสมาชิกของราชบัณฑิตยสภาในระดับผู้มีส่วนร่วม คือยังไม่ได้เป็น “ราชบัณฑิต” แต่มีส่วนร่วมที่ได้เป็นราชบัณฑิตในโอกาสต่อไป
ขยายความ :
“ราชบัณฑิตยสภา” เป็นหน่วยงานที่พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัวได้ทรงสถาปนาขึ้นเมื่อ 19 เมษายน พ.ศ.2469 ชื่อเมื่อแรกสถาปนาว่า “ราชบัณฑิตยสภา” ต่อมาเมื่อ พ.ศ.2476 เปลี่ยนชื่อเป็น “ราชบัณฑิตยสถาน” และได้เปลี่ยนชื่อกลับไปเป็น “ราชบัณฑิตยสภา” ตั้งแต่ พ.ศ.2558 เป็นต้นมา (ดูรายละเอียดที่ “ราชบัณฑิตยสภา” บาลีวันละคำ (4,162) 4-11-66)
ตามพระราชบัญญัติราชบัณฑิตยสภา พ.ศ.2558 หมวด 2 สมาชิก มาตรา 12 บัญญัติว่า –
…………..
มาตรา ๑๒ ราชบัณฑิตยสภามีสมาชิก ๓ ประเภท คือ
(๑) ภาคีสมาชิก
(๒) ราชบัณฑิต
(๓) ราชบัณฑิตกิตติมศักดิ์
…………..
ในส่วนที่ว่าด้วย “ภาคีสมาชิก” พระราชบัญญัติราชบัณฑิตยสภา พ.ศ.2558 บัญญัติไว้ดังนี้ –
…………..
มาตรา ๑๓ ภาคีสมาชิก ได้แก่ บุคคลผู้มีคุณสมบัติและไม่มีลักษณะต้องห้ามตามมาตรา ๑๔ และมีคุณวุฒิตามมาตรา ๑๕ ซึ่งสมัครเข้าเป็นภาคีสมาชิกของสำนักใดสำนักหนึ่งตามข้อบังคับราชบัณฑิตยสภาและสำนักนั้นได้มีมติรับเป็นภาคีสมาชิกแล้ว
มาตรา ๑๔ ผู้สมัครเป็นภาคีสมาชิกต้องมีคุณสมบัติและไม่มีลักษณะต้องห้าม ดังต่อไปนี้
(๑) มีสัญชาติไทย
(๒) มีอายุไม่ต่ำกว่าสามสิบห้าปีบริบูรณ์
(๓) ไม่เป็นคนไร้ความสามารถหรือคนเสมือนไร้ความสามารถ
(๔) ไม่เคยได้รับโทษจำคุกโดยคำพิพากษาถึงที่สุดให้จำคุก เว้นแต่เป็นโทษสำหรับความผิดที่ได้กระทำโดยประมาทหรือความผิดลหุโทษ
(๕) ไม่มีความประพฤติเสื่อมเสียอย่างร้ายแรง
มาตรา ๑๕ ผู้สมัครเป็นภาคีสมาชิกต้องมีคุณวุฒิเป็นผู้ที่มีความรู้เชี่ยวชาญในสาขาวิชาใดวิชาหนึ่งโดยได้รับปริญญา ประกาศนียบัตร หรือตำแหน่งทางวิชาการไม่ต่ำกว่าที่กำหนดไว้ในข้อบังคับราชบัณฑิตยสภา และได้ใช้คุณวุฒิแสดงความสามารถอย่างใดอย่างหนึ่ง ดังต่อไปนี้
(๑) ได้แสดงความสามารถในการปฏิบัติงานจนมีชื่อเสียงเกียรติคุณเป็นที่ประจักษ์ในวิชาการศิลปะ หรือวิชาชีพ
(๒) ได้คิดขึ้นใหม่หรือคิดแก้ไขให้ดีขึ้นซึ่งสิ่งประดิษฐ์ กรรมวิธี หรือหลักวิชาการซึ่งราชบัณฑิตยสภาเห็นว่าเป็นประโยชน์เป็นที่ประจักษ์
(๓) ได้แต่งหรือแปลหนังสือซึ่งราชบัณฑิตยสภาเห็นว่าดีถึงขนาดและหนังสือนั้นได้พิมพ์เผยแพร่แล้ว
มาตรา ๑๖ การกำหนดจำนวนภาคีสมาชิกซึ่งจะมีได้ในแต่ละสำนัก หลักเกณฑ์ และวิธีการสมัครและวิธีการรับบุคคลเป็นภาคีสมาชิก ให้เป็นไปตามข้อบังคับราชบัณฑิตยสภา
………
………
มาตรา ๒๐ ให้สมาชิกราชบัณฑิตยสภามีสิทธิและประโยชน์ ดังต่อไปนี้
(๑) ภาคีสมาชิก
(ก) รับเงินอุปการะ สวัสดิการ การสงเคราะห์และสิทธิประโยชน์อื่นตามระเบียบราชบัณฑิตยสภา
(ข) ประดับเข็มเครื่องหมายตามระเบียบราชบัณฑิตยสภา
(ค) เข้าร่วมประชุมและแสดงความคิดเห็นหรืออภิปรายในการประชุมสำนักหรือการประชุมราชบัณฑิตยสภา แต่ไม่มีสิทธิออกเสียงลงคะแนน
………
………
…………..
หวังว่า บาลีวันละคำคำนี้ คงช่วยให้ท่านทั้งหลาย (1) รู้จัก “ภาคีสมาชิก” แห่งราชบัณฑิตยสภา (2) ที่พอรู้อยู่บ้างจะได้รู้จักดียิ่งขึ้น
แถม :
พระราชบัญญัติราชบัณฑิตยสภา พ.ศ.๒๕๕๘ (เปิดอ่าน)
http://web.krisdika.go.th/lawHeadContent.jsp?fromPage=lawHeadContent&formatFile=htm&hID=0
พระราชบัญญัติราชบัณฑิตยสภา พ.ศ.๒๕๕๘ (ดาวน์โหลดไฟล์ pdf)
http://web.krisdika.go.th/lawHeadPDF.jsp?formatFile=pdf&hID=0
…………..
อาจารย์วิษณุ เครืองาม ซึ่งเป็นราชบัณฑิตสำนักธรรมศาสตร์และการเมือง ได้เสนอความคิดในที่ประชุมสำนักธรรมศาสตร์และการเมืองเมื่อวันที่ 1 พฤศจิกายน 2566 ว่า ทุกวันนี้คนทั่วไปแทบจะไม่รู้จัก “ราชบัณฑิตยสภา” ที่รู้ผิดพลาดและเข้าใจคลาดเคลื่อนก็มีอยู่มาก จึงสมควรที่สมาชิกของราชบัณฑิตยสภาจะช่วยกันเผยแพร่งานและกิจกรรมของราชบัณฑิตยสภาให้ประชาชนรู้จักแพร่หลายยิ่งขึ้น
วิธีหนึ่งที่อาจารย์วิษณุ เครืองาม เสนอแนะก็คือ ผู้ที่เป็นสมาชิกของราชบัณฑิตยสภาทั้ง 3 ประเภท คือ ภาคีสมาชิก ราชบัณฑิต และราชบัณฑิตกิตติมศักดิ์ สมควรระบุสถานะของสมาชิกไว้ท้ายชื่อทุกโอกาสที่แสดงตน ทั้งนี้ มิใช่เพื่อจะโอ้อวด แต่เพื่อประกาศนาม “ราชบัณฑิตยสภา” ให้สังคมรู้จักกว้างขวางยิ่งขึ้น
ตัวอย่างเช่น-ผู้เขียนบาลีวันละคำนี้เอง เมื่อแสดงตัวย่อมสมควรที่จะระบุลงไปว่า –
พลเรือตรี ทองย้อย แสงสินชัย
ภาคีสมาชิก ราชบัณฑิตยสภา
…………..
ดูก่อนภราดา!
: ถ้ายังไม่รู้ใจกันดี
: อย่าเพิ่งเข้าไปเป็นภาคีกับใคร
#บาลีวันละคำ (4,163)
5-11-66
…………………………….
…………………………….