สิทธะมัตถุ (บาลีวันละคำ 3,583)
สิทธะมัตถุ
สิทธะมัตถุ
อย่าเอาไปสวดกันผิดๆ
“สิทธะมัตถุ” เขียนแบบบาลีเป็น “สิทฺธมตฺถุ” (สิด-ทะ-มัด-ถุ) แยกศัพท์เป็น สิทฺธํ + อตฺถุ
(๑) “สิทฺธํ”
อ่านว่า สิด-ทัง รูปคำเดิมเป็น “สิทฺธ” อ่านว่า สิด-ทะ รากศัพท์มาจาก สิธฺ (ธาตุ = สำเร็จ) + ต ปัจจัย, แปลง ต เป็น ทฺธ, ลบ ธฺ ที่สุดธาตุ นัยหนึ่งว่า แปลง ธฺ ที่สุดธาตุกับ ต เป็น ทฺธ
: สิธฺ + ต = สิธฺต > สิธฺทฺธ > สิทฺธ
: สิธฺ + ต = สิธฺต > สิทฺธ
“สิทฺธ” แปลตามศัพท์ว่า “สำเร็จแล้ว” หมายถึง สิ้นสุด, สำเร็จ; มีความสำเร็จ (ended, accomplished; successful)
“สิทฺธ” เป็นคำกริยาที่ภาษาไวยากรณ์เรียกว่า “กิริยากิตก์” ใช้เป็นคุณศัพท์ได้ด้วย ประกอบลิงค์ วจนะ วิภัตติ เหมือนคำนามที่เป็นประธานในประโยคหรือคำที่ตนขยาย
ในที่นี้ “สิทฺธ” ทำหน้าที่ขยายคำว่า “ผลํ” (ดูคำอธิบายข้างหน้า) ซึ่งเป็นนปุงสกลิงค์ วิภัตตินามที่หนึ่ง (ปฐมาวิภัตติ) เอกวจนะ จึงเปลี่ยนรูปเป็น “สิทฺธํ” (สิด-ทัง)
(๒) “อตฺถุ”
อ่านว่า อัด-ถุ รากศัพท์มาก อสฺ (ธาตุ = มี, เป็น) + อ (อะ) ปัจจัย ประจำหมวดธาตุ + ตุ วิภัตติอาขยาตหมวดปัญจมีวิภัตติ, ลบ สฺ ที่สุดธาตุ, แปลง ตุ เป็น ตฺถุ
: อสฺ + อ + ตุ = อสตุ > อตุ > อตฺถุ
“อตฺถุ” เป็นคำกริยาที่ภาษาไวยากรณ์เรียกว่า “กิริยาอาขยาต” กัตตุวาจก ปฐมบุรุษ (ผู้ที่ถูกกล่าวถึงเป็นประธานในประโยค) เอกวจนะ แปลตามศัพท์ว่า “จงมี” “จงเป็น” (to be, to exist)
สิทฺธํ + อตฺถุ แปลงนิคหิตที่ -ธํ เป็น ม
: สิทฺธํ + อตฺถุ = สิทฺธํอตฺถุ > สิทฺธมตฺถุ เขียนแบบคำอ่านเป็น “สิทธะมัตถุ” อ่านว่า สิด-ทะ-มัด-ถุ
อธิบายขยายความ :
“สิทธะมัตถุ” (สิทฺธมตฺถุ) เป็นคำที่ปรากฏในบทสวดมนต์ที่มีผู้นิยมยกขึ้นมาพูดหรือเขียนถึงกันมาก แต่มักพูดผิด เขียนพลาด ความหมายก็พลอยคลาดเคลื่อนไปด้วย
ขอยกบทสวดมนต์ที่มีคำว่า “สิทฺธมตฺถุ” (สิทธะมัตถุ) บทหนึ่งมาแสดงไว้ในที่นี้ นั่นคือบทที่มีชื่อว่า “รตนัตตยปภาวาภิยาจนคาถา” (สะกดตามต้นฉบับ) จากหนังสือสวดมนต์แปล พระศาสนโศภน วัดมกุฏกษัตริยาราม รวมรวมและแปล ข้อความที่ประสงค์เป็นดังนี้
…………..
สิทฺธมตฺถุ สิทฺธมตฺถุ
สิทฺธมตฺถุ อิทํ ผลํ
เอตสฺมึ รตนตฺตฺยสฺมึ
สมฺปสาทนเจตโส.
…………..
เขียนเป็นคำอ่านดังนี้
สิทธะมัตถุ สิทธะมัตถุ
สิทธะมัตถุ อิทัง ผะลัง
เอตัส๎มิง ระตะนัตต๎ยัส๎มิง
สัมปะสาทะนะเจตะโส.
…………..
ต้นฉบับแปลไว้ดังนี้
…………..
ขอผลแห่งจิต อันเลื่อมใสในพระ
รัตนตรัยนี่นี้ จงเป็นผลสำเร็จ
จงเป็นผลสำเร็จ จงเป็นผลสำเร็จ
เทอญ.
……………
แถม :
คำที่มักเขียนผิดพลาดคือ “อิทํ ผลํ” (อิทัง ผะลัง) เอาไปเขียนเป็น “อิทํ พลํ” (อิทัง พะลัง)
“อิทํ ผลํ” แปลว่า “ผลนี้” (ผลที่เกิดจากความเลื่อมใสในพระรัตนตรัยนี้)
“อิทํ พลํ” แปลว่า “พลังนี้” (พละกำลังนี้)
จะเห็นได้ว่า ความหมายคลาดเคลื่อนกลายเป็นละเรื่องไปเลย
นี่คือ “ผล” ที่เกิดจาก “เหตุ” คือความไม่ตรวจสอบศึกษาไปให้ถึงต้นเรื่องต้นฉบับหรือที่มาต้นเดิมของถ้อยคำที่นำมาพูดมาเขียน เอาแต่ใช้วิธีพูดตามๆ กัน เขียนตามๆ กัน โดยไม่ระแวงระวัง
ลักษณะนิสัย-ไม่ศึกษาตรวจสอบศึกษาไปให้ถึงต้นเรื่องต้นฉบับหรือที่มาต้นเดิมของเรื่องราวนั้นๆ-เช่นนี้ กำลังเป็นกันมากในหมู่คนไทย
ผลที่เห็นกันเสมอๆ ก็คือ เรื่องจริงเหตุการณจริงเป็นอย่างหนึ่ง แต่เอาไปพูดเอาไปกระจายข่าวกันเป็นอีกอย่างหนึ่ง
ลักษณะเช่นนี้ กล่าวโดยภาษาธรรมก็ว่า เป็นการประทุษร้ายสติปัญญาของผู้คนในสังคมอย่างร้ายแรง
คนอื่นไม่เลิกทำเช่นนี้ เราทำอะไรไม่ได้
แต่เราเองเลิกทำได้
…………..
ดูก่อนภราดา!
: ก่อนสวดควรตรวจสอบ
อย่าเพียงชอบแล้วรีบชม
: ลับคำให้ถึงคม
แล้วใช้คมค่อยเฉือนคำ
#บาลีวันละคำ (3,583)
04-04-65
…………………………….
…………………………….