วันรัต – วันรัตน์ (บาลีวันละคำ 3,563)
วันรัต – วันรัตน์
สะกดอย่างไร มีความหมายว่าอย่างไร
ทั้ง 2 คำ อ่านเหมือนกันว่า วัน-นะ-รัด
คำที่ออกเสียงว่า วัน-นะ-รัด เป็นนามสมณศักดิ์ของพระสงฆ์ระดับ “สมเด็จพระราชาคณะ” ปัจจุบันนามนี้สะกดเป็น “วันรัต” (ไม่มี น การันต์) เรียกเต็มว่า “สมเด็จพระวันรัต”
ผู้เขียนบาลีวันละคำขอเสนอข้ออภิปรายดังต่อไปนี้
ในภาษาไทยมีชื่อ “วัดป่าแก้ว” ปรากฏอยู่ในประวัติศาสตร์
ลิลิตตะเลงพ่าย พระนิพนธ์สมเด็จพระมหาสมณเจ้า กรมพระปรมานุชิตชิโนรส ข้อความหมายเลข 347 เป็นร่าย ความว่าดังนี้ –
…………..
๓๔๗
ไป่เกินกาลท่านสั่ง
กระทั่งแรมสิบห้าค่ำ
ย่ำสองนาฬิกาปลาย
ทำงนงายพอเสร็จ
จึ่งสมเด็จพระวันรัต
วัดป่าแก้วแคล้วคลา
กับราชาคณะสงฆ์
ยี่สิบห้าองค์สองแผนก …
…………..
และข้อความหมายหมายเลข 363 เป็นโคลงสี่ ความว่าดังนี้ –
…………..
๓๖๓
แจ้งเหตุแห้งเหือดขึ้ง….ในมนัส
จึ่งพระวันรัตวัด…………ป่าแก้ว
ถวายพรบวรศรีสวัสดิ์…..สว่างโทษ ท่านนา
นฤทุกข์นฤภัยแผ้ว……..ผ่องพ้นอันตราย ฯ
…………..
จะเห็นว่า เมื่อกล่าวถึงสมเด็จพระวันรัตจะต้องมีคำขยายว่า “วัดป่าแก้ว” ควบอยู่ด้วยเสมอ เหมือนเป็นนัยว่า นามที่ออกเสียงว่า วัน-นะ-รัด หมายถึง “ป่าแก้ว”
ป่า = วัน > วน
แก้ว = รัตน์ > รตน
ดังนั้น นามนี้จะต้องสะกดเป็น “วันรัตน์” จึงจะมีความหมายตรงกับ “ป่าแก้ว” แต่ในตัวบทลิลิตนั่นเองก็สะกดเป็น “วันรัต” (ไม่มี น การันต์) ไม่ใช่ “วันรัตน์” ที่จะแปลได้ว่า “ป่าแก้ว”
ในคัมภีร์บาลีมีคำที่แสดงอาการยินดีในการอยู่ป่าว่า “วนรติ” (วะ-นะ-ระติ) แปลว่า “ความยินดีป่า” แปลงรูปเป็นคุณศัพท์ของภิกษุว่า “วนรต” (วะ-นะ-ระ-ตะ) แปลว่า “ผู้ยินดีป่า” หมายถึงภิกษุผู้ปฏิบัติธรรมบำเพ็ญภาวนาย่อมพอใจที่จะอยู่ในเสนาสนะป่า เรียกสั้นว่าชอบอยู่ป่า นี่คือความหมายของ “วนรต”
“วนรต” เขียนเป็นคำไทยว่า “วันรัต” อ่านว่า วัน-นะ-รัด ตรงตามที่เห็นกันอยู่ในบัดนี้
อย่างไรก็ตาม ผู้เขียนบาลีวันละคำเคยเห็นเอกสารเก่าและหนังสือรุ่นเก่าบางแห่งสะกดนามนี้เป็น “วันรัตน์” (มี น การันต์) ก็มี
เป็นอันว่านามสมณศักดิ์คำนี้:
สะกดเป็น “วันรัต” (ไม่มี น การันต์) ก็มี
สะกดเป็น “วันรัตน์” (มี น การันต์) ก็มี
อ่านออกเสียงว่า วัน-นะ-รัด เหมือนกัน แต่สะกดต่างกัน และความหมายก็ต่างกัน
สะกดเป็น “วันรัต” (ไม่มี น การันต์) แปลว่า “ผู้ยินดีป่า” หมายความว่ายินดีในการอยู่ป่า อันเป็นลักษณะของพระนักปฏิบัติ
สะกดเป็น “วันรัตน์” (มี น การันต์) แปลว่า “ป่าแก้ว” หมายถึงชื่ออารามที่พระเถระรูปนี้สำนักอยู่
ตามความเห็นของผู้เขียนบาลีวันละคำ ชื่อนี้เดิมสะกดเป็น “วันรัต” (ไม่มี น การันต์) อ่านว่า วัน-นะ-รัด แปลว่า “ผู้ยินดีป่า” อันเป็นคำแสดงคุณสมบัติของพระนักปฏิบัติ
ต่อมา จะด้วยความเข้าใจผิดหรือด้วยเจตนาอย่างใดอย่างหนึ่ง ผู้ที่ได้ยินเสียงว่า วัน-นะ-รัด เข้าใจไปว่า -รัด คำนั้นคือ “รัตน” ถ้าการันต์ที่ น เป็น “รัตน์” ก็ออกเสียงว่า -รัด เหมือนกัน ทั้งนี้อาจเป็นเพราะไม่คุ้นกับรูปศัพท์ “-รัต” คือ “รต” ที่แปลว่า ผู้ยินดีพอใจ (ในสิ่งใดสิ่งหนึ่ง ในที่นี้คือ ยินดีพอใจในการอยู่ป่า) จึงไม่นึกว่าจะมีคำที่สะกดเป็น “-รัต” แบบนี้
เมื่อสะกดเป็น “วันรัตน์” (มี น การันต์) ความหมายก็เปลี่ยนไป คือต้องแปลว่า “ป่าแก้ว” (-รัตน์ เป็นคำขยาย แต่อยู่หลัง เป็นรูปแบบอย่างหนึ่งของคำบาลี ภาษาไวยากรณ์เรียกว่า “วิเสสนุตตรบท” แปลว่า “คำที่บทวิเสสนะอยู่หลัง”) วัดที่พระเถระรูปนั้นพำนักอยู่จึงได้นามว่า “วัดป่าแก้ว” เป็นความหมายที่เหมาะเจาะพอดีกัน
คงยังมีปัญหาอยู่ว่า ผู้ที่พูดหรือเขียนนามนี้ต้องการจะให้หมายถึงความหมายแบบไหนและสะกดตรงตามความหมายที่ต้องการหรือไม่ กล่าวคือ –
ต้องการให้หมายถึง “ผู้ยินดีป่า” แต่สะกดเป็น “วันรัตน์” (มี น การันต์) ก็คลาดเคลื่อน
ต้องการให้หมายถึง “ป่าแก้ว” แต่สะกดเป็น “วันรัต” (ไม่มี น การันต์) ก็คลาดเคลื่อน
สะกดเป็น “วันรัตน์” (มี น การันต์) ต้องหมายถึง “ป่าแก้ว”
สะกดเป็น “วันรัต” (ไม่มี น การันต์) ต้องหมายถึง “ผู้ยินดีป่า”
ต้องการให้หมายถึงอะไร ก็ต้องสะกดให้ตรงตามความหมายของคำนั้น ดังนั้น เมื่อจะสะกดคำนี้จึงต้องรู้ความหมายของคำด้วย จะกดตามใจชอบแล้วหมายความเอาตามใจชอบหาได้ไม่
ความหมายของศัพท์:
(๑) “วัน”
เขียนแบบบาลีเป็น “วน” อ่านว่า วะ-นะ รากศัพท์มาจาก วนฺ (ธาตุ = เสพ, คบหา, ส่งเสียง) + อ (อะ) ปัจจัย
: วนฺ + อ = วน (นปุงสกลิงค์) แปลตามศัพท์ว่า (1) “ที่เป็นที่เสพสุขแห่งเหล่าสัตว์” (2) “ที่เป็นที่ส่งเสียงแห่งเหล่าสัตว์” (3) “ที่อันผู้ต้องการวิเวกเสพอาศัย”
“วน” นักเรียนบาลีนิยมแปลกันว่า “ป่า”
คำว่า “ป่า” ในภาษาไทยมักรู้สึกกันว่าเป็นสถานที่รกทึบ มีอันตรายจากสัตว์ป่า และเป็นสถานที่น่ากลัว
คำว่า “วน” ในภาษาบาลีมีความหมายดังนี้ –
(1) สถานที่อันน่ารื่นรมย์และเป็นที่เล่นกีฬา (as a place of pleasure & sport) : wood = ป่าไม้
(2) สถานที่มีอันตรายและน่าสะพรึงกลัว (as well as of danger & frightfulness) : jungle = ไพรสณฑ์
(3) สถานที่อาศัยของนักบวช มีชื่อเสียงในทางวิเวก (as resort of ascetics, noted for its loneliness) : forest = ป่าดงพงไพร
สํสกฤต-ไท-อังกฤษ อภิธาน บอกไว้ว่า –
(สะกดตามต้นฉบับ)
“วน : (คำนาม) อรัณย์, ป่า; น้ำ; ที่อยู่, ที่อาศรัย, บ้าน, เรือน; น้ำตก; a forest, a wood, a grove; water; a residence, a dwelling or abode, a house; a cascade or waterfall.”
ในที่นี้ภาษาไทยสะกดเป็น “วัน” พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2554 บอกไว้ว่า –
“วัน ๓ : (คำนาม) ป่าไม้, ดง, เช่น อัมพวัน คือ ป่ามะม่วง. (ป. วน).”
(๒) “รัต”
เขียนแบบบาลีเป็น “รต” อ่านว่า ระ-ตะ รากศัพท์มาจาก รมฺ (ธาตุ = ยินดี, พอใจ) + ต ปัจจัย, ลบที่สุดธาตุ (รมฺ > ร)
: รมฺ + ต = รมต > รต แปลตามศัพท์ว่า “ยินดีแล้ว” หมายถึง
ยินดี, ตั้งใจ, เอาใจจดจ่อ (delighting in, intent on, devoted to)
“รต” เป็นคำกริยาที่เรียกว่า “กิริยากิตก์” และใช้เป็นคุณศัพท์ได้ด้วย
“รต” ในที่นี้เขียนแบบไทยเป็น “รัต” พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2554 บอกไว้ว่า –
“รัต ๑ : (คำกริยา) ยินดี, ชอบใจ, มักใช้ประกอบท้ายสมาส เช่น วันรัต = ผู้ยินดีในป่า. (ป., ส. รต).”
(๓) “รัตน์”
บาลีเป็น “รตน” อ่านว่า ระ-ตะ-นะ รากศัพท์มาจาก –
(1) รติ (ความยินดี) + ตนฺ (ธาตุ = ขยาย, แผ่ไป) + ณ ปัจจัย, ลบ ณ, ลบ ติ ที่ รติ (รติ > ร)
: รติ + ตนฺ = รติตน + ณ = รติตนณ > รติตน > รตน แปลตามศัพท์ว่า “สิ่งที่ขยายความยินดี” คือเพิ่มความยินดีให้
(2) รมฺ (ธาตุ = ยินดี) + ตน ปัจจัย, ลบ มฺ ที่สุดธาตุ (รมฺ > ร)
: รมฺ + ตน = รมตน > รตน แปลตามศัพท์ว่า “สิ่งเป็นที่ชื่นชอบแห่งผู้คน”
(3) รติ (ความยินดี) + นี (ธาตุ = นำไป) + อ ปัจจัย, ลบ อิ ที่ รติ (รติ > รต), ลบสระที่ธาตุ (นี > น)
: รติ + นี = รตินี + อ = รตินี > รตนี > รตน แปลตามศัพท์ว่า “สิ่งที่นำไปสู่ความยินดี”
(4) รติ (ความยินดี) + ชนฺ (ธาตุ = เกิด) + อ ปัจจัย, แปลง อิ ที่ รติ เป็น อะ (รติ > รต), ลบ ช ต้นธาตุ (ชนฺ > น)
: รติ + ชนฺ = รติชนฺ + อ = รติชน > รตชน > รตน แปลตามศัพท์ว่า “สิ่งที่ยังความยินดีให้เกิดขึ้น”
“รตน” ในภาษาไทยเขียน “รัตน-” (รัด-ตะ-นะ- กรณีมีคำอื่นมาสมาสข้างท้าย) “รัตน์” (รัด) “รัตนะ” (รัด-ตะ-นะ)
พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2554 บอกไว้ว่า –
“รัตน-, รัตน์, รัตนะ : (คำนาม) แก้วที่ถือว่ามีค่ายิ่ง เช่น อิตถีรัตนะ คือ นางแก้ว หัตถิรัตนะ คือ ช้างแก้ว; คน สัตว์ หรือสิ่งของที่ถือว่าวิเศษและมีค่ามาก เช่น รัตนะ ๗ ของพระเจ้าจักรพรรดิ ได้แก่ ๑. จักรรัตนะ-จักรแก้ว ๒. หัตถิรัตนะ-ช้างแก้ว ๓. อัสสรัตนะ-ม้าแก้ว ๔. มณิรัตนะ-มณีแก้ว ๕. อิตถีรัตนะ-นางแก้ว ๖. คหปติรัตนะ-ขุนคลังแก้ว ๗. ปริณายกรัตนะ-ขุนพลแก้ว; ของประเสริฐสุด, ของยอดเยี่ยม, เช่น รัตนะ ๓ คือ พระพุทธ พระธรรม พระสงฆ์ เป็นแก้วอันประเสริฐสุดของพุทธศาสนิกชน; ใช้ประกอบคําอื่นหมายถึงยอดเยี่ยมในพวกนั้น ๆ เช่น บุรุษรัตน์ นารีรัตน์ รัตนกวี. (ป. รตน; ส. รตฺน).”
…………..
สมเด็จพระวันรัต (จุนท์ พฺรหฺมคุตฺตมหาเถระ) เจ้าอาวาสวัดบวรนิเวศวิหาร ถึงแต่มรณภาพ วันที่ 15 มีนาคม 2565
…………..
ความในใจ :
สมเด็จพระวันรัต (จุนท์ พฺรหฺมคุตฺตมหาเถระ) กับผู้เขียนบาลีวันละคำสอบเปรียญธรรม 9 ประโยคได้ปีเดียวกันเมื่อ พ.ศ.2515
พระที่สอบเปรียญธรรม 9 ประโยคได้ปีเดียวกันจะมีความรู้สึกพิเศษร่วมกัน นั่นคือรู้สึกเป็น “เพื่อน” กันอย่างสนิท ไม่ว่าก่อนหน้านั้นจะคุ้นเคยกันหรือไม่ก็ตาม เมื่อสอบได้ปีเดียวกันจะรู้สึกเป็นเพื่อนร่วมรุ่นกันทันที และจะรู้สึกเป็นเพื่อนสนิทกันเช่นนั้นตลอดไป
อุปมาเหมือนทหารที่ออกศึกด้วยกัน และรอดตายจากสงครามกลับมาด้วยกัน จะเป็นเพื่อนสนิทกันไปจนวันตาย
…………..
ดูก่อนภราดา!
: เพื่อนมีวันตาย
: แต่ความเป็นเพื่อนไม่มีวันตาย
15-03-65
………………………………………………….
………………………………………………….