นิติรัฐ: มัดมือกันด้วยกฎหมาย
นิติรัฐ: มัดมือกันด้วยกฎหมาย
——————————-
วิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี มีคำว่า “นิติรัฐ” บรรยายความตอนหนึ่ง ดังนี้
…………………………………………..
นิติรัฐ (เยอรมัน: Rechtsstaat) เป็นถ้อยคำที่ใช้กันในประเทศที่ใช้ระบบ ประมวลกฎหมาย ซึ่งถือกำเนิดในยุโรปภาคพื้นทวีป โดยมีกฎหมายโรมัน Jus Civileเป็นแม่แบบ หมายถึงการบริหารปกครองรัฐหรือสังคมซึ่งถือกฎหมายเป็นใหญ่ เป็น “การปกครอง” โดยกฎหมาย มิใช่แล้วแต่อำเภอใจของผู้ใช้อำนาจหรือ “ผู้ปกครอง” ส่วนประเทศที่ใช้ระบบกฎหมายคอมมอนลอว์ ซึ่งมีประเทศอังกฤษเป็นแม่แบบนั้นจะอ้างถึงหลัก “นิติธรรม” หรือ Rule of Law ซึ่งโดยสรุปก็มีความหมายแบบเดียวกันนั่นคือ ถือกฎหมายเป็นใหญ่ในการบริหารจัดการรัฐ
แนวความคิดของหลักนิติรัฐ
รองศาสตราจารย์ ดร.วรพจน์ วิศรุตพิชญ์ ให้คำอธิบายแนวความคิดของหลักนิติรัฐ ว่าหมายถึง
รัฐเสรีประชาธิปไตยยอมรับรองและให้ความคุ้มครองสิทธิเสรีภาพขั้นมูลฐานของราษฎรไว้ในรัฐธรรมนูญโดยอาจจำแนกสิทธิและเสรีภาพดังกล่าวได้เป็น 3 ประเภท คือ.-
1. สิทธิเสรีภาพส่วนบุคคลโดยแท้ อันได้แก่ สิทธิเสรีภาพในชีวิตร่างกาย สิทธิเสรีภาพในเคหสถาน สิทธิเสรีภาพในการติดต่อสื่อสารถึงกันและกัน สิทธิเสรีภาพในการเดินทางการเลือกถิ่นที่อยู่ สิทธิในการนับถือศาสนา และสิทธิเสรีภาพในครอบครัว
2. สิทธิเสรีภาพในทางเศรษฐกิจ อันได้แก่ สิทธิเสรีภาพในการประกอบอาชีพ สิทธิเสรีภาพในการมีและใช้ทรัพย์สิน และสิทธิเสรีภาพในการทำสัญญา
3. สิทธิและเสรีภาพในการมีส่วนร่วมทางการเมือง อันได้แก่ สิทธิเสรีภาพในการแสดงความคิดเห็นทางการเมือง สิทธิเสรีภาพในการรวมตัวกันเป็นสมาคมหรือพรรคการเมือง และสิทธิเสรีภาพในการลงคะแนนเสียงเลือกตั้งและสมัครรับเลือกตั้ง
อย่างไรก็ดี รัฐจะต้องธำรงรักษาไว้ซึ่งประโยชน์ส่วนรวมหรือประโยชน์สาธารณะ ซึ่งในบางกรณีรัฐจำต้องบังคับให้ราษฎรกระทำการหรือละเว้นไม่กระทำการบางอย่าง โดยองค์กรหรือเจ้าหน้าที่ของรัฐสามารถล่วงล้ำเข้าไปในแดนสิทธิเสรีภาพของราษฎรได้ แต่รัฐให้คำมั่นต่อราษฎรว่าองค์กรเจ้าหน้าที่ของรัฐจะกล้ำกรายสิทธิเสรีภาพของราษฎรได้ ก็ต่อเมื่อมีกฎหมายบัญญัติไว้โดยชัดแจ้งและเป็นการทั่วไปว่าให้องค์กรหรือเจ้าหน้าที่ของรัฐกล้ำกรายสิทธิเสรีภาพของราษฎรได้ในกรณีใดและภายในขอบเขตอย่างไร
(จบข้อความจากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี)
…………………………………………..
แนวความคิดเกี่ยวกับ “นิติรัฐ” ที่อาจจะยังไม่มีใครเคยชี้ให้ดู ผมขอเสนอเป็นข้อควรคิด นั่นก็คือ ในบ้านเมืองที่ใช้หลักปกครองแบบนิติรัฐ ใครต้องการให้อะไรเป็นอะไร ทางลัดที่ช่วยให้สำเร็จสมความต้องการก็คือ หาวิธีให้รัฐออกเป็นกฎหมาย
อยากให้อะไรเป็นอะไร ออกเป็นกฎหมายได้ ก็สำเร็จทันที
เมื่อออกเป็นกฎหมาย (หมายรวมถึงระเบียบ ข้อบังคับ ประกาศ ฯลฯ บรรดาที่ออกโดยทางราชการ) ได้แล้ว ใครจะชอบหรือไม่ชอบ อยากให้เป็นหรือไม่อยากให้เป็น อยากทำหรือไม่อยากทำ หรือใครจะว่าอะไร ก็ไม่สำคัญอีกต่อไป เพราะอ้างได้ทันทีว่ากฎหมายเขียนไว้อย่างนั้น ระเบียบเขาวางไว้อย่างนั้น ก็ต้องทำตามนั้น ต้องเป็นตามนั้น
ถ้าเอาแนวความคิดนี้มาจับเข้าที่กิจการพระศาสนา ก็อาจกล่าวได้ว่า ชาวพุทธผู้มีหน้าที่รับผิดชอบบริหารการพระศาสนาบ้านเรา แทบจะไม่เคยมองหรือเคยคิดในมุมนี้เลย รวมทั้งไม่มีประสบการณ์กับการปฏิบัติตามแนวคิดนี้กันเลย
ดังที่ครั้งหนึ่ง-เมื่อมีการรณรงค์ให้บัญญัติไว้ในรัฐธรรมนูญว่า ประเทศไทยมีศาสนาพุทธเป็นศาสนาประจำชาติ ผู้คนจำนวนมาก-รวมทั้งผู้มีตำแหน่งหน้าที่ในการบริหารการพระศาสนาพากันออกมาแสดงคิดเห็นว่า สังคมไทยมีศาสนาพุทธเป็นศาสนาประจำชาติอยู่แล้ว จะต้องไปบัญญัติไว้ในรัฐธรรมนูญให้ยุ่งยากวุ่นวายอีกทำไม
แม้จนถึงวันนี้คนที่คิดแบบนี้ก็ยังมีอยู่มาก นั่นเพราะลืมไปว่า-หรือไม่ทันคิดว่า บ้านเมืองเราใช้หลักปกครองแบบ “นิติรัฐ” > มัดมือกันด้วยกฎหมาย
ยกตัวอย่างให้ขบขันเล่น แต่อย่านึกว่าจะเป็นจริงไม่ได้ ก็อย่างเช่น ในขณะที่ผู้บริหารการพระศาสนาของเรายังคงมั่นใจสุดๆ ว่าพระพุทธศาสนาในบ้านเรามั่นคงที่สุดนั่นเอง ท่านตื่นขึ้นมาในเช้าวันหนึ่งก็ได้ยินประกาศว่า รัฐบาลออกกฎหมายยุบวัดทั้งหมดแล้ว …
ท่านจะทำยังไง?
“อยากให้อะไรเป็นอะไร ต้องออกเป็นกฎหมาย”
ถึงเวลาแล้วที่จะต้องปลุกสำนึกของชาวพุทธ-โดยเฉพาะผู้บริหารการพระศาสนาของเรา-ให้เห็นความสำคัญของระบบนี้
เจ้าอาวาสทุกวัด ตลอดจนพระเณรทุกรูปในวัด จะต้องตระหนักถึงความสำคัญของระบบนี้
มิฉะนั้น สักวันหนึ่งวัดทุกวัดในแผ่นดินไทยจะกลายเป็นวัดเถื่อนโดยไม่ทันรู้ตัว
เห็นเป็นเรื่องตลกก็ได้
เห็นเป็นเรื่องกระต่ายตื่นตูมก็ได้
แต่เมื่อถึงวันนั้น นอกจากท่านจะขำไม่ออกแล้ว ท่านอาจจะต้องยืนงงอีกต่างหาก เพราะไม่รู้ว่าจะไปอยู่ตรงไหน
พลเรือตรี ทองย้อย แสงสินชัย
๑๑ มีนาคม ๒๕๖๕
๑๐:๔๖
…………………………..
ภาพประกอบ: จาก google
…………………………………..
นิติรัฐ: มัดมือกันด้วยกฎหมาย
…………………………………..