บาลีวันละคำ

กิมิทาเทวี (บาลีวันละคำ 3,957)

กิมิทาเทวี

นางสงกรานต์ปี 2566

ยังสันนิษฐานไม่ตกว่าชื่อนี้มีที่มาอย่างไร

อ่านว่า กิ-มิ-ทา-เท-วี

ประกอบด้วยคำว่า กิมิทา + เทวี

(๑) “กิมิทา” 

อ่านว่า กิ-มิ-ทา สันนิษฐานตามที่ตาเห็น มาจาก กิมิ + ทา

(ก) “กิมิ” อ่านว่า กิ-มิ- รากศัพท์มาจาก – 

(1) กุ (ตัดมาจากคำว่า “กุจฺฉิต” = น่าเกลียด) + อมฺ (ธาตุ = ไป, ถึง) + อิ ปัจจัย, แปลง อุ ที่ กุ เป็น อิ (กุ > กิ)

: กุ + อมฺ = กุมฺ + อิ = กุมิ > กิมิ แปลตามศัพท์ว่า “สัตว์ที่ถึงความน่าเกลียด” 

(2) กิ (ธาตุ = เบียดเบียน) + มิ ปัจจัย 

: กิ + มิ = กิมิ แปลตามศัพท์ว่า (1) “สัตว์ที่ถูกสัตว์มีพิษมากกว่าเช่นมดแดงเป็นต้นเบียดเบียน” (2) “สัตว์ที่เบียดเบียนสัตว์อื่น” 

กิมิ” (ปุงลิงค์) ในบาลีใช้ในความหมายดังนี้ – 

(1) หนอน, ไส้เดือน (a worm, vermin) 

(2) แมลง (an insect) 

(3) ตัวไหม (the silk worm) 

(ข) “ทา” รูปคำเดิมเป็น “” อ่านว่า ทะ รากศัพท์มาจาก ทา (ธาตุ = ให้) + (อะ) ปัจจัย, รัสสะ อา ที่ ทา เป็น อะ (ทา > )

: ทา > + = (ทะ) แปลตามศัพท์ว่า “ผู้ให้” 

พึงทราบว่า “” ที่แสดงรากศัพท์มานี้ต้องเป็นส่วนท้ายของศัพท์เสมอ ไม่มีที่ใช้เดี่ยวๆ เช่น –

อายุ + = อายุท แปลว่า “ผู้ให้อายุ

พล + = พลท แปลว่า “ผู้ให้กำลัง

วณฺณ + = วณฺณท แปลว่า “ผู้ให้วรรณะ

กิมิ + = กิมิท (กิ-มิ-ทะ) แปลว่า “ผู้ให้ตัวหนอน” ถือเอาความตามประสงค์ว่า “แมลง” คือสัตว์ที่ออกไข่เป็นตัวหนอน แล้วตัวหนอนเติบโตเป็นแมลง

โปรดทราบว่า ที่ว่ามานี้เป็นการสันนิษฐานคือเดาเอาทั้งสิ้น เพราะชื่อเฉพาะย่อมมีความหมายเฉพาะ มีที่ไปที่มาเฉพาะคำซึ่งอาจไม่ตรงกับรากศัพท์ใดๆ เลยก็ได้ 

ค้นดูในคัมภีร์ ยังไม่พบศัพท์ “กิมิท

กิมิท” ใช้เป็นคำขยาย (วิเสสนะ) ของ “เทวี” ซึ่งเป็นอิตถีลิงค์ จึงต้องเปลี่ยนรูปเป็น “กิมิทา

(๒) “เทวี” 

อ่านว่า เท-วี รากศัพท์มาจาก เทว + อี ปัจจัย

(ก) “เทว” อ่านว่า เท-วะ รากศัพท์มาจาก ทิวฺ (ธาตุ = รุ่งเรือง, เล่น, สนุก, เพลิดเพลิน) + (อะ) ปัจจัย, แผลง อิ ที่ ทิ-(วฺ) เป็น เอ (ทิวฺ > เทว)

: ทิวฺ + = ทิว > เทว แปลตามศัพท์ว่า (1) “ผู้รุ่งเรืองด้วยฤทธิ์ของตน” (2) “ผู้เพลิดเพลินด้วยเบญจกามคุณ” 

ความหมายของ “เทว” ที่มักเข้าใจกัน คือหมายถึง เทพเจ้า, เทวดา 

แต่ความจริง “เทว” ในบาลียังหมายถึงอีกหลายอย่าง คือ พระยม, ความตาย, สมมติเทพ, พระราชา, ท้องฟ้า, ฝน, เมฆฝน, วรุณเทพ 

พจนานุกรมบาลี-อังกฤษ แปล “เทว” ไว้ดังนี้ –

(1) good etc. (สิ่งที่ดี และอื่นๆ)

(2) a god, a deity, a divine being (เทวดา, เทพเจ้า, เทพ)

(3) the sky, rain-cloud, rainy sky, rain-god (ท้องฟ้า, เมฆฝน, ท้องฟ้ามีฝน, เทพแห่งฝน) 

ในภาษาบาลีนิยมใช้คำว่า “เทว” เป็นคำอาลปนะ (addressing = คำทัก, คำร้องเรียก) เมื่อพูดกับพระราชา ในภาษาไทยนักเรียนบาลีมักแปลกันว่า “ข้าแต่สมมุติเทพ

(ข) เทว + อี ปัจจัยเครื่องหมายอิตถีลิงค์ 

: เทว + อี = เทวี

เทวี” ในบาลีใช้ในความหมายดังนี้ –

(1) เทพธิดา (goddess)

(2) พระราชินี (queen)

เทวี” ในภาษาไทย พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2554 บอกไว้ว่า –

เทวี : (คำนาม) เทวดาผู้หญิง, นางพญา, นางกษัตริย์. (ป.).”

กิมิทา + เทวี = กิมิทาเทวี แปลแบบจนปัญญาว่า “เทวีผู้มีนามว่ากิมิทา” แปลความตามจินตนาการว่า เทวีผู้มีความงามดังแมลงที่สวยงาม

กิมิทาเทวี” เป็นชื่อนางสงกรานต์ตามตำนานสงกรานต์ของไทยเรา

ขยายความ :

ประกาศสงกรานต์ปี 2566 (ดูภาพประกอบ) มีข้อความตอนหนึ่งว่า –

…………..

นางสงกรานต์ ทรงนามว่า กิมิทาเทวี ทรงพาหุรัดทัดดอกจงกลนี อาภรณ์แก้วบุษราคัม ภักษาหารกล้วยน้ำ พระหัตถ์ขวาทรงขรรค์ พระหัตถ์ซ้ายทรงพิณ เสด็จนั่งมาเหนือหลังมหิงสา (ควาย) เป็นพาหนะ

…………..

ประกาศของผู้เขียนบาลีวันละคำ :

ผู้เขียนบาลีวันละคำเคยเขียนถึงชื่อนางสงกรานต์ไว้ในบาลีวันละคำเมื่อปี 2558 (ดูรายละเอียดใน “ชื่อนางสงกรานต์” บาลีวันละคำ (1,060) 13-4-58) 

……………………………………………….

https://www.facebook.com/tsangsinchai/posts/pfbid025Gbuqg8xZwocipWQqULzNYusBGSB54t7HJfWmjvUQvfUAHh8ucuoE5c5oLDnXPDjl

……………………………………………….

แสดงความหวังไว้ว่า จะมีผู้สนใจช่วยกันสืบหาความหมายและที่มาของชื่อนางสงกรานต์ 

แต่จนบัดนี้ก็ยังไม่ทราบว่ามีท่านผู้ใด-โดยเฉพาะนักเรียนบาลี-ได้สืบค้นจนได้ความเป็นที่แน่นอนไว้ ณ ที่ใดบ้างแล้วหรือไม่

ที่นำคำว่า “กิมิทาเทวี” มาเขียนเป็นต่างหากอีกคำหนึ่งก็ด้วยประสงค์จะกระตุ้นเตือนให้ชาวเรามีใจใฝ่รู้ใฝ่เรียนใฝ่ศึกษาค้นคว้ากันให้มากขึ้น ท่านผู้อื่นไม่จำต้องเห็นด้วยกับที่ไปที่มาของชื่อตามที่แสดงไว้นี้ แต่น่าจะช่วยกันศึกษาสืบค้นกันต่อไป

วัฒนธรรม ประเพณี วิถีชีวิต เรื่องราวของเราเองแท้ๆ ถ้าเราไม่รักเรียนรักรู้ แล้วจะหวังให้ใครเล่าเขามารักเรานับถือเรา?

แถม :

นางสงกรานต์มี 7 นางตามวันทั้ง 7 (อาทิตย์ จันทร์ …)

วันมหาสงกรานต์ปีไหนตรงกับวันอะไร นางนั้นก็เป็น “นางสงกรานต์” สำหรับปีนั้น

(๑) วันอาทิตย์เป็นวันมหาสงกรานต์

นางสงกรานต์ชื่อ “ทุงษเทวี

(๒) วันจันทร์เป็นวันมหาสงกรานต์ 

นางสงกรานต์ชื่อ “โคราคเทวี” 

(๓) วันอังคารเป็นวันมหาสงกรานต์ 

นางสงกรานต์ชื่อ “รากษสเทวี” 

(๔) วันพุธเป็นวันมหาสงกรานต์ 

นางสงกรานต์ชื่อ “มัณฑาเทวี” 

(๕) วันพฤหัสบดีเป็นวันมหาสงกรานต์ 

นางสงกรานต์ชื่อ “กิริณีเทวี” 

(๖) วันศุกร์เป็นวันมหาสงกรานต์ 

นางสงกรานต์ชื่อ “กิมิทาเทวี” 

(๗) วันเสาร์เป็นวันมหาสงกรานต์ 

นางสงกรานต์ชื่อ “มโหทรเทวี” 

ปี 2566 วันมหาสงกรานต์ คือวันที่ 14 เมษายนเป็นวันศุกร์

นางสงกรานต์ปี 2566 จึงชื่อ “กิมิทาเทวี” 

…………..

ดูก่อนภราดา!

: เราจะเรียนรู้เรื่องของเราเองให้จริงจัง

: ฤๅจะรอให้ฝรั่งมาสอนวัฒนธรรมไทย

#บาลีวันละคำ (3,957)

13-4-66 

…………………………….

ดูโพสต์ในเฟซบุ๊กของครูทองย้อย

…………………………….

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องข้อมูลจำเป็นถูกทำเครื่องหมาย *