บทความเกี่ยวกับศาสนา-ภาษา-สังคม

คูถภาณี

คูถภาณี

——–

คำนี้แปลตรงตัวว่า “พูดเหมือนขี้” หมายถึงคำพูดของเขาเปรียบเหมือนขี้ ในภาษาไทยมักเข้าใจกันว่า คนปากเสีย พูดไม่เข้าหูคน เรียกเทียบคำบาลีว่า “ปากเหม็น” หรือ “ปากเสีย

พจนานุกรมบาลี-อังกฤษ แปล “คูถภาณี” ว่า of foul speech (ผู้พูดคำหยาบ) 

พูดอย่างไรเรียกว่า “คูถภาณี”?

ในพระไตรปิฎก มีพระสูตรหนึ่งชื่อ “คูถภาณีสูตร” คัมภีร์ติกนิบาต อังคุตรนิกาย เป็นคำตรัสของพระพุทธเจ้า ขออัญเชิญมาทั้งคำบาลีและคำแปลเพื่อเจริญปัญญา ดังนี้ –

………………………………………..

กตโม  จ  ภิกฺขเว  ปุคฺคโล  คูถภาณี 

คูถภาณีคือบุคคลเช่นไร?

อิธ  ภิกฺขเว  เอกจฺโจ  ปุคฺคโล  

ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย บุคคลลางคนในโลกนี้ 

สภาคโต  วา 

เข้าสภาก็ดี 

ปริสคโต  วา 

เข้าชุมนุมชนก็ดี 

ญาติมชฺฌคโต  วา 

เข้าหมู่ญาติก็ดี 

ปูคมชฺฌคโต  วา 

เข้าหมู่ข้าราชการก็ดี 

ราชกุลมชฺฌคโต  วา 

เข้าหมู่เจ้าก็ดี 

อภินีโต  สกฺขิ  ปุฏฺโฐ 

ถูกนำตัวไปซักถามเป็นพยานว่า —

เอหมฺโภ  ปุริส  ยํ  ชานาสิ  ตํ  วเทหีติ  

เอาละท่านผู้เจริญ ท่านรู้อันใด จงบอกอันนั้น 

โส  อชานํ  วา  อาห  ชานามีติ  

บุคคลนั้น ไม่รู้ บอกว่ารู้บ้าง 

ชานํ  วา  อาห  น  ชานามีติ 

รู้ บอกว่าไม่รู้บ้าง 

อปสฺสํ  วา  อาห  ปสฺสามีติ 

ไม่เห็น บอกว่าเห็นบ้าง 

ปสฺสํ  วา  อาห  น  ปสฺสามีติ 

เห็น บอกว่าไม่เห็นบ้าง 

สมฺปชานมุสาภาสิตา  โหติ 

เป็นผู้กล่าวเท็จทั้งรู้ 

อตฺตเหตุ  วา 

เพราะเห็นแก่ตนบ้าง 

ปรเหตุ  วา 

เพราะเห็นแก่คนอื่นบ้าง 

อามิสกิญฺจิกฺขเหตุ  วา 

เพราะเห็นแก่ลาภผลเล็กน้อยบ้าง 

อยํ  วุจฺจติ  ภิกฺขเว  ปุคฺคโล  คูถภาณี.

บุคคลเช่นนี้แหละภิกษุทั้งหลาย เราเรียกว่าคูถภาณี

ที่มา: ติกนิบาต อังคุตรนิกาย

พระไตรปิฎกเล่ม ๒๐ ข้อ ๔๖๗

………………………………………..

อรรถกถาขยายความไว้ว่า –

………………………………………..

อยํ  เอวรูโป  ปุคฺคโล  คูถสทิสวจนตฺตา  คูถภาณีติ  วุจฺจติ  ฯ

บุคคลเช่นนี้ท่านเรียกว่า คูถภาณี ผู้มีวาทะเหมือนคูถ เพราะมีวาจาเช่นกับอุจจาระ

ยถา  หิ  คูถนฺนาม  มหาชนสฺส  อนิฏฺฐํ  โหติ  อกนฺตํ  

เหมือนอย่างว่าคูถย่อมไม่เป็นที่พึงใจชอบใจของมหาชนฉันใด

เอวเมว  อิมสฺส  ปุคฺคลสฺส  วจนํ  เทวมนุสฺสานํ  อนิฏฺฐํ  โหติ  ฯ

คำพูดของบุคคลผู้กล่าวเท็จนี้ ก็ย่อมไม่เป็นที่พึงใจชอบใจของเทวดาและมนุษย์ทั้งหลายฉันนั้นเหมือนกัน

ที่มา: ปรมัตถทีปนี อรรถกถาปัญจปกรณ์ ตอนอธิบายปุคคลบัญญัติ หน้า ๙๔

………………………………………..

สรุปว่า คำเท็จ เหมือนคูถ

คนพูดเท็จ ท่านจึงเรียกว่า “คูถภาณี”

เรามักเข้าใจกันว่า “คูถภาณี” คือคนที่พูดจาไม่น่าฟัง พูดไม่เพราะ

คงต้องเข้าใจกันใหม่ 

พูดเพราะ แต่โกหกทั้งนั้น 

นั่นแหละ “คูถภาณี” เต็มๆ เลย

………………………………………..

การไม่รู้ความจริง เป็นเรื่องน่าเห็นใจ

แต่การเอาความไม่จริงมาพูด เป็นเรื่องน่ารังเกียจ

………………………………………..

พลเรือตรี ทองย้อย แสงสินชัย

๒๘ กุมภาพันธ์ ๒๕๖๕

๑๔:๓๖

………………………………………

คูถภาณี

ดูโพสต์ในเฟซบุ๊กของครูทองย้อย

………………………………………

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องข้อมูลจำเป็นถูกทำเครื่องหมาย *