แผ่เมตตาให้ถูกวิธี ตอนที่ ๑-เมตตา
แผ่เมตตาให้ถูกวิธี ตอนที่ ๑-เมตตา
———————————–
คนไทยรู้จักคำว่า “แผ่เมตตา” กันทั่วไป แต่ส่วนมากแผ่เมตตาไม่ถูกวิธี เรื่องที่จะเขียนต่อไปนี้เป็นความพยายามที่จะชวนให้แผ่เมตตาอย่างถูกวิธี
เบื้องต้นพึงทราบก่อนว่า ที่เรียกกันว่า “แผ่เมตตา” นั้น ภาษาธรรมะท่านเรียกว่า “พรหมวิหารภาวนา” มีความหมายว่า การอบรมพรหมวิหารธรรมให้เจริญขึ้นในจิตใจ
ธรรมที่เรียกว่า “พรหมวิหาร” มี ๔ ข้อ คือ เมตตา กรุณา มุทิตา อุเบกขา เป็นธรรมที่แสดงออกโดยบุคลาธิษฐานเป็น “พรหมสี่หน้า” ที่คนไทยคุ้นกันดี เอ่ยขึ้นมาว่า เมตตา คำเดียว ก็นึกถึงอีก ๓ คำได้ด้วย
ในที่นี้ใช้ชื่อเรื่องว่า “แผ่เมตตาให้ถูกวิธี” จึงพึงทราบว่ามีความหมายรวมไปถึงแผ่กรุณา แผ่มุทิตา และแผ่อุเบกขาด้วย แต่ใช้คำว่า แผ่เมตตา เป็นคำนำ ละกรุณา มุทิตา อุเบกขา ไว้ในฐานเข้าใจ
แต่ตรงนี้ก็เป็นจุดอ่อนอีกจุดหนึ่ง คือเรามักจะนึกถึงแต่เรื่องแผ่เมตตาเรื่องเดียว คือแผ่กันเฉพาะเมตตา แทบจะไม่รู้จักแผ่กรุณา แผ่มุทิตา และแผ่อุเบกขา เพราะฉะนั้น จะแผ่เมตตาให้ถูกวิธีจึงต้องปรับความเข้าใจไปตั้งแต่ต้นก่อนว่า เรื่องแผ่เมตตาไม่ได้มีแต่เมตตาข้อเดียว แต่ยังมีกรุณา มุทิตา อุเบกขาอีกด้วย จึงควรมีความรู้เข้าใจให้ตลอดทั่วทุกข้อ และเมื่อไรเวลาไหนที่ควรแผ่ข้อไหน ก็ยกข้อนั้นขึ้นมาแผ่ ไม่ใช่ว่าเรื่องอะไรๆ ก็แผ่เมตตาอยู่ท่าเดียว หรือแผ่คลุมไปหมด ต้องเลือกแผ่ให้ถูก ดังนี้ จึงจะได้ชื่อว่าแผ่เมตตาถูกวิธี
อนึ่ง มีบางท่านแสดงหลักวิชาว่า ผู้ที่จะแผ่เมตตาได้ต้องมีจิตถึงระดับได้ฌานได้สมาบัติ หมายความว่าคนที่ไม่มีฌานไม่ได้สมาบัติแผ่เมตตาไม่ได้
พึงทราบว่า นั่นก็เป็นหลักวิชาตามที่ท่านยกมาอ้าง เรื่องแผ่เมตตาให้ถูกวิธีที่กำลังพูดอยู่นี้มีขอบเขตอยู่เพียงแค่การวางใจหรือการตั้งอารมณ์ต่อเพื่อนร่วมโลกเท่านั้น หมายความว่าเมื่อเราประสบพบเห็นเหตุการณ์อย่างใดอย่างหนึ่งที่เกิดขึ้นแก่เพื่อนร่วมโลก เราควรตั้งอารมณ์อย่างไรจึงจะถูกทางถูกวิธี การตั้งอารมณ์ดังว่านี้คนธรรมดาสามัญ แม้ไม่ได้ปฏิบัติจิตภาวนาจนถึงระดับได้ฌานได้สมาบัติก็สามารถทำได้ และควรทำให้ถูกวิธี
เมื่อเข้าใจดังนี้แล้ว ต่อไปก็มาเข้าเรื่อง
ทำความเข้าใจเป็นพื้นฐานก่อนว่า การแผ่เมตตาก็คือการตั้งอารมณ์ไปยังเพื่อนร่วมโลก
คำว่า “เพื่อนร่วมโลก” หมายถึงสรรพชีพ ที่ท่านใช้คำรวมว่า “สัพเพ สัตตา” แปลตามตัวว่า “สัตว์ทั้งหลายทั้งปวง” และเรานิยมเติมคำขยายเข้าไปด้วยว่า “ที่เป็นเพื่อนทุกข์ เกิด แก่ เจ็บ ตาย”
คำเต็มๆ ว่า – “สัตว์ทั้งหลายที่เป็นเพื่อนทุกข์ เกิด แก่ เจ็บ ตาย ด้วยกันทั้งหมดทั้งสิ้น”
ไม่ว่าจะมนุษย์ด้วยกัน หรือสัตว์เล็กสัตว์น้อย หรือแม้แต่ชีวิตที่มีอยู่ในมิติใดๆ รวมอยู่ในความหมาย “สัพเพ สัตตา” นี้ทั้งหมด
นี่คือพื้นที่ปฏิบัติการของการแผ่เมตตา
ถามว่า แผ่เมตตาไปที่ไหน
ตอบว่า แผ่เมตตาไปยัง “สัพเพ สัตตา” ดังที่ว่ามานี้
ความเป็นไปของ “สัพเพ สัตตา” หรือเพื่อนร่วมโลก เมื่อประมวลแล้วก็มีอยู่ ๔ ลักษณะ คือ –
๑ เป็นปกติ
๒ เป็นทุกข์
๓ เป็นสุข
๔ เป็นไปตามสภาวะ
ต่อไปนี้ก็มาถึงขั้นปฏิบัติการ —
…………………..
๑ แผ่เมตตา
แผ่เมตตาข้อแรกนี้ หมายถึง “เมตตา” อันเป็นพรหมวิหารธรรมข้อที่ ๑
“เมตฺตา” แปลว่า “ธรรมชาติที่รักใคร่” “ธรรมชาติที่มีอยู่ในมิตร” หรือ “ธรรมชาติของมิตร” หมายถึง ความรัก, ความเป็นเพื่อน, ความเห็นอกเห็นใจกัน, ความเป็นมิตร, การเอาใจใส่ช่วยเหลือผู้อื่น (love, amity, sympathy, friendliness, active interest in others)
ท่านให้แผ่เมตตาเมื่อเห็นเพื่อนร่วมโลกดำรงอยู่ในสภาพปกติ
ถ้าเป็นมนุษย์ มนุษย์ผู้นั้นก็สามารถยืน เดิน นั่ง นอน กิน ดื่ม ทำ พูด คิด ในชีวิตประจำวันได้ตามปกติธรรมดาของเขา เพื่อนร่วมโลกชนิดอื่นๆ ก็ใช้เกณฑ์เดียวกันนี้เทียบเคียงดู
เมื่อเห็นเขาอยู่ในสภาพปกติ เราก็แผ่เมตตาด้วยวิธีตั้งอารมณ์ต่อเขาให้เป็นปกติธรรมดา คือไม่ต้องเข้าไปคิดยุ่มย่ามอะไรในชีวิตของเขา เพราะเขาอยู่เป็นปกติของเขาอยู่แล้ว จึงไม่จำเป็นต้องเข้าไปทำอะไรกับเขา คงทำในระดับตั้งความปรารถนาดีขอให้เขาเป็นปกติสุขตลอดไป – นี่คือเหตุผลที่ท่านให้ใช้วิธีแผ่เมตตาข้อแรก – “แผ่เมตตา”
อย่างไรก็ตาม เพื่อให้มีรูปแบบหรือเป็นการปฏิบัติให้เป็นรูปธรรม ท่านจึงได้กำหนดให้มีคำกล่าวแผ่เมตตาไว้ด้วย
คำ “แผ่เมตตา” มีคำบาลีที่กำหนดไว้ดังนี้ –
…………..
สพฺเพ สตฺตา
อเวรา โหนตุ
อพฺยาปชฺฌา โหนฺตุ
อนีฆา โหนฺตุ
สุขี อตฺตานํ ปริหรนฺตุ
…………..
เขียนแบบคำอ่านเป็นดังนี้ –
…………..
สัพเพ สัตตา
อะเวรา โหนตุ
อัพ๎ยาปัชฌา โหนตุ
อะนีฆา โหนตุ
สุขี อัตตานัง ปะริหะรันตุ.
…………..
คำบาลีสลับคำแปลที่นิยมแปลกันเป็นดังนี้ –
……………
สัพเพ สัตตา = สัตว์ทั้งหลายที่เป็นเพื่อนทุกข์เกิดแก่เจ็บตายด้วยกันหมดทั้งสิ้น
อะเวรา โหนตุ = จงเป็นสุขเป็นสุขเถิด อย่าได้มีเวรแก่กันและกันเลย
อัพ๎ยาปัชฌา โหนตุ = อย่าได้พยาบาทเบียดเบียนซึ่งกันและกันเลย
อะนีฆา โหนตุ = อย่าได้มีความทุกข์กายทุกข์ใจเลย
สุขี อัตตานัง ปะริหะรันตุ. = จงมีความสุขกายสุขใจ รักษาตนให้พ้นจากทุกข์ภัยด้วยกันทั้งหมดทั้งสิ้นเถิด
…………………..
เมื่อเห็นเพื่อนร่วมโลกมีชีวิตอยู่เป็นปกติ เราก็ตั้งอารมณ์ต่อเขาดังว่ามานี้
อุปสรรคที่ทำให้แผ่ “เมตตา” ได้ไม่เต็มที่หรือแผ่ได้ยากก็คือ “พยาบาท” คือความคิดขุ่นข้องแค้นเคืองที่มีต่อเพื่อนร่วมโลกจะด้วยสาเหตุใดๆ ก็ตาม ทำให้เห็นใครอยู่เย็นเป็นปกติสุขแล้วทนไม่ได้ อยากให้มันผู้นั้นมีอันวินาศวิบัติฉิบหายไป
ในคำแผ่เมตตาข้อที่ ๑ นี้จึงมีถ้อยคำที่แสดงความปรารถนาดีต่อเพื่อนร่วมโลกว่า – อย่ามีเวรมีภัยต่อกัน อย่าเบียดเบียนกัน อย่ามีความทุกข์กายทุกข์ใจ ขอให้รักษาตนให้มีความสุขเถิด – ซึ่งล้วนแต่เป็นวิธีคิดเพื่อละลายความพยาบาททั้งสิ้น
ตั้งอารมณ์ได้ดังนี้ คือแผ่เมตตาข้อที่ ๑ อย่างถูกวิธี
…………………..
มีความในใจแถมท้ายเล็กน้อย
เคยเห็นมีผู้เอาคำแผ่เมตตาข้อที่ ๑ นี้ ไปพูดล้อเลียนกระเดียดไปในเรื่องรักๆ ใคร่ๆ เช่น –
“จงเป็นสุขเป็นสุขเถิด”
เอาไปล้อว่า “จงเป็นโสดเป็นโสดเถิด”
“อย่าได้มีความทุกข์กายทุกข์ใจเลย”
เอาไปล้อว่า “อย่าได้เป็นตุ๊ดกายตุ๊ดใจเลย”
นี่แสดงว่า คนที่คิดคำล้อเลียนนี้มีความรู้ทางภาษาไทยอยู่ในเกณฑ์ดีมากๆ
น่าเสียดายที่ใช้ความรู้ไปในทางคะนอง ไม่ได้สร้างสรรค์สิ่งที่เป็นสาระ
น่าสังเกตว่า มีแต่พระพุทธศาสนาเท่านั้นที่คนประเภทนี้กล้าเอาไปล้อเล่น เพราะรู้ว่าพระพุทธศาสนาไม่กล้าทำอะไรเขาได้
อันที่จริงคือ พระพุทธศาสนาสอนว่า อย่าไปทำอะไรเขา นั่นไม่ได้แปลว่าไม่กล้าทำหรือไม่สามารถจะทำอะไรได้
ที่ผมอยากพูดเป็นคำหนักก็คือ การเอาไปล้อเล่นเช่นนี้เป็นการกระทำที่ขี้ขลาดอย่างยิ่ง พิสูจน์ได้จากการที่คนประเภทนี้ไม่เคยเอาอะไรๆ ของศาสนาอื่น-โดยเฉพาะศาสนาอิสลาม-ขึ้นมาล้อเลียน
ถ้าเขากล้าจริง ก็จงเอานามพระอัลเลาะห์หรือคำสอนอะไรสักอย่างในศาสนาอิสลามขึ้นมาล้อเลียน-เหมือนกับที่ล้อเลียนพระพุทธศาสนา-ดูเถิด
เขาไม่กล้ำทำ เพราะรู้ดีว่า นั่นหมายถึงอันตราย อาจถึงตายได้ นี่แหละที่ผมว่า “ขี้ขลาดอย่างยิ่ง”
ไม่นับถือ ไม่ยกย่องก็ไม่ว่า
แต่ขออย่าเหยียบย่ำกันเลย
ไม่ต้องเอาพระพุทธศาสนามาเล่น
ก็ยังหาของเล่นอื่นๆ ได้อีกเป็นอเนกอนันต์
ใช้ความฉลาดไปในทางสร้างสรรค์ ประเสริฐกว่า
……………………………………..
ตอนต่อไป:
แผ่เมตตาให้ถูกวิธี ตอนที่ ๒-กรุณา
……………………………………..
พลเรือตรี ทองย้อย แสงสินชัย
๑๖ เมษายน ๒๕๖๕
๑๓:๔๙
……………………………………….
ภาพประกอบ: จาก google
……………………………………….
แผ่เมตตาให้ถูกวิธี ตอนที่ ๒-กรุณา
……………………………………….
แผ่เมตตาให้ถูกวิธี ตอนที่ ๑-เมตตา
……………………………………….
ภาพประกอบ: จาก google
……………………………………….
คำบรรยายภาพที่ ๒
สุวรรณสามชาดก ชาติที่ ๓ บำเพ็ญเมตตาบารมี ช่างบ้านๆ เขียนถวายวัดกระทงลอย จ.สระบุรี ในวันสงกรานต์ปี ๒๕๖๔
จากเฟซบุ๊กของ “คนเขียนรูป” โพสต์เมื่อ ๒๘ มีนาคม ๒๕๖๔