บาลีวันละคำ

ธาตุอันตรธาน (บาลีวันละคำ 3,604)

ธาตุอันตรธาน

อันตรธานที่ 5-พระธาตุสูญ

อ่านตามหลักภาษาว่า ทา-ตุ-อัน-ตะ-ระ-ทาน

หรือ ทาด-ตุ-อัน-ตะ-ระ-ทาน

อ่านตามสะดวกปากว่า ทาด-อัน-ตะ-ระ-ทาน

(ไม่สนับสนุนให้อ่านแบบนี้)

…………..

ธาตุอันตรธาน” เป็น 1 ในอันตรธาน 5 คือ (1) อธิคมอันตรธาน (2) ปฏิปัตติอันตรธาน (3) ปริยัตติอันตรธาน (4) ลิงคอันตรธาน (5) ธาตุอันตรธาน 

…………..

ธาตุอันตรธาน” ประกอบด้วยคำว่า ธาตุ + อันตรธาน

(๑) “ธาตุ

บาลีอ่านว่า ทา-ตุ รากศัพท์มาจาก ธา (ธาตุ = ทรงไว้) + ตุ ปัจจัย อีกนัยหนึ่งว่ามาจาก ธรฺ (ธาตุ = ทรงไว้) + ตุ ปัจจัย, ลบ รฺ ที่สุดธาตุ, ทีฆะ อะ ที่ -(รฺ) เป็น อา (ธรฺ > ธาร

: ธา + ตุ = ธาตุ

: ธรฺ > + ตุ = ธตุ > ธาตุ

ธาตุ” (อิตถีลิงค์) แปลตามศัพท์ว่า –

(๑) “อวัยวะที่ทรงร่างไว้” หมายถึง กระดูก, อัฐิ

(๒) (1) “สิ่งที่คงสภาพของตนไว้” (2) “สิ่งที่ทรงไว้ซึ่งมูลค่า” (3) “สิ่งที่ทรงประโยชน์ของตนไว้บ้าง ของผู้อื่นไว้บ้าง” หมายถึง ธาตุ, แร่ธาตุ

(๓) (1) “อักษรที่ทรงไว้ซึ่งเนื้อความพิเศษ” (2) “อักษรอันเหล่าบัณฑิตทรงจำกันไว้” หมายถึง รากศัพท์

พจนานุกรมบาลี-อังกฤษ แสดงความหมายของ “ธาตุ” ไว้ดังนี้

(1) a primary element, of which the usual set comprises the four : earth, water, fire, wind (ปฐมธาตุ, คือธาตุซึ่งมีอยู่ด้วยกัน 4 อย่าง คือ ดิน น้ำ ไฟ ลม)

(2) natural condition, property, disposition; factor, item, principle, form (ภาวะตามธรรมชาติ, คุณสมบัติ, อุปนิสัย, ปัจจัย, หัวข้อ, หลัก, รูป)

(3) elements in sense-consciousness: referring to the 6 ajjhattikāni & 6 bāhirāni āyatanāni (ธาตุเกี่ยวกับความรู้สึก เกี่ยวถึงอายตนะภายใน 6 และภายนอกอีก 6)

(4) a humour or affection of the body (อารมณ์ หรืออาการของกาย)

(5) the remains of the body after cremation (ส่วนที่เหลือของร่างเมื่อเผาศพแล้ว)

พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2554 บอกความหมายของคำว่า “ธาตุ” ในภาษาไทยไว้ว่า –

(1) สิ่งที่ถือว่าเป็นส่วนสําคัญที่คุมกันเป็นร่างของสิ่งทั้งหลาย โดยทั่ว ๆ ไปเชื่อว่ามี ๔ ธาตุ ได้แก่ ธาตุดิน ธาตุนํ้า ธาตุไฟ ธาตุลม แต่ก็อาจมีธาตุอื่น ๆ อีก เช่น อากาศธาตุ วิญญาณธาตุ ธาตุไม้ ธาตุทอง ธาตุเหล็ก. 

(2) กระดูกของพระพุทธเจ้า พระปัจเจกพุทธเจ้า และพระอรหันต์ โดยทั่ว ๆ ไปเรียกรวม ๆ ว่า พระธาตุ, ถ้าเป็นกระดูกของพระพุทธเจ้า เรียก พระบรมธาตุ หรือ พระบรมสารีริกธาตุ, ถ้าเป็นกระดูกของพระอรหันต์ เรียกว่า พระธาตุ, ถ้าเป็นกระดูกส่วนใดส่วนหนึ่งของพระพุทธเจ้า ก็เรียกตามความหมายของคํานั้น ๆ เช่น พระอุรังคธาตุ พระทันตธาตุ, ถ้าเป็นผมของพระพุทธเจ้า เรียกว่า พระเกศธาตุ.

(3) ชื่อคัมภีร์ในพระพุทธศาสนาซึ่งว่าด้วยธาตุ เช่น ธาตุกถา ธาตุปาฐ.

(4) (ภาษาถิ่น-อีสาน) เจดีย์ที่บรรจุกระดูกคนที่เผาแล้ว. 

(5) สารเนื้อเดียวล้วนซึ่งประกอบด้วยบรรดาอะตอมที่มีโปรตอนจํานวนเดียวกันในนิวเคลียส. 

(6) รากศัพท์ของคําบาลีสันสกฤตเป็นต้น เช่น ธาตุ มาจาก ธา ธาตุ สาวก มาจาก สุ ธาตุ กริยา มาจาก กฺฤ ธาตุ.

ในที่นี้ “ธาตุ” หมายถึง กระดูกของพระพุทธเจ้า ที่เรียก พระบรมธาตุ หรือ พระบรมสารีริกธาตุ หรือที่พจนานุกรมบาลี-อังกฤษ บอกความหมายว่า the remains of the body after cremation (ส่วนที่เหลือของร่างเมื่อเผาศพแล้ว)

(๒) “อันตรธาน” 

เขียนแบบบาลีเป็น “อนฺตรธาน” อ่านว่า อัน-ตะ-ระ-ทา-นะ ประกอบด้วย อนฺตร + ธาน

(ก) “อนฺตร” บาลีอ่านว่า อัน-ตะ-ระ รากศัพท์มาจาก อติ (ธาตุ = ผูก) + อร ปัจจัย, ลบสระที่สุดธาตุ (อติ > อต), ลงนิคหิตอาคมต้นธาตุแล้วแปลงเป็น (อติ > อํติ > อนฺติ

: อติ > อํติ > อนฺติ > อนฺต + อร = อนฺตร แปลตามศัพท์ว่า “จุดที่ผูกสองข้างไว้” คือ มีข้างหนึ่ง แล้วก็มีอีกข้างหนึ่ง จากข้างหนึ่งไปถึงอีกข้างหนึ่งนี้แหละมีสิ่งหนึ่งผูกเอาไว้ สิ่งนั้นเรียกว่า “อนฺตร” = ระหว่างสิ่งหนึ่งกับอีกสิ่งหนึ่ง หมายถึง ภายใน, ระหว่าง, ช่องวางระหว่าง (inside, in between, a space between)

(ข) “ธาน” บาลีอ่านว่า ทา-นะ รากศัพท์มาจาก ธา (ธาตุ = ทรงไว้, ปิดกั้น) + ยุ ปัจจัย, แปลง ยุ เป็น อน (อะ-นะ) 

: ธา + ยุ > อน = ธาน แปลตามศัพท์ว่า “การทรงไว้” “การปิดกั้น”หมายถึง ทรงไว้, ถือไว้, บรรจุไว้ (holding, containing) ถ้าเป็นคำนาม หมายถึง ภาชนะที่รองรับ, กระปุก (a receptacle) 

อนฺตร + ธาน = อนฺตรธาน แปลตามศัพท์ว่า “สิ่งที่ทรงอยู่ในระหว่าง” (คือเข้ามาปิดกั้นไว้ทำให้มองไม่เห็น) หมายถึง การหาย หรือสูญหายไป (disappearance)

อนฺตรธาน” ในภาษาไทยเขียน “อันตรธาน” 

โปรดสังเกตและระวัง “-ธาน หนู สะกด ไม่ใช่ “-ธาร” ร เรือ

พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2554 บอกไว้ว่า –

อันตรธาน : (คำกริยา) สูญหายไป, ลับไป. (ป., ส.).”

ธาตุ + อนฺตรธาน = ธาตุอนฺตรธาน บาลีอ่านว่า ทา-ตุ-อัน-ตะ-ระ-ทา-นะ แปลว่า “การสูญหายไปแห่งพระธาตุ” หมายถึง พระบรมสารีริกธาตุบรรดามีในโลกนี้จะหายสูญสิ้นไป

ขยายความ :

ท่านว่า พระพุทธศาสนาของเรานี้ เมื่อกาลเวลาล่วงไปก็จะเกิดอันตรธาน คือเสื่อมสูญไปตามลำดับ กล่าวคือ (1) อธิคมอันตรธาน (2) ปฏิปัตติอันตรธาน (3) ปริยัตติอันตรธาน (4) ลิงคอันตรธาน (5) ธาตุอันตรธาน 

ธาตุอันตรธาน” หรือ “การสูญหายไปแห่งพระธาตุ” ซึ่งหมายถึงพระบรมสารีริกธาตุ คัมภีร์อรรถกถาบรรยายไว้ดังนี้ –

…………..

ธาตุอนฺตรธานํ  นาม  เอวํ  เวทิตพฺพํ

ชื่อว่าธาตุอันตรธานพึงทราบดังจะกล่าวต่อไปนี้:- 

ตีณิ  ปรินิพฺพานานิ  กิเลสปรินิพฺพานํ  ขนฺธปรินิพฺพานํ  ธาตุปรินิพฺพานนฺติ  ฯ

ปรินิพพานคือการดับสนิทมี 3 อย่าง คือ กิเลสปรินิพพาน การดับสนิทแห่งกิเลส, ขันธปรินิพพาน การดับสนิทแห่งขันธ์, ธาตุปรินิพพาน การดับสนิทแห่งพระธาตุ

ตตฺถ  กิเลสปรินิพฺพานํ  โพธิปลฺลงฺเก  อโหสิ

บรรดาปรินิพพาน 3 อย่างนั้น กิเลสปรินิพพานได้มีที่โพธิบัลลังก์ (อันเป็นสถานที่ตรัสรู้ดับกิเลสได้สิ้นเชิง)

ขนฺธปรินิพฺพานํ  นาม  กุสินารายํ

ขันธปรินิพพานได้มีที่กรุงกุสินารา (อันเป็นนครที่เสด็จไปดับขันธปรินิพพาน)

ธาตุปรินิพฺพานํ  อนาคเต  ภวิสฺสติ  ฯ

ธาตุปรินิพพานจักมีในอนาคต (คือที่จักบรรยายต่อไปนี้)

กถํ  ฯ

จักมีอย่างไร? 

ตโต  ตตฺถ  ตตฺถ  สกฺการสมฺมานํ  อลภมานา  ธาตุโย  พุทฺธานํ  อธิฏฺฐานพเลน  สกฺการสมฺมานลภนกฏฺฐานํ  คจฺฉนฺติ  ฯ

คือครั้งนั้น พระธาตุทั้งหลายเมื่อไม่ได้รับสักการะและสัมมานะในที่นั้นๆ ก็จะเสด็จไปสู่ที่ที่มีสักการะและสัมมานะ ทั้งนี้เป็นด้วยกำลังอธิษฐานของพระพุทธเจ้าทั้งหลาย (ไม่ใช่เฉพาะพระพุทธเจ้าของเราพระองค์นี้ แต่พระพุทธเจ้าทุกพระองค์ในอดีตก็ทรงอธิษฐานเช่นนี้-คืออธิษฐานให้พระธาตุเสด็จไปสถิตยังสถานที่ซึ่งมีผู้เคารพนับถือ)

คจฺฉนฺเต  คจฺฉนฺเต  กาเล  สพฺพฏฺฐาเนสุ  สกฺการสมฺมาโน  น  โหติ  ฯ

เมื่อกาลล่วงไปๆ สักการะและสัมมานะก็ไม่มีในที่ทั้งปวง (คือถิ่นที่อันจะมีผู้นับถือพระพุทธศาสนามิได้มีอีกแล้ว)

สาสนสฺส  โอสกฺกมนกาเล  อิมสฺมึ  ตามฺพปณฺณิทีเป  ธาตุโย  สนฺนิปติตฺวา  มหาเจติยํ  คมิสฺสนฺติ …

คราเมื่อพระศาสนาเรียวลง พระธาตุทั้งหลายในตามพปัณณิทวีป (คือเกาะลังกา) นี้ จักมารวมกันแล้วเสด็จไปสู่มหาเจดีย์ 

มหาเจติยโต  นาคทีปเจติยํ

จากมหาเจดีย์สู่นาคเจดีย์

(เข้าใจว่าเป็นชื่อสถานที่ในเกาะลังกา ท่านระบุไว้พอเป็นตัวอย่าง)

ตโต  โพธิปลฺลงฺกํ  คมิสฺสนฺติ  ฯ

แต่นั้น จักเสด็จไปสู่โพธิบัลลังก์ (คือสถานที่ตรัสรู้ในชมพูทวีป)

นาคภวนโตปิ  เทวโลกโตปิ  พฺรหฺมโลกโตปิ  ธาตุโย  โพธิปลฺลงฺกเมว  คมิสฺสนฺติ  ฯ

พระธาตุทั้งหลายจากนาคพิภพบ้าง จากเทวโลกบ้าง จากพรหมโลกบ้าง จักเสด็จไปรวมกันที่โพธิบัลลังก์

สาสปมตฺตาปิ  ธาตุ  น  อนฺตรา  นสฺสิสฺสติ  ฯ

พระธาตุแม้ประมาณเท่าเมล็ดพันธุ์ผักกาดจักไม่หายไปในระหว่าง

(หมายความว่า พระบรมสารีริกธาตุที่เหลืออยู่ในวันถวายพระเพลิงและได้แจกจ่ายไปประดิษฐานตามที่ต่างๆ ทุกแห่งจนถึงทุกวันนี้ จะเสด็จไปรวมกันที่โพธิบัลลังก์ไม่ขาดหายไปเลยแม้แต่องค์เดียว)

สพฺพา  ธาตุโย  มหาโพธิมณฺเฑ  สนฺนิปติตฺวา  พุทฺธรูปํ  คเหตฺวา  โพธิมณฺเฑ  ปลฺลงฺเกน  นิสินฺนํ  พุทฺธสรีรํ  ทสฺเสนฺติ  ฯ

พระธาตุทั้งหมดเสด็จไปรวมกันที่มหาโพธิมัณฑสถานแล้วประกอบรูปขึ้นเป็นองค์พระ แสดงพระพุทธสรีระประทับนั่งขัดสมาธิ ณ โพธิมัณฑสถาน

ทฺวตฺตึสมหาปุริสลกฺขณานิ  อสีตฺยานุพฺยญฺชนานิ  พฺยามปฺปภาติ  สพฺพํ  ปริปุณฺณเมว  โหติ  ฯ

อันว่ามหาปุริสลักษณะ 32 ประการ อนุพยัญชนะ 80 พระรัศมีประมาณวาหนึ่ง ทั้งหมดมีครบบริบูรณ์เหมือนเดิม

ตโต  ยมกปาฏิหาริยทิวเส  วิย  ปาฏิหาริยํ  กตฺวา  ทสฺเสนฺติ  ฯ

แต่นั้น ก็ทรงแสดงปาฏิหาริย์ให้ปรากฏดุจเดียวกับวันที่แสดงยมกปาฏิหาริย์

ตํ  ฐานํ  มนุสฺสภูตสตฺโต  นาม  ตตฺถ  คโต  นตฺถิ

ในกาลนั้น ผู้ได้นามว่าเป็นมนุษย์ที่จะได้ไปดูรู้เห็นอยู่ในที่นั้นบ่มิได้มี (น่าจะหมายความว่า ในบัดนั้น “คน” ที่รู้จักนับถือพระพุทธศาสนามิได้มีอยู่ในโลกนี้อีกเลย)

ทสสหสฺสจกฺกวาเฬ  ปน  เทวตา  สพฺพาว  สนฺติปติตฺวา  อชฺช  ทสพโล  ปรินิพฺพายติ  อิโตทานิ  ปฏฺฐาย  อนฺธการํ  ภวิสฺสตีติ  ปริเทวนฺติ  ฯ

มีแต่เทพยดาในหมื่นจักรวาลมาประชุมกันทั้งหมด พากันครวญคร่ำกำสรดรำพันว่า วันนี้พระทศพลจะปรินิพพาน โลกจักมืดมนอนธการจำเดิมแต่บัดนี้ไป

อถ  ธาตุสรีรโต  เตโช  สมุฏฺฐาย  ตํ  สรีรํ  อปณฺณตฺติกภาวํ  คเมติ  ฯ

ลำดับนั้น เตโชธาตุก็ลุกโพลงขึ้นจากพระสรีรธาตุ เผาผลาญพระสรีระนั้นจนสิ้นร่องรอย

ธาตุสรีรโต  สมุฏฺฐิตา  ชาลา  ยาว  พฺรหฺมโลกา  อุคฺคจฺฉนฺติ

เปลวเพลิงที่โพลงขึ้นจากพระสรีรธาตุพลุ่งขึ้นจนถึงพรหมโลก

สาสปมตฺตายปิ  ธาตุยา  สติ  เอกชาลาว  ภวิสฺสติ  ฯ

พระธาตุแม้เพียงเท่าเมล็ดพันธุ์ผักกาดยังเหลืออยู่ เพลิงก็จักยังมีอยู่เปลวหนึ่ง

ธาตูสุ  ปริยาทานํ  คตาสุ  ปจฺฉิชฺชิสฺสติ  ฯ

เมื่อพระธาตุหมดสิ้นไปแล้ว เปลวเพลิงก็ขาดหายไปสิ้น

เอวํ  มหนฺตํ  อานุภาวํ  ทสฺเสตฺวา  ธาตุโย  อนฺตรธายนฺติ  ฯ

พระธาตุทั้งหลายแสดงมหานุภาพอย่างนี้แล้วก็อันตรธานสูญสิ้นไป

ตทา  เทวสงฺโฆ  พุทฺธานํ  ปรินิพฺพุตทิวเส  วิย  ทิพฺพคนฺธมาลาตุริยาทีหิ  สกฺการํ  กตฺวา …

คราวครั้งนั้น หมู่เทพยดากระทำสักการะด้วยทิพยสุคนธมาลาดุริยางค์เป็นอาทิ ดังที่ได้กระทำมาในวันที่พระพุทธเจ้าทั้งหลายปรินิพพาน 

ติกฺขตฺตุํ  ปทกฺขิณํ  กตฺวา  วนฺทิตฺวา  อนาคเต  อุปฺปชฺชนกพุทฺธํ  ปสฺสิตุํ  ลภิสฺสาม  ภควาติ  วตฺวา  สกสกฏฺฐานเมว  คจฺฉติ  ฯ

แล้วชวนกันกระทำประทักษิณ 3 วาระ ถวายอภิวาทแล้วกล่าวขึ้นว่า ข้าแต่พระผู้มีพระภาคเจ้า พวกข้าพระองค์จักได้รอเฝ้าพระพุทธเจ้าผู้จะเสด็จอุบัติขึ้นในอนาคต ดังนี้ แล้วก็กลับคืนสู่ทิพยสถานของตนๆ 

อิทํ  ธาตุอนฺตรธานํ  นาม.

นี้ชื่อว่า ธาตุอันตรธาน

ที่มา: มโนรถปูรณี อรรถกถาอังคุตรนิกาย ภาค 1 หน้า 121-123

…………..

พระบรมสารีริกธาตุเป็นสิ่งสุดท้ายที่ประกาศให้รู้ว่า โลกในยุคสมัยนี้เคยมีพระพุทธศาสนาประดิษฐานอยู่ในจิตใจของมวลมนุษย์

เมื่อพระบรมสารีริกธาตุอันตรธานแล้ว ก็เป็นอันว่าพระพุทธศาสนาดับสูญสิ้นไปจากโลกโดยสิ้นเชิง โลกจะมืดมนอนธการได้ด้วยอวิชชาโมหะหนาทึบไปจนกว่าจะมีพระพุทธเจ้าพระองค์ต่อไปอุบัติขึ้น ดั่งอาทิตย์อุทัยส่องโลกนี้พร้อมทั้งสรรพโลกให้สว่างไสวขึ้นอีกวาระหนึ่งฉะนั้น

…………..

ดูก่อนภราดา!

: วันนี้ท่านจะปฏิบัติธรรมให้สุดความสามารถ

: ฤๅจะรอไปจนถึงวันพระธาตุอันตรธาน?

#บาลีวันละคำ (3,604)

25-4-65 

…………………………….

ดูโพสต์ในเฟซบุ๊กของครูทองย้อย

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องข้อมูลจำเป็นถูกทำเครื่องหมาย *