บาลีวันละคำ

ลิงคอันตรธาน (บาลีวันละคำ 3,603)

ลิงคอันตรธาน 

อันตรธานที่ 4-เพศสูญ

อ่านว่า ลิง-คะ-อัน-ตะ-ระ-ทาน

ลิงคอันตรธาน” เป็น 1 ในอันตรธาน 5 คือ (1) อธิคมอันตรธาน (2) ปฏิปัตติอันตรธาน (3) ปริยัตติอันตรธาน (4) ลิงคอันตรธาน (5) ธาตุอันตรธาน 

ลิงคอันตรธาน” ประกอบด้วยคำว่า ลิงค + อันตรธาน

(๑) “ลิงค” 

เขียนแบบบาลีเป็น “ลิงฺค” (มีจุดใต้ งฺ) อ่านว่า ลิง-คะ รากศัพท์มาจาก –

(1) ลิงฺคฺ (ธาตุ = ไป, ถึง, เป็นไป) + (อะ) ปัจจัย

: ลิงฺคฺ + = ลิงฺค แปลตามศัพท์ว่า “อวัยวะเป็นเครื่องถึงการจำแนกว่าเป็นหญิงเป็นชาย

(2) ลีน (ที่ลับ) + องฺค (อวัยวะ), ลบ ที่ (ลี)-, รัสสะ อี เป็น อิ (ลี > ลิ

: ลีน + องฺค = ลีนงฺค > ลินงฺค > ลิงฺค แปลตามศัพท์ว่า “อวัยวะที่ลับ

(3) ลีน (ที่ลับ) + คมฺ (ธาตุ = ไป, ถึง, เป็นไป) + ปัจจัย, ลบ , ลบ ที่ (ลี)-, รัสสะ อี เป็น อิ (ลี > ลิ), ซ้อน งฺ ระหว่าง ลีน + คมฺ, ลบ มฺ ที่สุดธาตุ

: ลีน > ลิน > ลิ + งฺ = ลิงฺ + คมฺ = ลิงฺคม + = ลิงฺคมฺณ > ลิงฺคม > ลิงฺค แปลตามศัพท์ว่า “สิ่งที่ยังส่วนที่ลี้ลับให้ถึงความแจ่มแจ้ง

ลิงฺค” ในบาลีใช้ในความหมายดังนี้ –

(1) ลักษณะ, เครื่องหมาย, นิมิต, ที่สังเกตรูปลักษณะ (characteristic, sign, attribute, mark, feature)

(2) เครื่องหมายเพศ, องคชาต, อวัยวะเพศ (mark of sex, sexual characteristic, pudendum)

(3) (คำในไวยากรณ์) เพศ, คำลงท้ายที่แสดงลักษณะ, ลิงค์ (mark of sex, characteristic ending, gender)

ในภาษาไทย พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2554 บอกไว้ว่า –

ลิงค์ : (คำนาม) เครื่องหมายเพศ; ประเภทคําในไวยากรณ์ที่บอกให้รู้ว่าคํานั้นเป็นเพศอะไร เช่น ปุงลิงค์ คือ เพศชาย อิตถีลิงค์ คือ เพศหญิง; ลึงค์ ก็ว่า. (ป., ส.).”

(๒) “อันตรธาน” 

เขียนแบบบาลีเป็น “อนฺตรธาน” อ่านว่า อัน-ตะ-ระ-ทา-นะ ประกอบด้วย อนฺตร + ธาน

(ก) “อนฺตร” บาลีอ่านว่า อัน-ตะ-ระ รากศัพท์มาจาก อติ (ธาตุ = ผูก) + อร ปัจจัย, ลบสระที่สุดธาตุ (อติ > อต), ลงนิคหิตอาคมต้นธาตุแล้วแปลงเป็น (อติ > อํติ > อนฺติ

: อติ > อํติ > อนฺติ > อนฺต + อร = อนฺตร แปลตามศัพท์ว่า “จุดที่ผูกสองข้างไว้” คือ มีข้างหนึ่ง แล้วก็มีอีกข้างหนึ่ง จากข้างหนึ่งไปถึงอีกข้างหนึ่งนี้แหละมีสิ่งหนึ่งผูกเอาไว้ สิ่งนั้นเรียกว่า “อนฺตร” = ระหว่างสิ่งหนึ่งกับอีกสิ่งหนึ่ง หมายถึง ภายใน, ระหว่าง, ช่องวางระหว่าง (inside, in between, a space between)

(ข) “ธาน” บาลีอ่านว่า ทา-นะ รากศัพท์มาจาก ธา (ธาตุ = ทรงไว้, ปิดกั้น) + ยุ ปัจจัย, แปลง ยุ เป็น อน (อะ-นะ) 

: ธา + ยุ > อน = ธาน แปลตามศัพท์ว่า “การทรงไว้” “การปิดกั้น”หมายถึง ทรงไว้, ถือไว้, บรรจุไว้ (holding, containing) ถ้าเป็นคำนาม หมายถึง ภาชนะที่รองรับ, กระปุก (a receptacle) 

อนฺตร + ธาน = อนฺตรธาน แปลตามศัพท์ว่า “สิ่งที่ทรงอยู่ในระหว่าง” (คือเข้ามาปิดกั้นไว้ทำให้มองไม่เห็น) หมายถึง การหาย หรือสูญหายไป (disappearance)

อนฺตรธาน” ในภาษาไทยเขียน “อันตรธาน” 

โปรดสังเกตและระวัง “-ธาน หนู สะกด ไม่ใช่ “-ธาร” ร เรือ

พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2554 บอกไว้ว่า –

อันตรธาน : (คำกริยา) สูญหายไป, ลับไป. (ป., ส.).”

ลิงฺค + อนฺตรธาน = ลิงฺคอนฺตรธาน บาลีอ่านว่า ลิง-คะ-อัน-ตะ-ระ-ทา-นะ แปลว่า “การสูญหายไปแห่งเพศสงฆ์” หมายถึง ไม่มีผู้ใดครองเพศเป็นภิกษุในพระพุทธศาสนาอีกต่อไป

ลิงฺคอนฺตรธาน” เขียนแบบไทยเป็น “ลิงคอันตรธาน” อ่านว่า ลิง-คะ-อัน-ตะ-ระ-ทาน 

ขยายความ :

ท่านว่า พระพุทธศาสนาของเรานี้ เมื่อกาลเวลาล่วงไปก็จะเกิดอันตรธาน คือเสื่อมสูญไปตามลำดับ กล่าวคือ (1) อธิคมอันตรธาน (2) ปฏิปัตติอันตรธาน (3) ปริยัตติอันตรธาน (4) ลิงคอันตรธาน (5) ธาตุอันตรธาน 

ลิงคอันตรธาน” หรือ “การสูญหายไปแห่งเพศสงฆ์” คัมภีร์อรรถกถาบรรยายไว้ดังนี้ –

…………..

คจฺฉนฺเต  คจฺฉนฺเต  กาเล  จีวรคหณํ  ปตฺตคหณํ  สมฺมิญฺชนปสารณํ  อาโลกิตวิโลกิตํ  น  ปาสาทิกํ  โหติ

เมื่อกาลล่วงไปๆ การครองจีวร การถือบาตร การคู้ การเหยียด การแลดู การเหลียวดู ไม่เป็นที่นำมาซึ่งความเลื่อมใส

นิคณฺฐสมโณ  วิย  อลาพุปตฺตํ  ภิกฺขู  ปตฺตํ  อคฺคพาหาย  ปกฺขิปิตฺวา  อาทาย  วิจรนฺติ

ภิกษุทั้งหลายไปไหนมาไหนก็ห้อยบาตรไว้ปลายแขนเหมือนนักบวชนิครนถ์ถือหม้อน้ำเต้า

เอตฺตาวตาปิ  ลิงฺคํ  อนนฺตรหิตเมว  โหติ  ฯ

แม้ด้วยอาการเพียงเท่านี้ เพศสงฆ์ก็ชื่อว่ายังไม่อันตรธาน

คจฺฉนฺเต  คจฺฉนฺเต  กาเล  อคฺคพาหโต  โอตาเรตฺวา  หตฺเถน  วา  สิกฺกาย  วา โอลมฺเพตฺวา  วิจรนฺติ

เมื่อกาลล่วงไปๆ ก็เอาบาตรลงจากปลายแขน ไปไหนมาไหนก็ใช้มือหิ้วไป หรือใช้สาแหรกหาบไป 

จีวรํปิ  รชนสารุปฺปํ  อกตฺวา  โอฏฺฐฏฺฐิวณฺณํ  กตฺวา  วิจรนฺติ  ฯ

แม้จีวรก็ไม่ย้อมให้ถูกต้อง ห่มจีวรสีแดงกันทั่วไปหมด

คจฺฉนฺเต  คจฺฉนฺเต  กาเล  รชนํ  น  โหติ  ทสจฺฉินฺทนํปิ  โอวฏฺฏิกวิชฺฌนํปิ  กปฺปมตฺตํ  กตฺวา  วฬญฺเชนฺติ  ฯ

เมื่อกาลล่วงไปๆ การย้อมจีวรก็ดี การตัดชายผ้าก็ดี การเจาะรังดุมก็ดี ก็ไม่มีไม่ทำ ทำเพียงเครื่องหมายให้รู้ว่าเป็นจีวรแล้วใช้สอย

ปุน  โอวฏฺฏิกํ  วิสฺสชฺเชตฺวา  กปฺปํ  น  กโรนฺติ  ฯ

ต่อมาก็ทิ้งรังดุมไปเสียอีก เครื่องหมายที่ให้รู้ว่าเป็นจีวรก็ไม่ทำ

ตโต  อุภยํ  อกตฺวา  ทสา  เฉตฺวา  ปริพฺพาชกา  วิย  วิจรนฺติ  ฯ

ต่อมา เมื่อไม่ทำทั้งสองอย่าง ก็ตัดชายผ้าออก ไปไหนมาไหนมีลักษณาการเหมือนพวกปริพาชก

(ที่บรรยายมาทั้งหมดนี้ก็คือการเปลี่ยนแปลงรูปแบบเครื่องแต่งกายของภิกษุในอนาคตนั่นเอง-เวลานี้ในเมืองไทย พระเถรวาทใส่เสื้อก็มีให้เห็นแล้ว)

คจฺฉนฺเต  คจฺฉนฺเต  กาเล  โก  อิมินา  อมฺหากํ  อตฺโถติ  ขุทฺทกํ  กาสายขณฺฑํ  หตฺเถ  วา  คีวายํ  วา  พนฺธนฺติ  เกเสสุ  วา  อลฺลิยาเปนฺติ  …

เมื่อกาลล่วงไปๆ ก็คิดว่า พวกเราจะต้องครองผ้าเช่นนี้ไปทำไม จึงผูกผ้ากาสายะชิ้นเล็กๆ เข้าที่มือ หรือที่คอ หรือขอดไว้ที่ผม 

ทารภรณํ  วา  กโรนฺตา  กสิตฺวา  วปิตฺวา  ชีวิตํ  กปฺเปนฺตา  วิจรนฺติ  ฯ

พากันมีภรรยาบ้าง ประกอบการไถหว่าน (และทำกิจอื่นๆ) เลี้ยงชีพบ้าง 

ตทา  ทกฺขิณํ  เทนฺโต  ชโน  สํฆํ  อุทฺทิสฺส  เอเตสํ  เทติ  ฯ

ในครั้งนั้น คนที่จะถวายทักขิณาทาน ย่อมถวายให้แก่คนครองเพศเช่นนั้นโดยตั้งใจว่าถวายสงฆ์

อิทํ  สนฺธาย  ภควตา  วุตฺตํ …

พระผู้มีพระภาคทรงหมายถึงกรณีเช่นนี้ จึงตรัสไว้ (ในทักขิณาวิภังคสูตร) ว่า —

……………………………………………..

ภวิสฺสนฺติ  โข  ปนานนฺท  อนาคตมทฺธานํ  โคตฺรภุโน  กาสาวกณฺฐา  ทุสฺสีลา  ปาปธมฺมา …

ดูก่อนอานนท์ ในอนาคตกาล จักมีโคตรภูสงฆ์ คือผู้มีผ้ากาสาวะพันคอ เป็นผู้ทุศีล ประพฤติเลวทราม 

เตสุ  ทุสฺสีเลสุ  ปาปธมฺเมสุ  สํฆํ  อุทฺทิสฺส  ทานํ  ทสฺสนฺติ …

คนทั้งหลายถวายทานแก่คนทุศีลประพฤติเลวทรามเหล่านั้นโดยตั้งใจว่าถวายสงฆ์ 

ตทาหํ  อานนฺท  สํฆคตํ  ทกฺขิณํ  อสงฺเขยฺยํ  อปฺปเมยฺยํ  วทามีติ  ฯ

ดูก่อนอานนท์ เรากล่าวว่า ทักษิณาที่ถวายเป็นของสงฆ์ในเวลานั้น มีอานิสงส์นับไม่ได้ประมาณไม่ได้ ดังนี้

……………………………………………..

ตโต  คจฺฉนฺเต  คจฺฉนฺเต  กาเล  นานาวิธานิ  กมฺมานิ  กโรนฺตา  ปปญฺโจ  นาม  เอส  กึ  อิมินา  อมฺหากนฺติ  กาสาวขณฺฑํ  ฉฑฺเฑตฺวา  อรญฺเญ  ขิปนฺติ  ฯ

แต่นั้น เมื่อกาลล่วงไปๆ คนครองเพศสงฆ์เหล่านั้นคิดว่า การครองเพศอยู่เช่นนี้เสียเวลา พวกเราจะต้องมาเสียเวลาอยู่ทำไมเล่า คิดแล้วจึงถอดชิ้นส่วนผ้ากาสาวะโยนทิ้งเสียในป่า

เอตสฺมึ  กาเล  ลิงฺคํ  อนฺตรหิตํ  นาม  โหติ  ฯ

เพศสงฆ์ก็เป็นอันว่าอันตรธานไปในกาลนั้น 

กสฺสปทสพลสฺส  กิร  กาเล  เตสํ  เตสํ  เสตกานิ  วตฺถานิ  ปารุปิตฺวา  จรณํ  จาริตํ  ชาตนฺติ  

กล่าวกันว่า คนเหล่านั้นพากันนุ่งขาวห่มขาวดำเนินชีวิตไปโดยถือกันว่าเป็นจารีตนิยมมาแต่ครั้งศาสนาพระกัสสปทศพล 

อิทํ  ลิงฺคอนฺตรธานํ  นาม  โหติ  ฯ

เป็นอันว่าลิงคอันตรธานย่อมมี ด้วยประการฉะนี้แล

ที่มา: มโนรถปูรณี อรรถกถาอังคุตรนิกาย ภาค 1 หน้า 120-121

…………..

ดูก่อนภราดา!

: ถ้าไม่รักษาวิถีชีวิตสมณะให้มั่นคง

: ไม่ใช่แค่เพศสงฆ์อันตรธาน

: แต่จะแหลกลาญหมดทั้งพระศาสนา

#บาลีวันละคำ (3,603)

24-4-65 

…………………………….

ดูโพสต์ในเฟซบุ๊กของครูทองย้อย

…………………………….

 

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องข้อมูลจำเป็นถูกทำเครื่องหมาย *