บทความเกี่ยวกับศาสนา-ภาษา-สังคม

มหาวิทยาลัยสงฆ์ : เรียนอะไร

มหาวิทยาลัยสงฆ์ : เรียนอะไร

——————–

ผมเขียนเรื่อง “บวชเรียน : เรียนอะไร” ไปแล้ว คิดว่าน่าจะพูดต่อไปถึงมหาวิทยาลัยสงฆ์เรียนอะไรอีกด้วย เพราะเวลานี้นอกจากเรียนนักธรรมและเรียนบาลีแล้ว พระภิกษุสามเณรของเรายังนิยมเรียนในมหาวิทยาลัยสงฆ์อีกด้วย

…………………………………………….

บวชเรียน : เรียนอะไร

https://www.facebook.com/tsangsinchai/posts/5081244585302571

…………………………………………….

มหาวิทยาลัยสงฆ์ในเมืองไทยมี ๒ แห่ง คือ มหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เรียกตามชื่อเดิมว่า มหาจุฬาลงกรณราชวิยาลัย เรียกสั้นๆ ว่า มหาจุฬา คำย่อว่า มจร (มอ จอ รอ) บริหารจัดการโดยคณะสงฆ์ฝ่ายมหานิกาย

อีกแห่งหนึ่งคือ มหาวิทยาลัยมหามกุฏราชวิยาลัย เรียกตามชื่อเดิมว่า มหามกุฏราชวิยาลัย เรียกสั้นๆ ว่า มหามกุฏ คำย่อว่า มมร (มอ มอ รอ) บริหารจัดการโดยคณะสงฆ์ฝ่ายธรรมยุติกนิกาย

มหาวิทยาลัยทั้งสองแห่งนี้กำเนิดในรัชกาลที่ ๕ แต่เปิดการเรียนการสอนได้เต็มรูปในรัชกาลที่ ๙

วัตถุประสงค์ของการตั้งมหาวิทยาลัยสงฆ์ มีอยู่คำหนึ่งที่เป็นหลักคือ เพื่อให้เป็นที่เรียน “วิชาชั้นสูง” ของพระภิกษุสามเณร 

มีผู้วิเคราะห์ความหมายของคำว่า “วิชาชั้นสูง” กันหลากหลายว่าหมายถึงอะไร 

ผมเห็นว่าบทวิเคราะห์ของท่านอาจารย์สุชีพ ปุญญานุภาพ ตรงประเด็นที่สุด คือท่านอาจารย์สุชีพวิเคราะห์ด้วยข้ออุปมาว่า เหมือนรางรถไฟที่จะทำให้รถไฟบรรทุกสินค้าไปยังตลาดผู้บริโภคได้สะดวกขึ้น-ถ้อยคำไม่ตรงทุกคำ แต่ถ้อยความเป็นดังว่านี้

ตรงนี้ต้องถอยไปตั้งหลักกันที่ทัศนคติของคนรุ่นใหม่-คือรุ่นที่ไปรับการศึกษามาจากต่างประเทศ คนพวกนี้มักมองพระสงฆ์ว่าเป็นพวกที่ไม่ทันโลก รู้แต่ธรรมะ แต่ไม่รู้เรื่องโลก คือไม่ทันสมัย เพราะฉะนั้น คนพวกนี้จึงไม่สนใจที่จะฟังพระเทศน์ เพราะเห็นว่าพระโง่กว่าตน

ทัศนคติดูถูกคนวัดเช่นนี้กำลังขยายตัวเบิกบานอยู่ทั่วไปในสังคมไทย

ผู้บริหารบ้านเมืองซึ่งต้องรับผิดชอบการพระศาสนาด้วย จึงคิดว่าควรจะต้องให้พระสงฆ์มีความรู้ทันโลก จึงจะสอนธรรมะให้แก่คนไทยรุ่นใหม่ได้

พูดอีกอย่างหนึ่งว่า พระมีความรู้เหมือนที่ชาวบ้านเขารู้ ชาวบ้านจึงจะยอมรับ ต่อจากนั้นจะสอนอะไรเขาก็จะยินดีรับฟัง

ดังจะเห็นว่า สมัยเมื่อ ๑๐๐ ปีที่ผ่านมา พระรูปไหนพูดอังกฤษได้ สังคมก็จะฮือฮาชื่นชมกันมาก

สรุปแนวคิดด้วยคำสมัยใหม่ว่า ถ้าพระจบปริญญา หรือถ้าถึงกับเป็น ดร. เหมือนที่ชาวบ้านเขาจบมา พระก็จะสามารถสอนธรรมะให้ชาวบ้านได้อย่างมีประสิทธิภาพ เนื่องจากชาวบ้านยอมรับนับถือ-นี่คือวัตถุประสงค์ที่แท้จริงของการตั้งมหาวิทยาลัยสงฆ์ขึ้นมา-เหมือนรางรถที่ให้รถบรรทุกสินค้าไปถึงผู้บริโภคได้สะดวกขึ้น

ปัจจุบันมหาวิทยาลัยสงฆ์ทั้งสองแห่งเป็นมหาวิทยาลัยในกำกับของรัฐ ดังจะเห็นได้ว่า เมื่อก่อนใช้คำเรียกว่า “มหาจุฬาลงกรณราชวิยาลัย” และ “มหามกุฏราชวิยาลัย” แต่เดี๋ยวนี้ต้องมีคำว่า “มหาวิทยาลัย” นำหน้าด้วย เป็น “มหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิยาลัย” และ “มหาวิทยาลัยมหามกุฏราชวิยาลัย” รูปแบบการบริหารจัดการก็เหมือนมหาวิทยาลัยทางโลกทั่วไป

ที่น่าสังเกตคือ จากเดิมเป็นสถาบันการศึกษาของพระเณร ปัจจุบันมีชาวบ้านเข้าไปเรียนด้วยแล้ว

และที่น่าสังเกตมากที่สุดก็คือ จากวัตถุประสงค์เดิม-พระเณรเรียน มจร มมร เพื่อให้มีความรู้เท่ากับที่ชาวบ้านรู้ หรือมีความรู้ทันกับที่ชาวบ้านมี เพื่อให้เขายอมรับและเพื่อจะได้สอนเขาได้ ปัจจุบันกำลังเบี่ยงเบนไปเป็นว่า-พระเณรเรียน มจร มมร เพื่อจะได้เป็นอย่างที่ชาวบ้านเขาเป็น

มหาวิทยาลัยทางโลกเขาเอาปริญญามาเชิดชูกัน มจร มมร ก็กำลังเป็นเช่นนั้น เวลานี้ปริญญาจาก มจร มมร นำหน้านักธรรมบาลีไปแล้ว ยิ่งถ้าจบปริญญาเอกด้วยแล้ว ไม่เอาวุฒิทางนักธรรมบาลีมาใส่ท้ายชื่อ (ให้เสียเกียรติ) ด้วยซ้ำไป

สิ่งหนึ่งที่ มจร มมร กำลังจะเป็น (หรือเป็นไปแล้ว) เหมือนมหาวิทยาลัยทางโลกก็คือ เป็นสถานศึกษาวิชาการเท่านั้น ไม่ได้ทำหน้าที่อบรมสั่งสอนความประพฤติปฏิบัติ

พูดให้ชัดกว่านี้-สอนวิชาการอย่างเดียว ไม่เกี่ยวกับเรื่องส่วนตัว

มหาวิทยาลัยทางโลกทุกวันนี้ทุกแห่งเหมือนกันหมด คือ มีหน้าที่สอนวิชาความรู้ตามกระบวนการเท่านั้น นิสิตนักศึกษาจะประพฤติตัวชั่วดีถี่ห่างอย่างไร มหาวิทยาลัยไม่รับผิดชอบอะไรด้วย

พูดตรงๆ ประสานักเลงปากท่อ ไม่ต้องใช้คำเลี่ยง-เรื่องส่วนตัวของกู ครูอย่าเสือก

เข้าใจว่าคติแบบนี้ เวลานี้น่าจะลามลงมาถึงระดับชั้นมัธยมด้วยแล้ว

ต่อไปคงลามไปถึงระดับชั้นประถมและอนุบาล

สอนวิธีหากินอย่างเดียว ผิดชอบชั่วดีอย่ามาสอน

บรรยากาศใน มจร มมร ทุกวันนี้กำลังจะเหมือนในมหาวิทยาลัยทั่วไป คือไม่มีใครสนใจความประพฤติส่วนตัวของใคร

บรรยากาศแบบนี้ต่างกับบรรยากาศใน “วัด” อันเป็นสถานอบรมศึกษามาแต่เดิมในสังคมไทย และอันเป็นสถานศึกษาที่พระเณรเรียนพระปริยัติธรรมแผนกธรรมและแผนกบาลีกันมาแต่เดิม

สังคมไทยถือว่าวัดเป็นสถาบันการศึกษา วิชาหลักวิชาแกนคือความประพฤติ การปฏิบัติกิจวัตร หรือที่เรียกว่า “วิถีชีวิตสงฆ์” 

ทำอะไรผิด หรือพลาด หรือบกพร่อง จะถูกขนาบทันที ไม่มีการปล่อยปละละเลย ไม่มีข้ออ้างว่าเป็นเรื่องส่วนตัวโดยเด็ดขาด

โปรดศึกษาตัวอย่างได้จากเรื่องพระราธเถระ ธัมมปทัฏฐกถา ภาค ๔ มหาเปรียญทุกท่านต้องผ่านเรื่องนี้มาแล้ว นั่นคือระบบการศึกษาที่ถูกต้องของชาววัด

เมื่อผ่านการทดสอบในระบบวิถีชีวิตสงฆ์ไปได้อย่างขาวสะอาด จบการศึกษาออกจากวัดไป เราจึงเรียกบุคคลเช่นนั้นว่า “บัณฑิต” คือผู้สำเร็จการศึกษาระดับสูงแล้ว “บัณฑิต” – เป็นคำเดียวกับที่มหาวิทยาลัยทางโลกเอามาเรียกกันอยู่ทุกวันนี้

คำว่า “บัณฑิต” นั่นเองเพี้ยนมาเป็น “ทิด” ในภาษาไทย

ถ้ามหาวิทยาลัยสงฆ์ของเราไม่รักษาบรรยากาศการศึกษาอบรมของ “วัด” และไม่รักษาวิถีชีวิตสงฆ์ภายในมหาวิทยาลัยไว้ให้ยั่งยืน มหาวิทยาลัยสงฆ์ก็จะถูกกลืนและกลายเป็นมหาวิทยาลัยทางโลกเต็มตัวไปในที่สุด

ถึงวันนั้น ยังจะมีใครสนใจอยู่อีกว่า มหาวิทยาลัยสงฆ์เรียนอะไร?

พลเรือตรี ทองย้อย แสงสินชัย

๒ พฤษภาคม ๒๕๖๕

๑๖:๒๓

…………………………………………

มหาวิทยาลัยสงฆ์ : เรียนอะไร

ดูโพสต์ในเฟซบุ๊กของครูทองย้อย

………………………………………..

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องข้อมูลจำเป็นถูกทำเครื่องหมาย *