ทาสีภริยา (บาลีวันละคำ 3,611)
ทาสีภริยา
ภรรยาเยี่ยงทาส
…………..
สมัยหนึ่ง พระผู้มีพระภาคประทับอยู่ ณ เมืองสาวัตถี ได้ทรงแสดงเรื่องภรรยา 7 ประเภท โปรดนางสุชาดาสะใภ้ของท่านอนาถบิณฑิกเศรษฐี ภรรยา 7 ประเภทมีคำเรียกตามบาลีพระไตรปิฎก (ภริยาสูตร สัตตกนิบาต อังคุตรนิกาย พระไตรปิฎกเล่ม 23 ข้อ 60) ดังนี้:-
วธกสมา = ภรรยาเสมอด้วยผู้ฆ่า
โจรสมา = ภรรยาเสมอด้วยโจร
อัยยสมา = ภรรยาเสมอด้วยนาย
มาตุสมา = ภรรยาเสมอด้วยมารดา
ภคินิสมา = ภรรยาเสมอด้วยน้องสาว
สขีสมา = ภรรยาเสมอด้วยเพื่อน
ทาสีสมา = ภรรยาเสมอด้วยทาส
ในภาษาไทย ท่านใช้คำเรียกภรรยาทั้ง 7 ประเภทว่า วธกาภริยา โจรีภริยา อัยยาภริยา มาตาภริยา ภคินีภริยา สขีภริยา ทาสีภริยา
…………..
“ทาสีภริยา” อ่านว่า ทา-สี-พะ-ริ-ยา
ประกอบด้วยคำว่า ทาสี + ภริยา
(๑) “ทาสี”
บาลีอ่านว่า ทา-สี รูปคำเดิมมาจาก ทาส + อี ปัจจัย
(ก) “ทาส” บาลีอ่านว่า ทา-สะ รากศัพท์ของคำว่า “ทาส” มีมาหลายทาง เช่น –
(1) ทาสฺ (ธาตุ = ร้อน) + อ (อะ) ปัจจัย = ทาส แปลว่า “ผู้เดือดร้อน”
(2) ทุ ( = ไม่ดี, น่าเกลียด) > ท > ทา + อส (ธาตุ = กิน) + อ (อะ) ปัจจัย = ทาส แปลว่า “ผู้กินน่าเกลียด”
(3) ทา (ธาตุ = ให้) + ส ปัจจัย = ทาส แปลว่า “ผู้อันเขาให้” คือถูกยกให้คนอื่นไปใช้
(4) บางมติว่า คำว่า “ทาส” กลายเสียงมาจากสันสกฤตว่า “ทสฺยุ” คำนี้บาลีเป็น “ทสฺสุ” (ทัด-สุ) แปลว่า ข้าศึก, ศัตรู, ขโมย ขยายความว่า เมื่อจับคนพวกนี้ได้ แทนที่จะฆ่าเสีย ก็เอาตัวมาเป็นคนรับใช้ : ทสฺยุ > ทสฺสุ > ทาส
พจนานุกรมบาลี-อังกฤษ อธิบายความหมายเดิมของ “ทาส” ว่า meaning “non-Aryan” i. e. slave = “ไม่ใช่อารยัน” คือทาส
ในคัมภีร์ระบุถึงทาส 4 ประเภท คือ
1 อนฺโตชาต แปลว่า “เกิดภายใน” = ทาสในเรือนเบี้ย
2 ธนกฺกีต แปลว่า “ซื้อมาด้วยเงิน” = ทาสน้ำเงิน, ทาสสินไถ่
3 กรมรานีต แปลว่า “ถูกนำมาเป็นเชลย” = ทาสเชลย
4 สามํทาสพฺยอุปคต แปลว่า “ยอมเป็นทาสเอง” = ทาสแท้
(ข) ทาส + อี ปัจจัย ปัจจัยเครื่องหมายอิตถีลิงค์
: ทาสฺ + อี = ทาสี แปลว่า “สตรีผู้เป็นทาส” หรือ “สตรีผู้เป็นคนใช้”
(๒) “ภริยา”
บาลีอ่านว่า พะ-ริ-ยา รากศัพท์มาจาก ภรฺ (ธาตุ = เลี้ยง) + อิ อาคม + ย ปัจจัย + อา ปัจจัยเครื่องหมายอิตถีลิงค์
: ภรฺ + อิ + ย = ภริย + อา = ภริยา แปลตามศัพท์ว่า “ผู้อันสามีต้องเลี้ยงดู”
พจนานุกรมบาลี-อังกฤษ แปล “ภริยา” ว่า a wife และบอกคำแปลตามรากศัพท์ไว้ว่า one who is supported (ผู้ถูกเลี้ยงดู)
บาลี “ภริยา” ในภาษาไทยใช้ว่า “ภริยา” และ “ภรรยา”
พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2554 บอกไว้ว่า –
(1) ภริยา : (คำนาม) ภรรยา, เมีย, หญิงที่เป็นคู่ครองของชาย, คู่กับ สามี. (ป.; ส. ภารฺยา).
(2) ภรรยา : (คำนาม) ภริยา, เมีย, หญิงที่เป็นคู่ครองของชาย, คู่กับ สามี. (ส. ภารฺยา; ป. ภริยา).
โปรดสังเกตศึกษาวิธีให้คำนิยามของพจนานุกรมฯ
“ภริยา” บอกว่าคือ “ภรรยา”
“ภรรยา” ก็บอกว่าคือ “ภริยา”
หมายความว่าทั้ง 2 คำใช้ได้เท่ากัน ไม่มีคำไหนเป็นคำหลัก-คำรอง คือเป็นคำหลักทั้งคู่ คำนิยามต่อมาก็ตรงกันทั้ง 2 คำ
ทาสี + ภริยา = ทาสีภริยา แปลว่า “ภรรยาผู้เป็นเหมือนคนใช้” หรือ “ภรรยาเยี่ยงทาส”
ขยายความ :
ในพระไตรปิฎก (สัตตกนิบาต อังคุตรนิกาย เล่ม 23 ข้อ 60) มีคาถาที่เป็นพระพุทธพจน์แสดงลักษณะของ “ทาสีภริยา” ดังนี้
…………..
อกฺกุทฺธสนฺตา วธทณฺฑตชฺชิตา
อรุทฺธจิตฺตา ปติโน ติติกฺขติ
อกฺโกธนา ภตฺตุวสานุวตฺตินี
ยา เอวรูปา ปุริสสฺส ภริยา
ทาสี จ ภริยาติ จ สา ปวุจฺจติ ฯ
…………..
แปลโดยประสงค์ว่า –
…………..
เสงี่ยมงามไม่ขุ่นขึ้งแม้สามีจะตะคอกขู่ฆ่าเฆี่ยน
ประพฤติจิตไม่ผิดเพี้ยน ผ่อนกลั้นข่มกับอารมณ์ผัว
เก็บโกรธเกรงกลัว ไม่ขัดแย้งแข็งขืน
บุรุษมีภรรยาชวนชื่นลักษณะเห็นปานนี้
พระจอมมุนีตรัสเรียกว่า “ทาสีภริยา” ภรรยาเยี่ยงทาส
…………..
พจนานุกรมพุทธศาสตร์ ฉบับประมวลธรรม ของท่าน ป.อ. ปยุตฺโต ข้อ [282] สรุปลักษณะของ “ทาสีภริยา” ไว้ดังนี้
…………..
7. ทาสีภริยา (ภรรยาเยี่ยงทาสี, ภรรยาที่ยอมอยู่ในอำนาจสามี ถูกขู่ตะคอกเฆี่ยนตี ก็อดทนไม่โกรธตอบ — Dāsī-bhariyā: a wife like a handmaid; slavish wife)
…………..
ดูก่อนภราดา!
: รักแท้ไม่มีใครเป็นทาสใคร
: มีแต่หัวใจที่พร้อมจะเหนื่อยแทนกัน
#บาลีวันละคำ (3,611)
2-5-65
…………………………….
…………………………….