บทความเกี่ยวกับศาสนา-ภาษา-สังคม

บวชเรียน : เรียนอะไร

——————–

ถ้าดูตามหลักเรื่อง “ธุระ” ท่านว่าธุระในพระศาสนามี ๒ อย่าง คือ คันถธุระและวิปัสสนาธุระ

คัมภีร์ธัมมปทัฏฐกถา ภาค ๑ เรื่องพระจักขุบาลเถระ ให้ความหมายคำว่าคันถธุระและวิปัสสนาธุระไว้ดังนี้ –

……………………………………….

อตฺตโน  ปญฺญานุรูเปน  เอกํ  วา  เทฺว  วา  นิกาเย  

สกลํ  วา  ปน  เตปิฏกํ  พุทฺธวจนํ  อุคฺคณฺหิตฺวา  

ตสฺส  ธารณํ  กถนํ  วาจนนฺติ  อิทํ  คนฺถธุรํ  นาม.

การเรียนนิกายหนึ่งก็ดี สองนิกายก็ดี 

จบพุทธวจนะคือพระไตรปิฎกก็ดี 

ตามสมควรแก่ปัญญาของตน 

แล้วจำทรงไว้ บอกกล่าว สั่งสอนพุทธวจนะนั้น 

ดังนี้ชื่อว่าคันถธุระ

สลฺลหุกวุตฺติโน  ปน  ปนฺตเสนาสนาภิรตสฺส  

อตฺตภาเว  ขยวยํ  ปฏฺฐเปตฺวา  

สาตจฺจกิริยาวเสน  วิปสฺสนํ  วฑฺเฒตฺวา  

อรหตฺตคฺคหณนฺติ  อิทํ  วิปสฺสนาธุรํ  นาม.

ภิกษุผู้มีความประพฤติเรียบง่าย 

ยินดียิ่งแล้วในเสนาสนะอันสงัด

เริ่มตั้งความสิ้นและความเสื่อมไว้ในอัตภาพ 

ยังวิปัสสนาให้เจริญโดยไม่ขาดสายจนบรรลุพระอรหัต 

ดังนี้ชื่อว่าวิปัสสนาธุระ

……………………………………….

เมื่อว่าตามหลักดังกล่าวนี้ ที่ว่า “บวชเรียน” ก็คือเรียนธุระ ๒ อย่างนี้ พูดอย่างสมัยใหม่ก็ว่า เรียนภาคทฤษฎีและเรียนภาคปฏิบัติ

นั่นเป็นหลักที่ท่านแสดงไว้ในคัมภีร์

……………………

ทีนี้มาดูการเรียนที่คณะสงฆ์ไทยจัดให้มีขึ้นในปัจจุบัน

คณะสงฆ์ไทยจัดให้มีการศึกษาสำหรับพระภิกษุสามเณรที่นับว่าเป็นมาตรฐานมาแต่เดิม ๒ อย่าง คือ พระปริยัติธรรมแผนกธรรม และพระปริยัติธรรมแผนกบาลี 

พระปริยัติธรรมแผนกธรรมแบ่งระดับการศึกษาเป็น ๓ ระดับ เรียกว่า นักธรรมชั้นตรี นักธรรมชั้นโท นักธรรมชั้นเอก 

นักธรรมชั้นตรี ใช้คำย่อว่า น.ธ.ตรี

นักธรรมชั้นโท ใช้คำย่อว่า น.ธ.โท

นักธรรมชั้นเอก ใช้คำย่อว่า น.ธ.เอก

แต่ละชั้นมีวิชาที่เรียน ๔ รายวิชา คือ –

๑ เรียงความแก้กระทู้ธรรม คือเขียนอธิบายธรรมะตามแบบแผนที่กำหนด วัตถุประสงค์เพื่อให้สามารถเผยแผ่ธรรมะได้

๒ พุทธประวัติ คือประวัติศาสตร์พระพุทธศาสนา เน้นที่ประวัติพระพุทธเจ้าและพระสาวก

๓ ธรรมวิภาค คือหลักคำสอนในพระพุทธศาสนา เน้นส่วนที่เป็น “พระธรรม”

๔ วินัยบัญญัติ คือหลักคำสอนในพระพุทธศาสนา เน้นส่วนที่เป็น “พระวินัย” โดยเฉพาะศีลของภิกษุและระเบียบปฏิบัติในวิถีชีวิตสงฆ์

ถ้อยคำที่ใช้เรียกวิชาอาจเยื้องแย้งไปจากนี้บ้าง แต่เนื้อหาเป็นไปตามนี้

กรอบของวิชาตรงกันทั้ง ๓ ชั้น แต่เนื้อหาของวิชาง่ายยากหนักเบาลดหลั่นไปตามลำดับชั้น

จบนักธรรมชั้นตรี มีความรู้อยู่ร่วมกับหมู่คณะได้

จบนักธรรมชั้นโท มีความรู้สามารถรักษาตัวอยู่ตามลำพังได้

จบนักธรรมชั้นเอก มีความรู้สามารถแนะนำสั่งสอนหมู่คณะได้

……………………

พระปริยัติธรรมแผนกบาลีแบ่งระดับการศึกษาเป็น ๙ ระดับ 

ระดับ ๑ และ ๒ เรียกควบกันว่า “ประโยค ๑-๒” 

ระดับ ๓ ถึง ๙ เรียกว่า “เปรียญธรรม-ประโยค” ระบุตัวเลขบอกระดับนั้นๆ เช่น “เปรียญธรรม ๓ ประโยค” …

“ประโยค ๑-๒” เรียกเต็ม ยังไม่เคยเห็นคำย่อ

“เปรียญธรรม-ประโยค” ใช้คำย่อว่า “ป.ธ.-” ตามด้วยเลขระบุประโยค เช่น “ป.ธ.๓” อ่านเต็มว่า “เปรียญธรรมสามประโยค” อ่านตามสะดวกปากว่า “ปอทอสาม” (ขอแนะนำให้อ่านเต็มทุกครั้ง)

ผู้สอบ “ประโยค ๑-๒” ได้ ยังไม่ถือว่าเป็นเปรียญ คงเรียกว่า “พระ” หรือ “สามเณร” ตามปกติ

ผู้สอบได้ตั้งแต่ “ป.ธ.๓” ขึ้นไป ถ้าเป็นพระภิกษุใช้คำนำหน้าชื่อว่า “พระมหา” + ฉายา + ป.ธ.- 

เช่น พระมหาทองย้อย วรกวินฺโท ป.ธ.๓

ถ้าเป็นสามเณร ใช้คำว่า “เปรียญ” หรือ “ป.” ตามหลังชื่อ

เช่น สามเณรทองย้อย เปรียญ หรือ สามเณรทองย้อย ป.

ในเอกสารพระราชทานสมณศักดิ์ใช้คำว่า “- ประโยค” ตามหลังชื่อ

เช่น “พระมหาไพศาล ๙ ประโยค”

ไม่ใช่ “พระมหาไพศาล เปรียญธรรม ๙ ประโยค”

และไม่ใช่ “พระมหาไพศาล ป.ธ.๙”

นี่เป็นเรื่องที่พึงสังเกต

อนึ่ง มีหลักนิยมว่า พระภิกษุที่สอบ ป.ธ.๓ ได้ จะใช้คำนำหน้าชื่อว่า “พระมหา” ได้ก็ต่อเมื่อพ้นวันที่กำหนดพระราชทานประกาศนียบัตรพัดยศไปแล้ว พระภิกษุที่เป็น “พระมหา” อยู่แล้ว จะเปลี่ยนเลขบอกระดับประโยคที่สอบได้สูงขึ้นได้ต่อเมื่อพ้นวันที่กำหนดพระราชทานประกาศนียบัตรพัดยศไปแล้วเช่นกัน ไม่ใช่เปลี่ยนได้ทันทีที่กองบาลีสนามหลวงประกาศผลสอบ

ควรทราบเป็นความรู้เพิ่มเติมว่า เราเคยแบ่งระดับการศึกษาพระปริยัติธรรมแผนกบาลีออกเป็น ๓ ระดับ คือ –

ประโยค ป.ธ.๓ เรียกว่า เปรียญตรี

ประโยค ป.ธ.๔ – ๕ – ๖ เรียกว่า เปรียญโท

ประโยค ป.ธ.๗ – ๘ – ๙ เรียกว่า เปรียญเอก

ทีนี้ก็มาถึงเนื้อหาที่เรียนในพระปริยัติธรรมแผนกบาลี

เนื้อหาที่เรียนมีดังต่อไปนี้ –

๑ บาลีไวยากรณ์ เรียนเฉพาะชั้นประโยค ๑-๒ และ ป.ธ.๓ เป็นการเริ่มต้นในกระบวนการเรียนบาลี ทั้งนี้เพื่อให้มีความรู้ทางไวยากรณ์ถึงระดับที่สามารถใช้งานในการแปลคัมภีร์ที่อยู่ในหลักสูตรต่อไปได้

ไม่เรียนบาลีไวยากรณ์ ไม่รู้บาลีไวยากรณ์ แปลคัมภีร์ไม่ได้

๒ วากยสัมพันธ์ หรือที่ข้อสอบใช้ชื่อว่า “สัมพันธ์ไทย” เป็นวิชาว่าด้วยหน้าที่ของคำในภาษาบาลีว่าแต่ละคำทำหน้าที่อะไรในประโยคและเกี่ยวข้องกับคำอื่นในฐานะอะไร เรียนเฉพาะชั้น ป.ธ.๓ 

๓ วิชาบุรพภาค ว่าด้วยรูปแบบ ย่อหน้า วรรคตอน สะกดการันต์ในหนังสือราชการ เพื่อให้นักเรียนมีความรู้พื้นฐานเบื้องต้นในการทำหน้าที่เลขานุการ ถือว่าเป็นวิชาประกอบ เรียนเฉพาะชั้น ป.ธ.๓ 

๔ วิชาแปลมคธเป็นไทย เรียนทุกชั้น

๕ วิชาแปลไทยเป็นมคธ เรียนตั้งแต่ชั้น ป.ธ.๔ ขึ้นไป

๖ วิชาแต่งฉันท์ภาษามคธ เรียนเฉพาะชั้น ป.ธ.๘

๗ วิชาแต่งไทยเป็นมคธ เรียนเฉพาะชั้น ป.ธ.๙

การสอบวัดผล สอบปีละครั้ง เรียกว่า “สอบบาลีสนามหลวง” แต่เดิมใช้เกณฑ์ต้องสอบผ่านทุกวิชาในการสอบคราวเดียวจึงจะถือว่าสอบได้ ปัจจุบันกำหนดให้มีการสอบซ่อมเฉพาะชั้น ประโยค ๑-๒, ป.ธ.๓, ป.ธ.๔ และ ป.ธ.๕ ชั้นสูงกว่านี้ยังคงใช้เกณฑ์เดิม

คัมภีร์ที่เป็นหลักสูตรหรือที่ใช้เป็นแบบเรียนในชั้นต่างๆ มีดังนี้ –

๑ ธมฺมปทฏฺฐกถา ๘ ภาค อธิบายความในคัมภีร์ธรรมบท

๒ มงฺคลตฺถทีปนี ๒ ภาค อธิบายเรื่องมงคล ๓๘

๓ สมนฺตปาสาทิกา ๓ ภาค อธิบายพระวินัยปิฎก

๔ วิสุทฺธิมคฺค ๓ ภาค อธิบายเรื่องศีล สมาธิ ปัญญา

๕ อภิธมฺมตฺถวิภาวินี ๑ เล่ม สรุปความในพระอภิธรรมปิฎก

โปรดทราบว่า ทั้ง ๕ คัมภีร์นี้เป็นคัมภีร์ชั้นอรรถกถาลงมาทั้งสิ้น ไม่มีคัมภีร์พระไตรปิฎกเลย นั่นหมายถึงนักเรียนบาลีในบ้านเราไม่ได้เรียนคัมภีร์พระไตรปิฎก

แต่ละชั้นเรียนคัมภีร์แตกต่างกันไป ดังนี้ –

ประโยค ๑-๒ 

– วิชาแปลมคธเป็นไทย ใช้คัมภีร์ ธมฺมปทฏฺฐกถา ภาค ๑ ถึงภาค ๔

ประโยค ป.ธ. ๓

– วิชาแปลมคธเป็นไทย ใช้คัมภีร์ ธมฺมปทฏฺฐกถา ภาค ๕ ถึงภาค ๘

– วิชาสัมพันธ์ไทย ใช้คัมภีร์ ธมฺมปทฏฺฐกถา ภาค ๕ ถึงภาค ๘

ประโยค ป.ธ. ๔

– วิชาแปลไทยเป็นมคธ ใช้คัมภีร์ ธมฺมปทฏฺฐกถา ภาค ๑

– วิชาแปลมคธเป็นไทย ใช้คัมภีร์ มงฺคลตฺถทีปนี ภาค ๑

ประโยค ป.ธ. ๕

– วิชาแปลไทยเป็นมคธ ใช้คัมภีร์ ธมฺมปทฏฺฐกถา ภาค ๒ ถึงภาค ๔

– วิชาแปลมคธเป็นไทย ใช้คัมภีร์ มงฺคลตฺถทีปนี ภาค ๒

ประโยค ป.ธ. ๖

– วิชาแปลไทยเป็นมคธ ใช้คัมภีร์ ธมฺมปทฏฺฐกถา ภาค ๕ ถึงภาค ๘

– วิชาแปลมคธเป็นไทย ใช้คัมภีร์ ตติยสมนฺตปาสาทิกา (สมนฺตปาสาทิกา ภาค ๓)

ประโยค ป.ธ. ๗

– วิชาแปลไทยเป็นมคธ ใช้คัมภีร์ มงฺคลตฺถทีปนี ภาค ๑

– วิชาแปลมคธเป็นไทย ใช้คัมภีร์ ปฐม-ทุติยสมนฺตปาสาทิกา (สมนฺตปาสาทิกา ภาค ๑ และภาค ๒)

ประโยค ป.ธ. ๘

– วิชาแต่งฉันท์มคธ แต่งฉันท์เป็นภาษามคธ ๓ ฉันท์ ในจำนวน ๖ ฉันท์ คือ :-

         (๑) ปัฐยาวัตร         (๒) อินทรวิเชียร

         (๓) อุเปนทรวิเชียร   (๔) อินทรวงศ์

         (๕) วังสัฏฐะ           (๖) วสันตดิลก

         ข้อความแล้วแต่กรรมการจะกำหนดให้

– วิชาแปลไทยเป็นมคธ ใช้คัมภีร์ ปฐมสมนฺตปาสาทิกา (สมนฺตปาสาทิกา ภาค ๑)

– วิชาแปลมคธเป็นไทย ใช้คัมภีร์ วิสุทฺธิมคฺค ทั้ง ๓ ภาค

ประโยค ป.ธ. ๙

– วิชาแต่งไทยเป็นมคธ ข้อความแล้วแต่กรรมการจะกำหนดให้

– วิชาแปลไทยเป็นมคธ ใช้คัมภีร์ วิสุทฺธิมคฺค ทั้ง ๓ ภาค

– วิชาแปลมคธเป็นไทย ใช้คัมภีร์ อภิธมฺมตฺถวิภาวินี

……………………

หวังว่าต่อไปนี้ เมื่อพูดถึงการเรียนของพระภิกษุสามเณรเราท่านจะมองภาพออกว่าท่านเรียนอะไรกัน

และโดยเฉพาะท่านที่มีศรัทธาสนับสนุนการเรียนบาลี ท่านจะได้รู้ว่า เรียนบาลีท่านสนับสนุนนั้นคือเรียนอะไร

พลเรือตรี ทองย้อย แสงสินชัย

๑ พฤษภาคม ๒๕๖๕

๒๐:๐๙

…………………………………………….

บวชเรียน : เรียนอะไร

ดูโพสต์ในเฟซบุ๊กของครูทองย้อย

……………………………………………

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องข้อมูลจำเป็นถูกทำเครื่องหมาย *