อโคจร (บาลีวันละคำ 388)
อโคจร
บาลีอ่านว่า อะ-โค-จะ-ระ ไทยอ่านว่า อะ-โค-จอน
“อโคจร” ประกอบด้วย อ + โคจร คำหลักอยู่ที่ “โคจร”
“โคจร” แปลตามศัพท์ว่า “ที่โคเที่ยวไป” “เที่ยวไปดังโค” พจน.42 อ้างว่า สันสกฤตแปลว่า “การเที่ยวไปของดวงอาทิตย์”
ความหมายของ “โคจร” คือ –
1 “ที่ซึ่งตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ ท่องเที่ยวไป” = อารมณ์ที่รับรู้
2 สถานที่อันจำจะต้องไปเพื่อการยังชีพ เช่น ที่ภิกษุไปเที่ยวบิณฑบาต เรียกว่า “โคจรคาม” = ที่หากิน
3 บุคคลหรือสถานที่ที่ไปมาหาสู่กันอยู่เสมอ
4 เที่ยวไป, แวะเวียนไป, ดำเนินไปตามวิถี เช่น ดวงดาวโคจร
5 กระบวนการและวิธีการปฏิบัติจิตภาวนาที่ถูกต้อง เช่น มีสติสัมปชัญญะ รู้จักหลีกเว้นสิ่งที่ไม่เหมาะไม่เอื้อ และหมั่นคบคุ้นกับสิ่งอันเอื้อเกื้อกูลเป็นต้น
“โคจร” มี “อ” (อะ) อยู่ข้างหน้าเป็น “อโคจร” มีความหมายว่า บุคคลและสถานที่อันภิกษุไม่ควรไปมาหาสู่ ท่านระบุไว้ 6 ประเภท คือ หญิงแพศยา หญิงหม้าย สาวเทื้อ ภิกษุณี บัณเฑาะก์ (กะเทย) และร้านสุรา
ถามความเห็น :
ผู้อยู่ในฐานะบางฐานะ เช่น สส., สว. หรือรัฐมนตรี ไปเที่ยวในบ่อนการพนัน เข้าข่าย “อโคจร” หรือไม่ ?
บาลีวันละคำ (388)
6-6-56
คำจำกัดความนอกเฟรม
โคจร คือ สถานที่อันจำจะต้องไปเพื่อการยังชีพ, สถานที่ที่จะพึงไปกระทำกิจอันควรแก่สถานะแห่งตน
๑ โคจร = อารมณ์ (ศัพท์วิเคราะห์)
คาโว อินฺทฺริยานิ จรนฺติ เอตฺถาติ โคจโร ที่เป็นที่เที่ยวไปแห่งอินทรีย์
โค บทหน้า จร ธาตุ ในความหมายว่าเที่ยวไป อ ปัจจัย
๒ โคจร = ทุ่งหญ้า, ที่หากินของโค
คาโว จรนฺติ เอตฺถาติ โคจโร ที่เป็นที่ท่องเที่ยวไปแห่งโค คือทุ่งหญ้า
โค บทหน้า จร ธาตุ ในความหมายว่าเที่ยวไป อ ปัจจัย
๓ โคจร = การท่องเที่ยว
โคมฺหิ ปฐวิยํ จรณํ โคจโร การท่องเที่ยวไปบนแผ่นดิน (โค + จร)
๔ โคจร = ที่สัญจรของภิกษุ
คาโว จรนฺติ เอตฺถาติ โคจโร, โส วิยาติ โคจโร ที่ที่เหมือนกับที่ท่องเที่ยวไปแห่งโค (โค + จร + ณ)
โคจร (บาลี-อังกฤษ)
๑ (คำแปลตามตัว)
ก (นาม.ปุง.) ทุ่งหญ้า, แปลตามตัวว่า “การเที่ยวกินหญ้าของโค”, การแสวงหาอาหาร, หญ้าสำหรับให้สัตว์กิน, อาหาร, การยังชีพ
(ก) (พูดถึงสัตว์) ไปหากิน, ไปกินหญ้า
(ข) (อุปมา) (พูดถึงบุคคล โดยเฉพาะภิกษุ) สถานที่ที่ควรไป (อ- สถานที่ที่ไม่ควรไป)
ข (คุณ.) ยังชีพด้วย..หรือ ใน.., อาศัยอยู่ (อุปมา) เกี่ยวข้อง, สมาคมกับ..
๒ (คำแปลประยุกต์)
ก (นาม.ปุง.หรือ นปุง.) “ขอบเขต” (พูดถึงการรับรู้อารมณ์ ฯลฯ), วิสัย, อารมณ์, อาหาร
ข (จริยศาสตร์) ทางดำเนิน (เช่น อริยานํ โคจเร รตา)
โคจร ป.(พจนานุกรมศัพท์บาลี)
ทุ่งเลี้ยงวัว, อาหารวัว, อาหาร, อารมณ์, ที่ควรเที่ยวไป.
โคจร (ประมวลศัพท์)
“ที่โคเที่ยวไป”, “เที่ยวไปดังโค”;
1. ที่ซึ่งอินทรีย์ทั้งหลาย มีตาเป็นต้น ท่องเที่ยวไป ได้แก่ อารมณ์
2. สถานที่ที่เที่ยวไปเสมอ หรือไปเป็นประจำ เช่น ที่ภิกษุไปเที่ยวบิณฑบาต, บุคคลหรือสถานที่ที่ไปมาหาสู่
3. เที่ยวไป, แวะเวียนไป, ดำเนินไปตามวิถี เช่น ดวงดาวโคจร; การดำเนินไปในวิถีแห่งการปฏิบัติ เช่น ในการเจริญสมาธิ ซึ่งจะก้าวไปด้วยดีได้ ต้องมีสติสัมปชัญญะที่จะให้รู้จักหลีกเว้นธรรมที่ไม่เหมาะไม่เอื้อ และเสพธรรมอันเอื้อเกื้อกูล เป็นต้น
อโคจร
บุคคลและสถานที่อันภิกษุไม่ควรไปมาหาสู่ มี ๖ คือ หญิงแพศยา หญิงหม้าย สาวเทื้อ ภิกษุณี บัณเฑาะก์ (กะเทย) และร้านสุรา
โคจร, โคจร-
[-จอน, -จะระ-] น. อารมณ์ เช่น มีพุทธานุสติเป็นโคจร. (ป., ส.).ก. เดินไปตามวิถี เช่น ดวงอาทิตย์โคจร ดวงจันทร์โคจรรอบโลก, เที่ยว เช่น โคจรมาพบกัน, คํานี้โดยมากใช้แก่ดาวนพเคราะห์, เมื่อว่าเฉพาะทางที่พระอาทิตย์โคจร มีจุดสุดอยู่ ๖ แห่งที่อยู่ตรงข้ามกันเป็นคู่ ๆ คือ ครีษมายัน กับ เหมายัน คู่หนึ่ง, วสันตวิษุวัต กับ ศารทวิษุวัต คู่หนึ่ง, พสุสงกรานต์ ๒ แห่ง คู่หนึ่ง. (ป., ส. โคจร ว่า การเที่ยวไปของดวงอาทิตย์).
โคจรคาม
[โคจะระ-] น. หมู่บ้านที่ภิกษุไปบิณฑบาตเสมอ.