สมพงศ์ (บาลีวันละคำ 1,884)
สมพงศ์
คุ้นหน้าจนแปลไม่เป็น
อ่านว่า สม-พง
แยกศัพท์เป็น สม + พงศ์
(๑) “สม”
“สม” ในที่นี้มีที่มาได้ 3 นัย คือ –
นัย 1 มาจากศัพท์ว่า “สม” (สะ-มะ) รากศัพท์มาจาก สมฺ (ธาตุ = ห้อย, ย้อย) + อ ปัจจัย
: สมฺ + อ = สม แปลตามศัพท์ว่า “ภาวะที่ห้อยอยู่” (คืออยู่เคียงคู่กัน)
“สม” ในบาลีเป็นคุณศัพท์ (ถ้าเป็นนาม เป็นปุงลิงค์) ใช้ในความหมายดังนี้ –
(1) เรียบ, ได้ระดับ (even, level)
(2) เหมือนกัน, เสมอกัน, อย่างเดียวกัน (like, equal, the same)
(3) เที่ยงธรรม, ซื่อตรง, มีจิตไม่วอกแวก, ยุติธรรม (impartial, upright, of even mind, just)
: สม + วํส = สมวํส (สะ-มะ-วัง-สะ) แปลว่า “วงศ์ที่สมกัน”
นัย 2 คำเดิมมาจาก “สํ” (สัง) เป็นคำอุปสรรค ตำราบาลีไทยแปลว่า “พร้อม, กับ, ดี” หมายถึง พร้อมกัน, ร่วมกัน (together) แปลงนิคหิตเป็น มฺ (มะ), แปลง ว ที่ วํส เป็น พ (วํส > พํส)
: สํ > สมฺ + วํส > พํส = สมฺพงฺส (สำ-พัง-สะ) แปลว่า “มีวงศ์ร่วมกัน” คือร่วมวงศ์กัน, รวมเป็นวงศ์เดียวกัน
นัย 3 คำเดิมมาจาก “ส” (สะ) แปลว่า “ของตน” (own) ลงนิคหิตอาคมแล้วแปลงนิคหิตเป็น มฺ (มะ), แปลง ว ที่ วํส เป็น พ (วํส > พํส)
: ส > สํ > สมฺ + วํส > พํส = สมฺพงฺส (สำ-พัง-สะ) แปลว่า “วงศ์ตระกูลของตน” เช่นในคาถาวรรคหนึ่งในดวงตรามหาจักรีที่ว่า “สมฺพํเส จ มมายนํ” (สัมพังเส จะ มะมายะนัง) แปลว่า “ความนับถือรักใคร่ในวงศ์ตระกูลของตน” [ดูเพิ่มเติม: “คาถาในดวงตรามหาจักรี” บาลีวันละคำ(1,622) 12-11-59]
(๒) “พงศ์”
บาลีเป็น “วํส” (วัง-สะ) รากศัพท์มาจาก –
(1) วนฺ (ธาตุ = คบหา) + ส ปัจจัย, แปลง นฺ (ที่ (ว)-นฺ เป็นนิคหิต (วนฺ > วํ)
: วนฺ + ส = วนส > วํส แปลตามศัพท์ว่า “เชื้อสายที่แผ่ออกไป” (คือเมื่อ “คบหา” กันต่อๆ ไป คนที่รู้จักกันก็ขยายตัวเพิ่มขึ้น)
(2) วสฺ (ธาตุ = อยู่) + อ ปัจจัย, ลงนิคหิตอาคมที่ต้นธาตุ (วสฺ > วํส)
: วสฺ + อ = วส > วํส แปลตามศัพท์ว่า “อยู่รวมกัน”
“วํส” ในบาลีใช้ในความหมายว่า –
(1) ไม้ไผ่ (a bamboo)
(2) เชื้อชาติ, เชื้อสาย, วงศ์ตระกูล (race, lineage, family)
(3) ประเพณี, ขนบธรรมเนียมที่สืบต่อกันมา, ทางปฏิบัติที่เป็นมา, ชื่อเสียง (tradition, hereditary custom, usage, reputation)
(4) ราชวงศ์ (dynasty)
(5) ขลุ่ยไม้ไผ่, ขลุ่ยผิว (a bamboo flute, fife)
(6) กีฬาชนิดหนึ่งซึ่งอุปกรณ์การเล่นทำด้วยไม้ไผ่ (a certain game)
ในที่นี้ “วํส” มีความหมายตามข้อ (2)
: สม + วํส = สมวํส (สะ-มะ-วัง-สะ)
: สมฺ + วํส > พํส = สมฺพํส > สมฺพงฺส (สำ-พัง-สะ)
“สมวํส” หรือ “สมฺพงฺส” ใช้ในภาษาไทยเป็น “สมพงศ์”
พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2554 บอกไว้ว่า –
“สมพงศ์ : (คำนาม) การร่วมวงศ์หรือตระกูลกัน, (คำที่ใช้ในโหราศาสตร์) วิธีคํานวณว่าหญิงชายที่จะเป็นคู่ครองกันมีชะตาต้องกันหรือไม่.”
…………..
อภิปราย :
คนแต่ก่อน (หรือแม้แต่สมัยนี้) เวลาจะหาคู่ครอง-โดยเฉพาะพ่อแม่หาคู่ครองให้ลูก-จะเอาดวงชะตาของชายหญิงนั้นมาให้หมอดูคำนวณว่าดวงสมพงศ์กันหรือไม่ และเชื่อกันว่าถ้าดวงไม่สมพงศ์กันก็จะอยู่ด้วยกันไม่ยืด
พระพุทธศาสนามีหลักธรรมชุดหนึ่ง เรียกว่า “สมชีวิธรรม” แปลว่า หลักธรรมที่ทำให้ชีวิตคู่ควรกัน
พจนานุกรมพุทธศาสตร์ ฉบับประมวลธรรม ของท่าน ป.อ. ปยุตฺโต ข้อ [183] นำ “สมชีวิธรรม” จากคัมภีร์อังคุตรนิกาย จตุกนิบาต พระไตรปิฎกเล่ม 21 ข้อ 55 มาแสดงไว้ดังนี้ –
…………
สมชีวิธรรม 4 (หลักธรรมของคู่ชีวิต, ธรรมที่จะทำให้คู่สมรสมีชีวิตสมหรือสม่ำเสมอกลมกลืนกัน อยู่ครองกันยืดยาว — Samajīvidhamma: qualities which make a couple well matched)
1. สมสัทธา (มีศรัทธาสมกัน — Sama-saddhā: to be matched in faith)
2. สมสีลา (มีศีลสมกัน — Sama-sīlā: to be matched in moral conduct)
3. สมจาคา (มีจาคะสมกัน — Sama-cāgā: to be matched in generosity)
4. สมปัญญา (มีปัญญาสมกัน — Sama-paññā: to be matched in wisdom)
…………
ขยายความตามสำนวนผู้เขียนบาลีวันละคำว่า
๑. สมสัทธา = ศรัทธาสมกัน คือมีความเชื่อ-เลื่อมใสในแนวทางเดียวกัน
๒. สมสีลา = ศีลสมกัน คือมีความประพฤติดีงามเสมอกัน
๓. สมจาคา = จาคะสมกัน คือมีน้ำใจเอื้ออารีเท่าเทียมกัน (ไม่ใช่ประเภท “ญาติข้างเมียต้อนรับถึงก้นครัว ญาติข้างผัวต้อนรับแค่ประตูรั้วบ้าน” หรือ “เมียให้ไปร้อย ผัวว่าน้อยๆ หน่อยก็ได้” อะไรประมาณนี้)
๔. สมปัญญา = ปัญญาสมกัน คือมีหลักในการคิด-ตัดสินใจ-วินิจฉัยปัญหาโดยใช้เหตุผลสอดคล้องกัน
…………..
ดูก่อนภราดา!
: บำเพ็ญสมชีวิธรรมให้มั่นคง
: ดวงก็สมพงศ์ทันที
6-8-60