หัสดีลิงค์ (บาลีวันละคำ 3,548)
หัสดีลิงค์
“นกมีเพศเพียงดังเพศแห่งช้าง” นกอะไร?
อ่านว่า หัด-สะ-ดี-ลิง
ประกอบด้วยคำว่า หัสดี + ลิงค์
(๑) “หัสดี”
บาลีเป็น “หตฺถี” (หัด-ถี) รากศัพท์มาจาก หตฺถ + อี ปัจจัย
(ก) “หตฺถ” (หัด-ถะ) รากศัพท์มาจาก –
(1) หสฺ (ธาตุ = ร่าเริง) + ถ ปัจจัย, แปลง สฺ ที่สุดธาตุเป็น ตฺ (หสฺ > หตฺ)
: หสฺ + ถ = หสฺถ > หตฺถ แปลตามศัพท์ว่า “อวัยวะเป็นเครื่องเล่นสนุก” (เช่นใช้ปรบ ฟ้อนรำ) = มือ “อวัยวะเป็นที่เล่นสนุก” = ศอก
(2) หนฺ (ธาตุ = เบียดเบียน) + ถ ปัจจัย, แปลง นฺ ที่สุดธาตุเป็น ตฺ (หนฺ > หตฺ)
: หนฺ + ถ = หนฺถ > หตฺถ แปลตามศัพท์ว่า (1) “อวัยวะเป็นเครื่องเบียดเบียนอวัยวะอื่น” (เช่นเกา ตบตี) = มือ (2) “เป็นที่ไปถึงแห่งอวัยวะทั้งหลาย” (หมายถึงมือเอื้อมถึง) = มวยผม
(3) หรฺ (ธาตุ = นำไป) + ถ ปัจจัย, แปลง รฺ ที่สุดธาตุเป็น ตฺ (หรฺ > หตฺ)
: หรฺ + ถ = หรฺถ > หตฺถ แปลตามศัพท์ว่า “อวัยวะเป็นเครื่องนำของไป” = มือ
(4) หตฺถ (มือ) + ณ ปัจจัย, ลบ ณ
: หตฺถ + ณ = หตฺถณ > หตฺถ แปลตามศัพท์ว่า “อวัยวะที่เหมือนมือเพราะทำหน้าที่มือให้สำเร็จประโยชน์ได้” = งวงช้าง
พจนานุกรมบาลี-อังกฤษ แปล “หตฺถ” ดังนี้ –
(1) hand (มือ)
(2) the hand as measure, a cubit (มือในฐานเป็นเครื่องวัด, ระยะหนึ่งศอก)
(3) a handful, a tuft of hair (เต็มมือ, ปอยผม)
ในภาษาไทย พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2554 บอกไว้ว่า –
“หัตถ-, หัตถ์ : (คำนาม) มือ; ศอกหนึ่ง; งวงช้าง. (ป.; ส. หสฺต).”
(ข) หตฺถ + อี ปัจจัย
: หตฺถ + อี = หตฺถี แปลตามศัพท์ว่า “สัตว์ที่มีมือ” “สัตว์ที่ประกอบด้วยมือ” หมายถึง ช้าง (an elephant)
บาลี “หตฺถี” ไทยใช้อิงสันสกฤตเป็น “หัสดิน” “หัสดี”
พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2554 บอกไว้ว่า –
“หัสดิน, หัสดี : (คำนาม) ช้าง. (ส. หสฺตินฺ, หสฺติ; ป. หตฺถี).”
พจนานุกรมฯ บอกว่าคำนี้สันสกฤตเป็น “หสฺตินฺ” และ “หสฺติ”
สํสกฤต-ไท-อังกฤษ อภิธาน เก็บไว้ทั้ง 2 คำ บอกไว้ดังนี้ –
(สะกดตามต้นฉบับ)
(1) หสฺตินฺ : (คำนาม) ‘หัสดิน’ ช้าง; นางช้าง; นารีหรือสตรี, นารีหนึ่งในสี่จำพวกที่ท่านจัดไว้, และท่านพรรณนาไว้ว่ามีร่างต่ำเตี้ย, มีนิสสัยเปนคนเจ้าเนื้อหรือหนักเนื้อ, มีผมหงิกงอ, มีผิวดำ, หนักในกาม, และในความโกรธ; โอษธและสุคนธ์; an elephant; a female elephant; one of the four kinds in to which they are classified, and described as of low stature, corpulent habits, curly hair, dark complexion, libidinous appetite, and furious passions, a drug and perfume.
(2) หสฺติ : (คำนาม) ‘หัสดิ, หัสดิ์,’ ช้าง; an elephant
โปรดสังเกตว่า “หสฺตินฺ” ในสันสกฤตไม่ได้แปลว่าช้างอย่างเดียว ยังแปลว่า นารี หรือสตรี อีกด้วย
(๒) “ลิงค์”
บาลีเป็น “ลิงฺค” อ่านว่า ลิง-คะ รากศัพท์มาจาก –
(1) ลิงฺคฺ (ธาตุ = ไป, ถึง, เป็นไป) + อ (อะ) ปัจจัย
: ลิงฺคฺ + อ = ลิงฺค แปลตามศัพท์ว่า “อวัยวะเป็นเครื่องถึงการจำแนกว่าเป็นหญิงเป็นชาย”
(2) ลีน (ที่ลับ) + องฺค (อวัยวะ), ลบ น ที่ (ลี)-น, รัสสะ อี เป็น อิ (ลี > ลิ)
: ลีน + องฺค = ลีนงฺค > ลินงฺค > ลิงฺค แปลตามศัพท์ว่า “อวัยวะที่ลับ”
(3) ลีน (ที่ลับ) + คมฺ (ธาตุ = ไป, ถึง, เป็นไป) + ณ ปัจจัย, ลบ ณ, ลบ น ที่ (ลี)-น, รัสสะ อี เป็น อิ (ลี > ลิ), ซ้อน งฺ ระหว่าง ลีน + คมฺ, ลบ มฺ ที่สุดธาตุ
: ลีน > ลิน > ลิ + งฺ = ลิงฺ + คมฺ = ลิงฺคม + ณ = ลิงฺคมฺณ > ลิงฺคม > ลิงฺค แปลตามศัพท์ว่า “สิ่งที่ยังส่วนที่ลี้ลับให้ถึงความแจ่มแจ้ง”
“ลิงฺค” ในบาลีใช้ในความหมายดังนี้ –
(1) ลักษณะ, เครื่องหมาย, นิมิต, ที่สังเกตรูปลักษณะ (characteristic, sign, attribute, mark, feature)
(2) เครื่องหมายเพศ, องคชาต, อวัยวะเพศ (mark of sex, sexual characteristic, pudendum)
(3) (คำในไวยากรณ์) เพศ, คำลงท้ายที่แสดงลักษณะ, ลิงค์ (mark of sex, characteristic ending, gender)
ในภาษาไทย พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2554 บอกไว้ว่า –
“ลิงค์ : (คำนาม) เครื่องหมายเพศ; ประเภทคําในไวยากรณ์ที่บอกให้รู้ว่าคํานั้นเป็นเพศอะไร เช่น ปุงลิงค์ คือ เพศชาย อิตถีลิงค์ คือ เพศหญิง; ลึงค์ ก็ว่า. (ป., ส.).”
หตฺถิ + ลิงฺค = หตฺถิลิงฺค (หัด-ถิ-ลิง-คะ) แปลว่า “เพศแห่งช้าง” เป็นคำคุณศัพท์ขยายคำว่า “นก” คือเป็นชื่อนกชนิดหนึ่ง
“หตฺถิลิงฺค” ใช้ในภาษาไทยเป็น “หัสดีลิงค์”
พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2554 บอกไว้ว่า –
“หัสดีลิงค์ : (คำนาม) นกในวรรณคดีมีจะงอยปากยาวคล้ายงวงช้าง.”
นกชนิดนี้คำบาลีเรียกเต็มว่า “หตฺถิลิงฺคสกุณ” (หัด-ถิ-ลิง-คะ-สะ-กุ-นะ) แปลตามศัพท์ว่า “นกมีเพศเพียงดังเพศแห่งช้าง” หมายถึงมีลักษณะบางอย่างคล้ายช้าง ดังที่พจนานุกรมฯ บอกว่า “มีจะงอยปากยาวคล้ายงวงช้าง”
“หตฺถิลิงฺคสกุณ” แปลเป็นไทยแบบทับศัพท์ตรงตัวว่า “นกหัสดีลิงค์”
ขยายความ :
วิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี (อ่านเมื่อ 28 กุมภาพันธ์ 2565 เวลา 20:30) มีคำว่า “นกหัสดีลิงค์” บรรยายความตอนหนึ่ง ดังนี้
…………..
คัมภีร์อรรถกถาธรรมบท ภาค 2 ระบุว่า นกหัสดีลิงค์เป็นนกขนาดใหญ่อาศัยอยู่ในป่าหิมพานต์ มีลักษณะผสมของสัตว์สี่ชนิด ดังนี้ ลำตัวเป็นนก ใบหน้าเป็นสิงห์ จะงอยปากเป็นงวงช้างเขี้ยวหน้าเป็นงา มีหางเป็นหงส์ มีพละกำลังดั่งช้างเอราวัณ 3–5 เชือกรวมกัน
หนังสือไตรภูมิ บรรยายลักษณะของนกหัสดีลิงค์ว่า ลำตัวเป็นหงส์ หัวเป็นช้าง ทำหน้าที่คาบซากศพไปทิ้ง เพื่อมิให้ดินแดนอุตรกุรุทวีปสกปรก
…………..
ผู้สนใจ-โดยเฉพาะนักเรียนบาลี-พึงศึกษาสอบสวนรายละเอียดเพิ่มเติมเพื่อเป็นอลังการแห่งความรู้ต่อไป
โดยเฉพาะที่บอกว่า “คัมภีร์อรรถกถาธรรมบท ภาค 2 ระบุว่า…” นั้น นักเรียนบาลีควรตรวจสอบว่าคัมภีร์อรรถกถาธรรมบท ภาค 2 ระบุไว้เช่นนั้นจริงหรือเปล่า ทั้งนี้เพราะคัมภีร์อรรถกถาธรรมบทเป็นคัมภีร์ที่เป็นแบบเรียนของนักเรียนบาลี
…………..
ดูก่อนภราดา!
: อย่ามัวแต่สงสัยว่านกหัสดีลิงค์มีจริงหรือไม่
: จนลืมไปว่าความตายมีอยู่จริง
และควรทำอะไรให้สำเร็จก่อนตาย
#บาลีวันละคำ (3,548)
28-2-65
………………………………………
………………………………………