เณรโค่ง (บาลีวันละคำ 3,546)
เณรโค่ง
เณรอะไร?
พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2554 บอกไว้ว่า –
(1) โค่ง ๑ : (คำวิเศษณ์) โตหรืออายุมากกว่าเพื่อน.
(2) โค่ง ๒ : (คำนาม) คําเรียกผู้บรรพชาเป็นสามเณรมาจนอายุครบอุปสมบทเป็นภิกษุแต่ไม่ยอมอุปสมบทว่า เณรโค่ง.
เป็นอันได้ความว่า “เณรโค่ง” คือสามเณรที่อายุครบบวชเป็นพระแล้วแต่ยังไม่ได้บวช
คำที่พจนานุกรมฯ ว่า “แต่ไม่ยอมอุปสมบท” ฟังเป็นว่า พร้อมที่บวชเป็นพระแล้วทุกประการ แต่ดื้อ ไม่ยอมบวช
ตามที่เป็นจริงนั้น อายุครบบวชแล้ว แต่อาจมีข้อขัดข้องอย่างอื่นด้วย จึงยังไม่ได้บวช ไม่ใช่ว่าดื้อ ไม่ยอมบวช
แต่อย่างไรก็ตาม คำว่า “เณรโค่ง” ในความรู้สึกของชาววัดมักมีความหมายเอนเอียงไปในทางลบหน่อยๆ
นักเรียนบาลีที่คุ้นกับคำบาลีดีสักหน่อยย่อมจะพอนึกออกว่า เมื่อเจอศัพท์ว่า “สมณุทฺเทส” เราก็จะแปลว่า “เณรโค่ง”
“สมณุทฺเทส” อ่านว่า สะ-มะ-นุด-เท-สะ แยกศัพท์เป็น สมณ + อุทฺเทส
(๑) “สมณ”
อ่านว่า สะ-มะ-นะ รากศัพท์มาจาก สมฺ (ธาตุ = สงบ) + ยุ ปัจจัย, แปลง ยุ เป็น อน (อะ-นะ), แปลง น เป็น ณ
: สมฺ + ยุ > อน = สมน > สมณ แปลตามศัพท์ว่า “ผู้สงบจากบาปด้วยประการทั้งปวงด้วยอริยมรรค” หรือแปลสั้นๆ ว่า “ผู้สงบ” หมายถึง นักบวช, ภิกษุ, บรรพชิต
พจนานุกรมบาลี-อังกฤษ แปล “สมณ” ว่า a wanderer, recluse, religieux (นักบวช, ฤๅษี, สมณะ)
พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2554 บอกไว้ว่า –
“สมณ-, สมณะ : (คำนาม) ผู้สงบกิเลสแล้ว โดยเฉพาะหมายถึงภิกษุในพระพุทธศาสนา. (ป.; ส. ศฺรมณ).”
(๒) “อุทฺเทส”
อ่านว่า อุด-เท-สะ (โปรดสังเกตว่า มี ท 2 ตัว จุดใต้ ทฺ ตัวหน้า และสะกดด้วย ส เสือ) รากศัพท์มาจาก อุ (คำอุปสรรค = ขึ้น, นอก) + ทิส (ธาตุ = แสดง, ชี้แจง) + อ (อะ) ปัจจัย (นัยหนึ่งว่า ณ ปัจจัย, ลบ ณ), ซ้อน ทฺ ระหว่างอุปสรรคกับธาตุ (อุ + ทฺ + ทิสฺ), แผลง อิ ที่ ทิ-(สฺ) เป็น เอ (ทิสฺ > เทส)
: อุ + ทฺ + ทิสฺ = อุทฺทิสฺ + อ (หรือ ณ, ลบ ณ) = อุทฺทิส > อุทฺเทส แปลตามศัพท์ว่า “สิ่งที่ยกขึ้นแสดง”
“อุทฺเทส” (ปุงลิงค์) ในบาลีใช้ในความหมายดังนี้ –
(1) การชี้ให้เห็น, การยกขึ้นชี้แจง, อุเทศ, การอธิบาย, การชี้บอก, กำหนดการ (pointing out, setting forth, proposition, exposition, indication, programme)
(2) การอธิบาย (explanation)
(3) การกล่าวแสดงหรือเสนอ, การสวด, การสาธยายหรือกล่าวซ้ำ (propounding, recitation, repetition)
บาลี “อุทฺเทส” ภาษาไทยใช้อิงสันสกฤตเป็น “อุเทศ”
พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2554 บอกไว้ว่า –
“อุเทศ : (คำนาม) การยกขึ้นแสดง, การยกขึ้นชี้แจง. (คำวิเศษณ์) ที่ยกขึ้นแสดง, ที่ยกขึ้นชี้แจง; ที่อ้างอิง เช่น หนังสืออุเทศ. (ส. อุทฺเทศ; ป. อุทฺเทส).”
สมณ + อุทฺเทส = สมณุทฺเทส (สะ-มะ-นุด-เท-สะ) แปลตามศัพท์ว่า “ผู้ควรแสดงได้ว่านี้เป็นสมณะเพราะมีเพศและอาจาระของสมณะ”
พจนานุกรมบาลี-อังกฤษ ที่คำว่า สมณ + อุทฺเทส (สมณุทฺเทส) แปล ว่า a novice, a sāmaṇera (สมณุเทศ, สามเณร)
และที่คำว่า อุทฺเทส (สมณุทฺเทส) บอกไว้ว่า samaṇuddesa one marked as a Samaṇa, a novice (สมณุทฺเทส ผู้ที่กำหนดจะให้เป็นสมณะ, ผู้ที่อยู่ในระหว่างฝึกเพื่อจะเป็นพระ, สามเณร)
พจนานุกรมพุทธศาสน์ ฉบับประมวลศัพท์ ของท่าน ป.อ. ปยุตฺโต บอกไว้สั้นๆ ว่า “สมณุทเทส, สมณุเทศ : สามเณร”
สรุปสั้นๆ “สมณุทฺเทส” หมายถึง สามเณร
โปรดสังเกตว่า “สมณุทฺเทส” ตามคำแปลดังแสดงมานี้หมายถึง “สามเณร” เท่านั้น ไม่ได้จำกัดหรือระบุชัดลงไปว่า เป็นสามเณรที่มีอายุครบบวชเป็นพระแล้ว
ทำให้สันนิษฐานว่า ที่นักเรียนบาลีแปล “สมณุทฺเทส” ว่า “เณรโค่ง” และเข้าใจกันว่าเป็นสามเณรที่มีอายุครบบวชเป็นพระแล้วแต่ยังไม่ได้บวชนั้น น่าจะเป็นความหมายโดยเฉพาะตามความเข้าใจของนักเรียนบาลีไทย
น่าศึกษาสืบค้นว่า ในคัมภีร์บาลีมีคำอธิบายที่จำกัดความ “สมณุทฺเทส” แบบเดียวกับความเข้าใจของพวกเราด้วยหรือเปล่า ถ้ามี ก็ได้ความรู้ว่าเราไม่ได้ตีความหมายเอาเอง แต่ถ้าไม่มี ก็น่าสงสัยว่าเราเอาคำว่า “เณรโค่ง” มาแปลคำว่า “สมณุทฺเทส” ได้อย่างไร
คำว่า “สมณุทฺเทส” ในภาษาไทยเขียนได้ ๒ แบบ :
เขียนเป็น “สมณุทเทส” สะกดตรงตามบาลี แต่ไม่ต้องมีจุดใต้ ท ตัวหน้า ก็ได้ อ่านว่า สะ-มะ-นุด-เทด
เขียนเป็น “สมณุเทศ” ท ตัวเดียว สะกดด้วย ศ ศาลา ก็ได้ อ่านว่า สะ-มะ-นุ-เทด
ทั้งนี้ว่าตามที่ปรากฏในพจนานุกรมพุทธศาสน์ ฉบับประมวลศัพท์ ของท่าน ป.อ. ปยุตฺโต
“สมณุทเทส” หรือ “สมณุเทศ” ยังไม่มีเก็บไว้พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2554 และน่าจะยังไม่เป็นที่คุ้นเคยกันในภาษาไทย
…………..
ดูก่อนภราดา!
: บวชเป็นพระไม่ยาก
: แต่รักษาวิถีชีวิตพระไม่ง่าย
#บาลีวันละคำ (3,546)
26-2-65
………………………………………
………………………………………