ชังฆบิณฑิ์ (บาลีวันละคำ 3,227)
ชังฆบิณฑิ์
หากินด้วยลำแข้ง
อ่านว่า ชัง-คะ-บิน
ประกอบด้วยคำว่า ชังฆ + บิณฑิ์
(๑) “ชังฆ”
เขียนแบบบาลีเป็น “ชงฺฆ” (ชัง-คะ) รูปคำเดิมเป็น “ชงฺฆา” (ชัง-คา) รากศัพท์มาจาก ชนฺ (ธาตุ = เกิด, ปรากฏ) + ฆ ปัจจัย, ลงนิคหิตอาคมที่ต้นธาตุแล้วแปลงเป็น งฺ และลบที่สุดธาตุ (ชนฺ > ชํนฺ > ชงฺน > ชงฺ) + อา ปัจจัยเครื่องหมายอิตถีลิงค์
: ชนฺ + ฆ = ชนฺฆ > ชํนฺฆ > ชงฺนฆ > ชงฺฆ + อา = ชงฺฆา
หรือ –
: ชนฺ > ช > ชํ > ชงฺ + ฆ = ชงฺฆ + อา = ชงฺฆา
“ชงฺฆา” แปลตามศัพท์ว่า “อวัยวะเป็นเครื่องให้เกิดการเดิน” หมายถึง แข็ง, ลำแข้ง
พจนานุกรมบาลี-อังกฤษ แปล “ชงฺฆา” ว่า the leg, usually the lower leg [from knee to ankle] (ขา, ตามปกติ แข้ง [จากหัวเข่าถึงข้อเท้า])
บาลี “ชงฺฆา” ในภาษาไทยใช้เป็น “ชังฆ” พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2554 บอกไว้ว่า –
“ชังฆ– : (คำแบบ) (คำนาม) ชงฆ์, แข้ง. (ป., ส.).”
“ชังฆ” หรือ “ชงฆ์” คำนี้ก็คือที่ราชาศัพท์ใช้ว่า “พระชงฆ์”
(๒) “บิณฑิ์”
รูปคำเดิมในบาลีเป็น “ปิณฺฑิ” (ปิน-ดิ) รากศัพท์มาจาก ปิณฺฑฺ (ธาตุ = รวบรวม, ทำให้เป็นกอง) + อิ ปัจจัย
: ปิณฺฑฺ + อิ = ปิณฺฑิ (อิตถีลิงค์) แปลตามศัพท์ว่า “สิ่งอันเขารวมกัน” หมายถึง ก้อน, มวลสารกลมๆ, ลูกกลม, กลุ่ม, หมู่ (a lump, round mass, ball, cluster)
ขยายความ :
คำว่า “ปิณฺฑิ” ที่แปลตามศัพท์ว่า “สิ่งอันเขารวมกัน” มีรากศัพท์เดียวกับ “ปิณฺฑ” ที่เราแปลกันว่า “ก้อนข้าว” อย่างที่คุ้นกันในคำว่า “บิณฑบาต” แต่ในที่นี้ไม่ได้หมายถึง “ก้อนข้าว” หากแต่หมายถึง “ก้อนเนื้อ” หรือ “กล้ามเนื้อ” อย่างคำที่เราพูดกันว่า กล้ามเนื้อเป็นมัดๆ
หลักข้อหนึ่งใน 4 หลักแห่งการดำรงชีวิตของภิกษุที่พระอุปัชฌาย์ปฐมนิเทศให้ฟังตั้งแต่วันแรกที่บวชก็คือ “ปิณฺฑิยาโลปโภชนํ นิสฺสาย ปพฺพชฺชา” ถอดความว่า “ชีวิตนักบวชในพระพุทธศาสนาอาศัยโภชนะคือคำข้าวอันหามาได้ด้วยกำลังปลีแข้ง”
“ปิณฺฑิยาโลป-” ในคำนั้นก็เป็นคำเดียวกับ “ปิณฺฑิ” ในที่นี้ (ปิณฺฑิ + อาโลป)
ชงฺฆ + ปิณฺฑิ = ชงฺฆปิณฺฑิ (ชัง-คะ-ปิน-ดิ) แปลว่า “กล้ามเนื้อที่แข้ง”
“ชงฺฆปิณฺฑิ” เขียนแบบไทยเป็น “ชังฆบิณฑิ” อ่านว่า ชัง-คะ-บิน-ดิ แต่ในที่นี้ประสงค์จะให้ออกเสียงสะดวกแก่ลิ้นไทย จึงใส่เครื่องหมายทัณฑฆาตที่ ฑิ เป็น “ชังฆบิณฑิ์” อ่านว่า ชัง-คะ-บิน ถอดความเป็นคำไทยว่า “ลำแข้ง”
พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2554 บอกความหมายของคำว่า “ลำแข้ง” ไว้ว่า –
“ลำแข้ง : (คำนาม) กำลังความสามารถในการทำมาหากินด้วยตนเองไม่ต้องพึ่งใคร เช่น หากินด้วยลำแข้งของตนเองจนมั่งมี, ปลีแข้ง ก็ว่า.”
อันที่จริง “ปิณฺฑิ” หรือ “บิณฑิ” หรือ “ปิณฺฑิย” คำเดียวนักเรียนบาลีก็นิยมแปลว่า “ปลีแข้ง” อยู่แล้ว ในที่นี้เติม “ชังฆ” เข้าข้างหน้าเพื่อระบุให้ชัดเจนเด็ดขาดลงไปว่าไม่ใช่ “ปลี” หรือกล้ามเนื้อส่วนอื่นของร่างกาย หากแต่เจาะจงลงไปที่ “แข้ง” หรือขาเลยทีเดียว (คำไทยมักพูดควบกันว่า “แข้งขา” หรือ “ขาแข้ง”)
มีหลักฐานในคัมภีร์มโนรถปูรณี ภาค 2 หน้า 459 อรรถกถาอังคุตรนิกาย อธิบายสันตุฏฐิสูตร ไขความคำว่า “ปิณฺฑิยาโลปโภชนํ” (โภชนะคือคำข้าวอันหามาได้ด้วยกำลังปลีแข้ง) ด้วยข้อความว่า “ชงฺฆปิณฺฑิยพเลน จริตฺวา อาโลปมตฺตํ ลทฺธโภชนํ” แปลว่า “โภชนะคือคำข้าวที่ได้มาด้วยการเดินไปด้วยกำลังลำแข้ง”
เพราะฉะนั้น ถ้านักเรียนบาลีถามกันว่า คำไทยว่า “ลำแข้ง” บาลีใช้ว่าอย่างไร ก็ตอบได้ด้วยความมั่นใจว่า “ชงฺฆปิณฺฑิ” หรือ “ชงฺฆปิณฺฑิย” แต่งตัวเป็นไทยๆ ว่า “ชังฆบิณฑิ์” อ่านสบายๆ ว่า ชัง-คะ-บิน
เรียนบาลีเอาบาลีมาสร้างเป็นคำไทยฝากไว้ในวงวรรณอีกคำหนึ่ง
…………..
ดูก่อนภราดา!
: หากินด้วยลำแข้งช่วยให้รอดชีวิต
: หากินโดยสุจริตช่วยให้รอดนรก
#บาลีวันละคำ (3,227)
13-4-64