รัฐชาติ (บาลีวันละคำ 1,442)
รัฐชาติ
————-
นักวิชาการชี้ พุทธไทยคือพุทธที่รับใช้รัฐชาติ กล่อมเกลาคนให้ยอมรับกรรม
ที่มา : http://prachatai.org/journal/2016/05/65735
————-
“รัฐชาติ” ประกอบด้วย รัฐ + ชาติ
(๑) “รัฐ”
บาลีเป็น “รฏฺฐ” อ่านว่า รัด-ถะ รากศัพท์มาจาก –
(1) รฐฺ (ธาตุ = ไป, ถึง, เป็นไป) + ต ปัจจัย, แปลง ฐต (คือ ฐ ที่ รฐ + ต ปัจจัย)เป็น ฏฐ ( –ฐต > –ฏฺฐ)
: รฐฺ + ต = รฐต > รฏฺฐ แปลตามศัพท์ว่า “ดินแดนเป็นที่เป็นไปแห่งชาวเมือง”
(2) รชิ (ธาตุ = เจาะ, ทำลาย) + ต ปัจจัย, ลบสระท้ายธาตุ (รชิ > รช), แปลง ชต เป็น ฏฐ
: รชิ > รช + ต = รชต > รฏฺฐ แปลตามศัพท์ว่า “ดินแดนเป็นเหตุให้พระราชาทั้งหลายทำลายป้อมค่ายกัน” (ในการเข้ายื้อแย่งเพื่อยึดครองดินแดนของอีกฝ่ายหนึ่ง)
“รฏฺฐ” ความหมายที่เข้าใจกันก็คือ ดินแดน, อาณาจักร, ประเทศ, แผ่นดิน, บ้านเมือง
ในภาษาไทย ท่านให้ตัด ฏ ปฏัก ออก “รฏฺฐ” จึงเขียนเป็น“รัฐ” ถ้าอยู่ท้ายคำ อ่านว่า รัด (เคยมีนิยมพูดกันเป็น รัด-ถะ อยู่บ้าง) ถ้ามีคำอื่นมาสมาสข้างท้ายอ่านว่า รัด-ถะ- เช่นในคำว่า “รัฐบาล” อ่านว่า รัด-ถะ-บาน
พจนานุกรมบาลี-อังกฤษ แปล “รฏฺฐ” ว่า reign, kingdom, empire; country, realm (รัฐ, อาณาจักร, จักรวรรดิ, ประเทศ, แผ่นดิน)
(๒) “ชาติ”
บาลีอ่านว่า ชา-ติ รากศัพท์มาจาก ชนฺ (ธาตุ = เกิด) + ติ ปัจจัย, แปลง ชนฺ (ชะ-นะ) เป็น ชา (ชนฺ > ชา)
: ชน > ชา + ติ = ชาติ แปลตามศัพท์ว่า “การเกิด”
“ชาติ” ในภาษาบาลีใช้ในความหมายดังต่อไปนี้ –
1. การเกิด, การเกิดใหม่, กำเนิด (birth, rebirth, possibility of rebirth)
2. ชาติกำเนิด, เชื้อชาติ, ชั้น, วงศ์วาน (descent, race, rank, genealogy)
3. จำพวก, ชนิด (a sort of, kind of)
4. ตามธรรมชาติ (ตรงข้ามกับของที่ตกแต่งขึ้น); แท้จริง, บริสุทธิ์, วิเศษ (ตรงกันขามกับปนเจือ เลว) (by birth or nature, natural [opp. Artificial]; genuine, pure, excellent [opp. adulterated, inferior])
ในภาษาไทย พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2554 บอกความหมายของคำว่า “ชาติ” ไว้ดังนี้ –
(1) การเกิด, กำเนิด, มักใช้ว่า ชาติเกิด หรือ ชาติกำเนิด เช่น ถ้าทำไม่ดีก็เสียชาติเกิด.
(2) ความมีชีวิตอยู่ตั้งแต่เกิดจนตาย เช่น สบายทั้งชาติ.
(3) เหล่ากอ, เทือกเถา, เผ่าพันธุ์, เช่น ชาตินักรบ ชาติไพร่.
(4) ประเทศ เช่น รู้คุณชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์.
(5) ประชาชนที่เป็นพลเมืองของประเทศ; ประชาชาติ ก็ว่า.
(6) กลุ่มชนที่มีความรู้สึกในเรื่องเชื้อชาติ ศาสนา ภาษา ประวัติศาสตร์ ความเป็นมา ขนบธรรมเนียมประเพณี และวัฒนธรรมอย่างเดียวกัน หรืออยู่ในปกครองรัฐบาลเดียวกัน.
(7) ชนิด, จำพวก, ชั้น, หมู่.
(8) คำเพิ่มข้างหลังของคำเดิม เมื่อเพิ่มแล้วความหมายคงเดิม เช่น รสชาติ, หรือหมายถึงพวกหรือหมู่ เช่น คชาชาติ มนุษยชาติ.
ในภาษาไทย ความหมายเด่นของ “ชาติ” ก็คือ บ้านเมือง (country)
รัฐ + ชาติ = รัฐชาติ
อภิปราย :
“รัฐชาติ” เป็นคำที่บัญญัติขึ้นจากคำอังกฤษว่า nation state ถ้าดูจากคำอังกฤษ คำนี้ควรเป็น “ชาติรัฐ” (nation = ชาติ state = รัฐ)
ถ้าเป็น “ชาติรัฐ” อ่านว่า ชาด-ติ-รัด แปลจากหลังไปหน้าว่า “รัฐแห่งชาติ”
แต่เมื่อเป็น “รัฐชาติ” ก็ไม่ทราบความประสงค์ของผู้บัญญัติคำนี้ว่าจะให้อ่านว่ากระไร และจะให้แปลจากไหนไปไหน
คำอธิบายจากจากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี บอกไว้ว่า “รัฐชาติ” คือหน่วยการปกครองระดับประเทศที่มีองค์ประกอบ 3 ประการ คือ มีประชากรแน่นอน มีดินแดนแน่นอน และมีรัฐบาลหรือมีอำนาจอธิปัตย์แน่นอนเป็นของตนเอง
คำว่า “รัฐชาติ” เป็นคำที่บัญญัติขึ้นเพียงเพื่อให้ตรงกับคำอังกฤษว่า nation state ซึ่งเมื่อใช้คำเช่นนั้นแล้วคนทั้งหลายก็ยังไม่เข้าใจอยู่นั่นเองว่าหมายความว่าอย่างไร
ตามลักษณะที่อธิบายข้างต้น ผู้เขียนบาลีวันละคำเห็นว่า nation state ตรงกับคำไทยที่เรียกกันมาเก่าแก่ว่า “บ้านเมือง” นั่นเอง
ตามคำที่ยกมาโปรยไว้ข้างต้นว่า “นักวิชาการชี้ พุทธไทยคือพุทธที่รับใช้รัฐชาติ” คำว่า “พุทธที่รับใช้รัฐชาติ” ก็ต้องหมายถึง พุทธที่รับใช้บ้านเมือง
แต่ถ้าตามไปอ่านความเห็นของ “นักวิชาการ” ที่กล่าวข้อความนี้ก็จะพบว่า เป็นข้อความที่มีนัยตำหนิชาวพุทธที่นำเอาพระพุทธศาสนามาเอื้อประโยชน์ให้ผู้มีอำนาจ แทนที่จะให้พหูชนได้ประโยชน์จากพระพุทธศาสนา
ชาวพุทธพึงใช้วิจารณญาณไตร่ตรองคำกล่าวนั้นให้จงหนักโดยทั่วกันเทอญ
คนพาล : สละพระศาสนาเพื่อแลกกับชีวิต
บัณฑิต : สละชีวิตเพื่อแลกกับพระศาสนา
13-5-59