บาลีวันละคำ

หทยํ (บาลีวันละคำ 2,023)

หทยํ = หัวใจ

ลำดับ 11 ในอาการสามสิบสอง

อ่านว่า หะ-ทะ-ยัง

หทยํ” รูปคำเดิมเป็นเป็น “หทย” (หะ-ทะ-ยะ) รากศัพท์มาจาก หรฺ (ธาตุ = นำไป) + ปัจจัย, แปลง ที่ (ห)-รฺ เป็น (หรฺ > หท)

: หรฺ + = หรย > หทย แปลตามศัพท์ว่า (1) “อวัยวะที่นำที่รองรับของตนไป” (คือนำร่างให้เป็นไป) (2) “อวัยวะที่นำสภาวะของตนไป” หมายถึง หัวใจ, ใจ (the heart: the physical organ; the heart as seat of thought and feeling)

หทย” (นปุงสกลิงค์) แจกด้วยวิภัตตินามที่หนึ่ง (ปฐมาวิภัตติ) เอกพจน์ เปลี่ยนรูปเป็น “หทยํ

หทย” ในภาษาไทยใช้เป็น “หทัย” (หะไท) และอิงสันสกฤตเป็น “หฤทัย” (หะ-รึ-ไท)

พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2554 บอกไว้ดังนี้ –

(1) หทัย : (คำนาม) หัวใจ, ใจ, ราชาศัพท์ใช้ว่า พระหทัย หมายถึง หัวใจ (อวัยวะ). (ป.; ส. หฤทย).

(2) หฤทัย, หฤทัย– : (คำนาม) หัวใจ, ใจ, ราชาศัพท์ใช้ว่า พระราชหฤทัย พระหฤทัย หมายถึง จิตใจ. (ส. หฤทย; ป. หทย).

สรุปว่า ในภาษาไทย :

– ถ้าใช้ “หทัย” หมายถึง หัวใจที่เป็นอวัยวะ ตรงกับคำบาลีว่า “หทยมํส” = เนื้อหัวใจ (the flesh of the heart) หรือ “หทยวตฺถุ” ที่ตั้งของหทัย (the substance of the heart)

– ถ้าใช้ “หฤทัย” หมายถึง จิตใจ ตรงกับคำบาลีว่า “จิตฺต” = จิต (thought, mind, heart)

…………..

ขยายความ :

คัมภีร์วิสุทธิมรรคบรรยายลักษณะของ “หทย” ไว้ดังนี้ –

หทยนฺติ  หทยมํสํ.

คำว่า หทยํ คือเนื้อหัวใจ

ตํ  วณฺณโต  รตฺตํ  ปทุมปตฺตปิฏฺฐิวณฺณํ.  

หัวใจนั้นสีแดงดังสีหลังกลีบปทุม

สณฺฐานโต  พาหิรปตฺตานิ  อปเนตฺวา  อโธมุขฏฺฐปิตปทุมมกุลสณฺฐานํ  พหิ  มฏฺฐํ  อนฺโต  โกสาตกีผลสฺส  อพฺภนฺตรสทิสํ.

หัวใจมีลักษณะดังดอกบัวตูมที่เขาปลิดกลีบชั้นนอกออกแล้วคว่ำลง ข้างนอกเกลี้ยง ข้างในเป็นรังคล้ายบวบขม

ปญฺญวนฺตานํ  โถกํ  วิกสิตํ 

ของพวกคนเจ้าปัญญา บัวนั้นแย้มหน่อยหนึ่ง

มนฺทปญฺญานํ  มกุลิตเมว.

ของพวกคนปัญญาเยา บัวนั้นคงตูมอยู่นั่นแล

อนฺโต  จสฺส  ปุนฺนาคฏฺฐิปติฏฺฐานมตฺโต  อาวาฏโก  โหติ  ยตฺถ  อฑฺฒปสตมตฺตํ  โลหิตํ  สณฺฐาติ  ยํ  นิสฺสาย  มโนธาตุ  จ  มโนวิญฺญาณธาตุ  จ  วตฺตนฺติ.

ข้างในหัวใจนั้นมีหลุมขนาดจุเมล็ดในบุนนาคได้ เป็นที่ขังอยู่แห่งโลหิตประมาณสักครึ่งฟายมือ มโนธาตุและมโนวิญญาณธาตุอาศัยสถิตอยู่ที่นั่น

ตํ  ปเนตํ  ราคจริตสฺส  รตฺตํ  โหติ.

อันว่าโลหิตในหัวใจนั้น ของคนราคจริตสีแดง

โทสจริตสฺส  กาฬกํ.

ของคนโทสจริต สีดำ

โมหจริตสฺส  มํสโธวนอุทกสทิสํ.

ของคนโมหจริต สีดุจน้ำล้างเนื้อ

วิตกฺกจริตสฺส  กุลตฺถยูสวณฺณํ.

ของคนวิตกจริต สีดังเยื่อถั่วพู

สทฺธาจริตสฺส  กณฺณิการปุปฺผวณฺณํ.

ของคนสัทธาจริต สีดังดอกกรรณิการ์

ปญฺญาจริตสฺส  อจฺฉํ  วิปฺปสนฺนํ  อนาวิลํ  ปณฺฑรํ  ปริสุทฺธํ  นิทฺโธตชาติมณิ  วิย  ชุติมนฺตํ  ขายติ.

ของคนปัญญาจริต (พุทธิจริต) ใส่ผ่องไม่หมองมัว ขาวบริสุทธิ์เรืองแสงดังแก้วมณีแท้ที่เจียระไนแล้ว

(คัมภีร์วิสุทธิมรรค ภาค 2 อนุสสติกัมมัฏฐานนิทเทส หน้า 38)

ในบทสวด “พระอาการสามสิบสอง” กล่าวถึง “หทยํ” ไว้ดังนี้ –

๏ หะทะยังหัวใจ…….บัณฑิตกล่าวไว้…….หัวใจนานา

ใจขึ้งใจโกรธ………..ใจโหดริษยา……….ใจพาลแกล้วกล้า

ฆ่าสัตว์ทั้งหลาย

๏ ย่อมทำทรชน……..กับเหล่าฝูงคน……..ทั่วทั้งหญิงชาย

ใจลวงจ้วงจาบ………ทำบาปมากมาย…….มิได้มีอาย

ทำลายพระศาสนา

๏ ใจลวงใจล่อ……….ใจมักเสียดส่อ………ล่อลวงตัณหา

ใจมัวมักมาก………….ด้วยราคราคา………ใจทั้งนี้หนา

เรียกใจเดรัจฉาน

๏ ใจผ่องโสภา……..จำศีลภาวนา……….ให้ทานทุกวัน

โดยเป็นนิสัย……….จะไปสู่สวรรค์……….อุตส่าห์ถือมั่น

ฟังธรรมเทศนา

๏ ใจพรหมใจพระ…..ใจมีธรรมะ………….เมตตาภาวนา

น้ำใจใสสัตย์…………มัธยัสถ์ศรัทธา…….ใจทั้งนี้หนา

เรียกใจขันตี

๏ ย่อมมีเมตตา………ฝูงชนทั่วหน้า……..ศรัทธามากมี

หน่วงเอามรรคผล…..ให้พ้นโลกีย์……….เบื่อหน่ายในที่

จะเกิดสืบไป๚ะ๛

…………..

ดูก่อนภราดา!

: ถ้าไม่ฝึกใจตนให้เป็นคนประเสริฐ

: ก็นับว่าเสียชาติที่ได้เกิดมาเป็นคน

—————-

(ตามคำอาราธนาของคุณครูอนันต์ นาควิจิตร)

ภาพประกอบ: จาก google

ควรตามไปดูคำว่า “อาการ 32” ที่ลิงก์ข้างล่างนี้ด้วย:

#บาลีวันละคำ (2,023)

26-12-60

ดูโพสต์ในเฟซบุ๊กของครูทองย้อย