บทความเกี่ยวกับศาสนา-ภาษา-สังคม

“ทุจริตเงินทอน” คืออย่างไร

“ทุจริตเงินทอน” คืออย่างไร

—————————–

มีญาติมิตรท่านหนึ่งเขียนมาถามผมว่า

“ทำไมเขาเรียกว่า ‘เงินทอน’ คะ-ที่เป็นข่าวอยู่ตอนนี้

เขียนเป็นความรู้ให้ผู้คนอ่านกันก็จะดีนะคะ 

ฟังศัพท์แล้วแปลกๆ ค่ะ” 

……………

ผมเขียนตอบไปว่า – 

…..

เข้าใจง่ายๆ ก็คือ 

– คนของทางราชการเอาเงินงบประมาณมาถวายวัด ๑๐๐ บาท (ตามที่เบิกมาเต็มๆ)

– ถวายแล้วบอกพระว่า “ทอนมาให้ผม ๒๐ บาทนะครับ” 

เหมือนกับจะบอกพระว่า ทางราชการถวายจริงๆ ๘๐ บาท 

ให้ใบละ ๑๐๐ ไป 

เพราะฉะนั้นหลวงพ่อต้องทอนให้ผม ๒๐ 

หลวงพ่อได้ฟังดังนั้น ก็ทอนให้ ๒๐ – 

ซึ่งความเป็นจริงก็คือรับไว้แค่ ๘๐ 

อีก ๒๐ คืนเจ้าหน้าที่ไปนั่นเอง 

เจ้าหน้าที่รับคืนแล้วก็เอาเข้ากระเป๋าตัวเอง 

ไม่ต้องคืนราชการเพราะบอกราชการไปแล้วว่าถวายวัดหมดทั้ง ๑๐๐ 

ราชการก็อนุมัติเต็ม ๑๐๐ มาแล้ว 

…………

ตามเป็นจริง เจ้าหน้าที่ที่เอาเงินมาถวายวัด (งบประมาณนั่นนี่โน่น) ก็คงแจ้งแก่ทางวัดไปตามเป็นจริงว่า งบที่ได้รับอนุมัติมาเท่านี้ๆ แต่เนื่องจากมีความจำเป็นนั่นนี่โน่นแล้วแต่จะอ้าง อ้างอะไรไม่ได้ก็อาจจะขอกับหลวงพ่อเอาดื้อๆ แบบ “หักหัวคิว” ว่าขอชักไว้เท่านั้นเท่านี้

ฝ่ายหลวงพ่อ อยู่ดีๆ ก็ได้เงินเข้าวัด ขอกันแค่นั้นจะเป็นไรไป

ส่งใบละร้อยมา

ทอนให้ไป ๒๐

เขาจึงเรียกการทุจริตลักษณะนี้ว่า “เงินทอน” 

…………….

ขอขยายความเพิ่มเติมด้วยการยกตัวอย่างง่ายๆ อีก ๒ เรื่อง

สมมุติว่าหน่วยงานราชการจัดงานทำบุญคล้ายวันสถาปนาหน่วย มีกิจกรรมนิมนต์พระสงฆ์ ๙ รูปมาเจริญพุทธมนต์ฉันเพล

ขออนุมัติเงินถวายพระ ประธานสงฆ์ ๑,๐๐๐ บาท พระอันดับ ๘ รูป รูปละ ๕๐๐ บาท รวมเป็นเงิน ๕,๐๐๐ บาท 

นายก็อนุมัติตามเสนอ

เจ้าหน้าที่เบิกเงิน ๕,๐๐๐ บาทมาแล้ว ถวายจริง ประธานสงฆ์ ๕๐๐ บาท พระอันดับรูปละ ๒๐๐ บาท รวมเป็นเงิน ๒,๑๐๐ บาท 

มีเงินเหลือ ๒,๙๐๐ บาท ไม่ต้องคืนให้ใคร เพราะเจตนาจะเอาเองอยู่แล้ว

อย่าลืมว่า เงินถวายพระที่เบิกมา ๕,๐๐๐ บาทนั่น พระท่านไม่รู้ไม่เห็นว่าถวายรูปละเท่าไร เพราะฉะนั้น ถวายท่านไปเท่าไร ท่านก็รับเท่านั้น

เรื่องก็สงบเงียบเรียบร้อยสบายดี

อีกแบบหนึ่งที่ทำได้สบายๆ ก็คือหน่วยราชการที่มีการตั้งกรรมการทำกิจกรรมนั่นนี่อยู่เรื่อยๆ 

ขออนุมัติเบี้ยประชุมหรือเงินตอบแทนกรรมการ

เบี้ยประชุมหรือเงินตอบแทนกรรมการนั้น ตัวกรรมการจะไม่รู้-โดยเฉพาะกรรมการที่เป็นบุคคลภายนอกด้วยแล้ว ไม่มีโอกาสรู้ 

เวลาเอาใบรับเงินไปให้กรรมการเซ็นรับ 

ตรงช่องตัวเลขจะเว้นว่างไว้ 

เอาไปกรอกตัวเลขทีหลัง 

เรื่องนี้ผมไม่ได้กล่าวหาใคร แต่สังเกตเห็นว่าทุกครั้งที่ผมไปเป็นกรรมการและเซ็นรับเบี้ยประชุมหรือเงินตอบแทน (ถ้ามี) ไม่ว่าครั้งไหน ตรงช่องตัวเลขจะเว้นว่างไว้ทั้งนั้น 

ทั้งนี้ยกเว้นกรณีที่เป็นงานประจำ ซึ่งกรรมการจะได้รับรู้อัตราเบี้ยประชุมหรือเงินตอบแทนที่แน่นอนอยู่แล้ว แบบนั้นเบี้ยวไม่ได้ 

แต่กรรมการงานจร เจ้าหน้าที่มีโอกาสกินเงินทอนกันได้สบายๆ

ผมเชื่อว่าในวงราชการยังมีการทุจริตในรูปแบบอื่นๆ อีกเป็นอเนกอนันตัง

น่าจะมีใครรวบรวมเขียนออกมาเป็นหนังสือ “คู่มือการเบียดบังเงินหลวง” 

…………..

ในโคลงโลกนิติ มีอยู่บทหนึ่งบอกว่า 

๏ เบิกทรัพย์วันละบาทซื้อ….มังสา

นายหนึ่งเลี้ยงพยัคฆา………ไป่อ้วน

สองสามสี่นายมา……………กำกับ กันแฮ

บังทรัพย์สี่ส่วนถ้วน…………บาทสิ้นเสือตาย๚ะ๛

แปลว่าการทุจริตโกงกินมีมาตั้งแต่สร้างโลก

แม้ว่าการทุจริตโกงกินจะมีมาตั้งแต่สร้างโลก 

แต่ก็ไม่ใช่เหตุผลที่จะทำให้การทุจริตโกงกินกลายเป็นความชอบธรรม หรือเป็นสิ่งที่ควรทำ

——————

สดับกระแสสังคมระยะนี้แล้ว ผมนึกถึงพุทธภาษิตบทนี้ –

สกฺกาโร  กาปุริสํ  หนฺติ

แปลตามสำนวนผมเองว่า 

ผลประโยชน์เข้าที่ไหน 

คนสันดานกาก็บรรลัยที่นั่น

คำว่า “สันดานกา” นี่ออกจะกระทบถึงพระสงฆ์ เพราะเคยมีศิลปินเขียนภาพติเตียนพระ ตั้งชื่อภาพว่า “ภิกษุสันดานกา” 

โปรดเข้าใจว่า ภาษาบาลีคำกลางๆ ท่านใช้คำว่า “กาปุริส” ซึ่งแปลว่า “คนสันดานกา” ไม่ได้ชี้เฉพาะว่าจะต้องเป็นภิกษุ 

มนุษย์บ้านทั้งหลายก็เป็น “กาปุริส” ได้ 

โดยเฉพาะมนุษย์ที่เป็นข้าราชการด้วยแล้ว โอกาสที่จะเป็น “คนสันดานกา” มีมากกว่าใคร 

ยิ่งถ้ามีงานเกี่ยวกับพระกับวัดด้วยแล้ว วัดและพระจะกลายเป็น “กากนิธิ” ของคนสันดานกาได้ง่ายที่สุด 

กากนิธิ” (อ่านว่า กา-กะ-นิ-ทิ) แปลว่า ขุมทรัพย์ของกา

น่าจะต้องเขียนเป็น “บาลีวันละคำ” อีกสักคำหนึ่งนะครับ

นาวาเอก ทองย้อย แสงสินชัย

๒๓ เมษายน ๒๕๖๑

๑๐:๓๐

…………………………….

ดูโพสต์ในเฟซบุ๊กของครูทองย้อย

…………………………….

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องข้อมูลจำเป็นถูกทำเครื่องหมาย *