อวิหา (บาลีวันละคำ 3,525)
อวิหา
รูปพรหมชั้นที่สิบสอง
อ่านว่า อะ-วิ-หา
“อวิหา” รากศัพท์มาจาก –
(1) น (คำนิบาต = ไม่, ไม่ใช่) + วิ (คำอุปสรรค = วิเศษ, พิเศษ, แจ้ง, ต่าง) + ชหฺ (ธาตุ = ละ, สละ) + กฺวิ ปัจจัย, ลบ ชฺ ต้นธาตุและ กฺวิ, “ทีฆะสระหน้า” คือ อะ ที่ ห เป็น อา, แปลง น เป็น อ
: น + วิ + ชหฺ = นวิชหฺ + กฺวิ = นวิชหฺกฺวิ > นวิหฺกฺวิ > นวิห > นวิหา > อวิหา แปลตามศัพท์ว่า “ผู้ไม่ละฐานะของตนโดยกาลเล็กน้อย” (คือจะไม่พรากไปจากสมบัติที่ตนครองอยู่นั้นแม้เพียงชั่วครู่ยาม)
(2) น (คำนิบาต = ไม่, ไม่ใช่) + วิ (คำอุปสรรค = วิเศษ, พิเศษ, แจ้ง, ต่าง) + หา (ธาตุ = เสื่อม) + อ (อะ) ปัจจัย, แปลง น เป็น อ
: น + วิ + หา = นวิหา + อ = นวิหา > อวิหา แปลตามศัพท์ว่า “ผู้ไม่เสื่อมจากสมบัติของตนๆ”
“อวิหา” หมายถึง พรหมชั้นอวิหา, พรหมโลกชั้นอวิหา
พจนานุกรมบาลี-อังกฤษ บอกความหมายของ “อวิหา” ว่า the world of the Aviha’s, i.e. the 12th of the 16 Brahmā-words (พรหมโลกชั้นอวิหา, คือเป็นชั้นที่ 12 ของพรหมโลก 16 ชั้น)
ในภาษาบาลี “อวิหา” เป็นรูปศัพท์อิตถีลิงค์ ใช้เป็นคุณศัพท์ขยายคำว่า “เทวา” (เทวดาทั้งหลาย) คงรูปเป็น “อวิหา”
“อวิหา” ใช้ในภาษาไทยตามรูปบาลีเป็น “อวิหา” คำนี้ยังไม่ได้เก็บไว้ในพจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2554
อภิปรายขยายความ :
คัมภีร์สัมโมหวิโนทนี อรรถกถาวิภังคปกรณ์ อภิธรรมฺปิฎก ตอนธัมมหทยวิภังคนิทเทส หน้า 836 กระจายศัพท์ให้เห็นที่มาของชื่อนี้ว่า
…………..
อตฺตโน สมฺปตฺติยา น หายนฺติ อวิหา ฯ
แปลว่า ชื่อว่า อวิหา เพราะย่อมไม่เสื่อมสูญไปจากสมาบัติของตน
…………..
“อวิหา” เป็นชื่อของพรหมชั้นที่ 12 ในรูปาวจรภูมิซึ่งมีทั้งหมด 16 ชั้น
“อวิหา” เป็นพรหมที่อยู่ในชั้นที่เรียกว่า “สุทธาวาส” ซึ่งมี 5 จำพวก คือ อวิหาพรหม อตัปปาพรหม สุทัสสาพรหม สุทัสสีพรหม และอกนิฏฐพรหม
อวิหาพรหมเป็นพรหมชั้นที่ 1 ในชั้นสุทธาวาส มีอายุยืนยาว 1,000 กัป
…………..
แถม :
ในฆฏิกรสูตร สังยุตนิกาย สคาถวรรค พระไตรปิฎกเล่ม 15 ข้อ 152 มีคำของฆฏิการพรหมกราบทูลพระผู้มีพระภาคดังนี้ –
…………..
อวิหํ อุปปนฺนาเส
วิมุตฺตา สตฺต ภิกฺขโว
ราคโทสปริกฺขีณา
ติณฺณา โลเก วิสตฺติกนฺติ.
(ฆฏิกรพรหมกราบทูลว่า)
ภิกษุ 7 รูปผู้เข้าถึงพรหมโลกชั้นอวิหา
เป็นผู้หลุดพ้นแล้ว
มีราคะโทสะสิ้นแล้ว
ข้ามเครื่องเกาะเกี่ยวในโลกได้แล้ว
เย จ เต อตรุํ สงฺคํ
มจฺจุเธยฺยํ สุทุตฺตรํ
เต หิตฺวา มานุสํ เทหํ
ทิพฺพโยคํ อุปจฺจคุนฺติ.
(พระผู้มีพระภาคตรัสถามว่า)
ก็ภิกษุเหล่านั้นคือผู้ใดบ้าง
ข้ามบ่วงมารอันเครื่องข้องที่ข้ามได้แสนยาก
ละกายมนุษย์แล้ว
ก้าวข้ามขึ้นไปถึงกายทิพย์
อุปโก ผลคณฺโฑ จ
ปุกฺกุสาติ จ เต ตโย
ภทฺทิโย ขณฺฑเทโว จ
พหุทนฺตี จ สิงฺคิโย
เต หิตฺวา มานุสํ เทหํ
ทิพฺพโยคํ อุปจฺจคุนฺติ.
(ฆฏิกรพรหมกราบทูลว่า)
คือ ท่านอุปกะ 1 ท่านผลคัณฑะ 1
ท่านปุกกุสาติ 1 เป็น 3
ท่านภัททิยะ 1 ท่านขัณฑเทวะ 1
ท่านพหุทันตี 1 ท่านสิงคิยะ 1 (รวมเป็น 7)
ท่านเหล่านั้นละกายมนุษย์แล้ว
ก้าวข้ามขึ้นไปถึงกายทิพย์
…………..
ดูก่อนภราดา!
: ธาตุขันธ์ เราไม่ต้องทำอะไรมันก็เสื่อมไปเอง
: แต่กิเลสตัณหา ถ้าเราไม่ทำอะไร มันก็ไม่เสื่อมไปเอง
#บาลีวันละคำ (3,525)
5-2-65
…………………………….