บาลีวันละคำ

อานันทมหิดล (บาลีวันละคำ 390)

อานันทมหิดล

เป็นพระนามเดิมในพระบาทสมเด็จพระปรเมนทรมหาอานันทมหิดล พระอัฐมรามาธิบดินทร ได้รับพระราชทานจากพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัวเมื่อเสด็จพระราชสมภพว่า หม่อมเจ้าอานันทมหิดล

อานันท” บาลีเขียนเป็น “อานนฺท” (อา-นัน-ทะ) แปลว่า ความยินดี, ความร่าเริง, ความเพลิดเพลิน, ความสุขเกษม, ความปราโมทย์, ความปลื้มใจ, ความบันเทิงใจ

มหิดล” บาลีเป็น “มหีตล” (มะ-ฮี-ตะ-ละ) แปลตามศัพท์ว่า “พื้นแห่งแผ่นดิน” มีความหมายว่า แผ่นดิน, โลก

อานันท + มหิดล = อานันทมหิดล มีความหมายว่า –

1 “ผู้เป็นที่ปลื้มใจของมหิดล” – พระบรมราชชนกคือสมเด็จพระมหิตลาธิเบศร อดุลยเดชวิกรม พระบรมราชชนก มีพระนามเดิมว่า “เจ้าฟ้ามหิดล” อันเนื่องมาจากทรงเป็น “ลูกชายคนแรก” จึงย่อมจะเป็นที่ปลื้มใจของ “พ่อ” เป็นที่ยิ่ง

2 “ผู้เป็นที่ปลื้มใจของแผ่นดิน” – เมื่อทรงราชย์สืบพระราชสันตติวงศ์ ตั้งแต่วันที่ 2 มีนาคม พ.ศ. 2477 พระชนมายุเพียง 8 พรรษา จึงทรงเป็นยุวกษัตริย์ที่ทวยราษฎร์ทั้งแผ่นดินปลื้มใจ และชื่นใจเป็นนักหนา

ทรงยังแผ่นดินให้ปลื้มใจเพียง 12 ปี ก็เสด็จคืนสู่สวรรค์ เมื่อวันที่ 9 มิถุนายน พุทธศักราช 2489

: สพฺพํ  รฏฺฐํ  สุขํ  เสติ

ราชา  เจ  โหติ  ธมฺมิโก

ถ้าพระเจ้าแผ่นดินทรงธรรม

ทวยราษฎร์ก็ร่มเย็นเป็นสุข

บาลีวันละคำ (390)

9-6-56

อานนฺท = ความยินดี, ความร่าเริง (ศัพท์วิเคราะห์)

อา ภุโส นนฺทยตีติ อานนฺโท อาการเป็นที่ยินดีอย่างยิ่ง

อา บทหน้า นนฺท ธาตุ ในความหมายว่ายินดี อ ปัจจัย

มหี = แผ่นดิน, พื้นที่

มหียเตติ มหี ที่อันคนบูชา

มห ธาตุ ในความหมายว่านับถือ, บูชา อ ปัจจัย อี อิต.

มหตีติ มหี ที่ที่เจริญขึ้น คือหนาขึ้นเรื่อยๆ

มห ธาตุ ในความหมายว่าเจริญ อ ปัจจัย อี อิต.

ตล = พื้น, ชั้น, ฝ่ามือ

ตลยติ ปติฏฺฐาติ เอตฺถ วตฺถุชาตนฺติ ตลํ ที่เป็นที่ตั้งสิ่งของ

ตล ธาตุ ในความหมายว่าตั้งอยู่ อ ปัจจัย

อานนฺท ป.(พจนานุกรมศัพท์บาลี)

ความยินดี, ความเพลิดเพลิน, ความบันเทิงใจ; พระอานนท์, ปลาอานนท์, ปลาใหญ่ที่หนุนแผ่นดินอยู่.

อานนฺท (บาลี-อังกฤษ)

ความยินดี, ความเพลิดเพลิน, ความสุขเกษม, ความปราโมทย์

อานนท์ ๑, อานันท์

  น. ความเพลิดเพลิน, ความยินดี, ความปลื้มใจ, มักใช้เป็นส่วนท้ายของคำสมาส เช่น จิตกานนท์. (ป., ส.).

อานนท์ ๒

  น. ชื่อปลาใหญ่ในวรรณคดี เชื่อกันว่าหนุนแผ่นดิน เมื่อปลานี้พลิกตัวทำให้เกิดแผ่นดินไหว, อนนต์ ก็ว่า.

อานันทนะ

  น. การรื่นเริง, การทําให้เพลิดเพลิน. (ป., ส.).

มหิดล

  น. พื้นดิน, พื้นโลก. (ส. มหิตล, มหีตล).

————-

พระบาทสมเด็จพระปรเมนทรมหาอานันทมหิดล พระอัฐมรามาธิบดินทร

เป็นพระโอรสในสมเด็จพระเจ้าพี่ยาเธอ เจ้าฟ้ามหิดลอดุลยเดช กรมหลวงสงขลานครินทร์ และหม่อมศรีสังวาลย์

เสด็จพระราชสมภพเมื่อวันอาทิตย์ ขึ้น 3 ค่ำ เดือน 11 ปีฉลู ตรงกับวันที่ 20 กันยายน พ.ศ. 2468 ณ เมืองไฮเดลแบร์ก สาธารณรัฐไวมาร์ (ปัจจุบันคือประเทศเยอรมนี)

ได้รับพระราชทานพระนามจากพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัวว่า หม่อมเจ้าอานันทมหิดล มหิดล

พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงสถาปนาขึ้นเป็น พระวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าอานันทมหิดล เมื่อ พ.ศ.2470

สมเด็จพระศรีนครินทราบรมราชชนนี ทรงออกพระนามเรียกพระองค์เป็นการลำลองว่า นันท

ทรงราชย์สืบพระราชสันตติวงศ์ ตั้งแต่วันที่ 2 มีนาคม พ.ศ. 2477

เฉลิมพระนามเมื่อวันที่ 25 มีนาคม พ.ศ. 2477 ว่า สมเด็จพระเจ้าอยู่หัวอานันทมหิดล

11 สิงหาคม พ.ศ. 2489 ประกาศเฉลิมพระปรมาภิไธยสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวอานันทมหิดลขึ้นเป็น “พระบาทสมเด็จพระปรเมนทรมหาอานันทมหิดล อดุลยเดชวิมล รามาธิบดี จักรีนฤบดินทร์ สยามินทราธิราช

วันที่ 8 มิถุนายน พ.ศ. 2539 ในวโรกาสพระราชพิธีฉลองทรงครองสิริราชสมบัติครบ 50 ปี พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดช ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้เฉลิมพระปรมาภิไธยพระบาทสมเด็จพระปรเมนทรมหาอานันทมหิดล เป็นพระปรมาภิไธยอันวิเศษตามแบบแผนโบราณราชประเพณีว่า

“พระบาทสมเด็จพระปรเมนทรมหาอานันทมหิดล อดุลยเดชวิมลรามาธิบดี จุฬาลงกรณราชปรียวรนัดดา มหิตลานเรศวรางกูร ไอศูรยสันตติวงศวิสุทธ์ วรุตมขัตติยศักตอรรคอุดม จักรีบรมราชวงศนิวิฐ ทศพิธราชธรรมอุกฤษฎนิบุณ อดุลยกฤษฎาภินิหารรังสฤษฎ์ สุสาธิตบูรพาธิการ ไพศาลเกียรติคุณอดุลยพิเศษ สรรพเทเวศรานุรักษ์ ธัญอรรคลักษณวิจิตรโสภาคยสรรพางค์ มหาชโนตมงคประณตบาทบงกชยุคล อเนกนิกรชนสโมสรสมมต ประสิทธิวรยศมโหดมบรมราชสมบัติ นพปฎลเศวตฉัตราดิฉัตร สรรพรัฐทศทิศวิชิตไชย สกลมไหศวริยมหาสวามินทร มเหศวรมหินทรมหารามาธิราชวโรดม บรมนาถชาติอาชาวไศรย พุทธาทิไตรรัตน สรณารักษ์วิศิษฎศักตอัครนเรศรามาธิบดี พระอัฐมรามาธิบดินทร สยามินทราธิราชบรมนาถบพิตร”

ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้ขานพระปรมาภิไธยอย่างมัธยมว่า “พระบาทสมเด็จพระปรเมนทรมหาอานันทมหิดล สกลไพศาล มหารัษฎธิบดี พระอัฐมรามาธิบดินทร สยามมินทราธิราช บรมนาถบพิตร”

ขานพระปรมาภิไธยอย่างสังเขปว่า “พระบาทสมเด็จพระปรเมนทรมหาอานันทมหิดล พระอัฐมรามาธิบดินทร

เสด็จสวรรคตด้วยทรงต้องพระแสงปืนเมื่อวันที่ 9 มิถุนายน พ.ศ. 2489 ณ ห้องพระบรรทม พระที่นั่งบรมพิมาน ภายในพระบรมมหาราชวัง

รวมระยะเวลาที่ทรงครองสิริราชสมบัติทั้งสิ้น 12 ปี

บาลีวันละคำ (390)

โคตร

อ่านว่า โคด

โคตร” บาลีเป็น “โคตฺต” อ่านว่า โคด-ตะ สันสกฤตเป็น “โคตฺร” อ่านว่า โคด-ตฺระ เราเขียนแบบสันสกฤต

โคตฺต” แปลตามศัพท์ว่า “สิ่งที่รักษาชื่อและความรู้ไว้” “สิ่งที่รักษาชื่อเสียงไว้” “สิ่งอันเขาคุ้มครองไว้” ความหมายที่เขาใจกัน คือ เชื้อสาย, วงศ์ตระกูล, ต้นสกุล, เผ่าพันธุ์, สายตระกูลบรรพบุรุษ

โคตฺต-โคตร” มีความหมายเดียวกับ “นามสกุล” ชื่อโคตรอาจได้มาจากสถานที่กำเนิดของบรรพบุรุษ, ถิ่นที่อยู่เดิม, อาชีพ หรือแม้กระทั่งจากบุคลิกบางอย่างของคนต้นสกุล (โปรดนึกถึงนามสกุลที่ท่านรู้จัก)

ในภาษาไทย “โคตร” บางทีก็นําไปใช้ในความหมายไม่สุภาพหรือเป็นคําด่า เช่น ก่นโคตร, โคตรพ่อโคตรแม่ไม่สั่งสอน

ความหมายอีกอย่างหนึ่งของ “โคตร” ที่นิยมใช้เป็นภาษาปาก คือ “มากนักหนา” เช่น โคตรยาก โคตรเลว โดยเล็งความหมายว่า สิ่งที่กล่าวถึงมีระดับความเข้มข้นลึกลงไปจนถึงมูลราก ซึ่งก็เป็นความหมายหนึ่งของคำว่า “โคตร” ด้วยเช่นกัน (นับเป็นตัวอย่างของคำที่ไม่สุภาพ แต่ความหมายถูกต้อง)

บาลีมีคำว่า “นามโคตฺต” (นา-มะ-โคด-ตะ) แปลว่า “ชื่อและตระกูล” มีความหมายโดยนัยว่าชื่อเสียงเกียรติยศ หรือคุณงามความดีอันจะตกไปถึงวงศ์ตระกูล

พุทธภาษิต :

รูปํ  ชีรติ  มจฺจานํ  นามโคตฺตํ  น  ชีรติ

รูปกายมลายโลด แต่นามโคตรยังอยู่คง

8-6-56

พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2542 บอกว่า โคตฺต บาลีว่า โรงวัว, คอกวัว, วงศ์, ตระกูล

สํสกฤต-ไท-อังกฤษ อภิธาน ให้ความหมายของ “โคตฺร” ไว้ประมาณ ๒๕ อย่าง เริ่มตั้งแต่ สกุล, วงศ์ ไปจนถึง ฝูงโค, บรรพต

ชื่อโคตร หรือนามสกุล อาจได้มาจากสถานที่กำเนิดของบรรพบุรุษ (เช่น ณ บางช้าง), ถิ่นที่อยู่เดิม (เช่นนามสกุลที่ลงท้ายว่า -สูงเนิน, -ไธสง), อาชีพ หรือแม้กระทั่งจากบุคลิกบางอย่าง

โคตฺต = โคตร, วงศ์, ตระกูล, เชื้อสาย (ศัพท์วิเคราะห์)

โค วุจฺจติ อภิธานํ พุทฺธิ จ, เต ตายติ รกฺขตีติ โคตฺตํ เชื้อสายที่รักษาชื่อและความรู้ไว้

โค บทหน้า ตา ธาตุ ในความหมายว่ารักษา อ ปัจจัย ซ้อน ต ลบสระหน้า

ควํ สทฺทํ ตายตีติ โคตฺตํ เชื้อสายที่รักษาชื่อเสียงไว้ (เหมือน วิ.ต้น)

โคปียตีติ โคตฺตํ เชื้อสายอันเขาคุ้มครองไว้

คุป ธาตุ นความหมายว่ารักษา, คุ้มครอง ต ปัจจัย ลบสระที่สุดธาตุ แปลง ป เป็น ต

โคตฺต = ภูเขา

ควํ ภูมึ ธารเณน ตายตีติ โคตฺโต ผู้รักษาแผ่นดินด้วยการรองรับไว้

โค บทหน้า ตา ธาตุ ในความหมายว่ารักษา อ ปัจจัย ซ้อน ต ลบสระหน้า

โคตฺต (บาลี-อังกฤษ)

เชื้อสาย, วงศ์ตระกูล, โคตร, เผ่าพันธุ์

ancestry, lineage

ไม่มีคำในภาษาอังกฤษสำหรับ โคตฺต ซึ่งหมายรวมทั้งผู้สืบตระกูล หรือนับว่าสืบเนื่องต่อๆ กันมาจากบรรพบุรุษร่วมกัน. ชื่อของโคตรย่อมแยกต่างหากจากชื่อเฉพาะตัว, ชื่ออันได้มาจากสถานที่กำเนิดหรือจากที่อยู่, หรือจากอาชีพ หรือแม้กระทั่งจากฉายานาม

อ้าง อรรถกถาอัมพัฏฐสูตร สุมังคลวิลาสินี ภาค ๑ หน้า ๓๘๑

นามโคตฺตนฺติ ปญฺญตฺติวเสน นามํ ปเวณิวเสน โคตฺตํ

ชื่อนั้นสำหรับรู้จัก, ชื่อสกุลนั้นสำหรับเชื้อสาย

the name for recognition, the surname for lineage

โคตฺต นป.(พจนานุกรมศัพท์บาลี)

โคตร, วงศ์สกุล, เผ่าพันธุ์.

นามโคตฺต นป.

ชื่อและตระกูล; สายตระกูลบรรพบุรุษ.

โคตร (ประมวลศัพท์)

ตระกูล, เผ่าพันธุ์, วงศ์

โคตร, โคตร-

  [โคด, โคดตฺระ-] น. วงศ์สกุล, เผ่าพันธุ์, ต้นสกุล, เช่น โคตมโคตร; คํานี้บางทีก็นําไปใช้ในความหมายไม่สุภาพหรือเป็นคําด่า เช่น ก่นโคตร. (ส. โคตฺร; ป. โคตฺต ว่า โรงวัว, คอกวัว, วงศ์, ตระกูล).

โคตร, โคตรเหง้า

 (P or S) forbears, ancestors, ancestry

ดูโพสในเฟซบุ๊กของครูทองย้อย