บทความเกี่ยวกับศาสนา-ภาษา-สังคม

กบในกะลาครอบ

กบในกะลาครอบ

——————

พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.๒๕๕๔ บอกไว้ว่า –

………………………………….

กบในกะลาครอบ : (สำนวน) (คำนาม) ผู้มีความรู้และประสบการณ์น้อยแต่สำคัญตนว่ามีความรู้มาก.

………………………………….

คำว่า “กบในกะลาครอบ” มีแนวคิดมาจากกบที่ถูกกะลาครอบไว้ จึงนึกว่าตัวมันใหญ่คับโลก เป็นสำนวนหมายถึงคนที่มีความรู้เพียงเล็กๆ น้อยๆ แต่สำคัญว่ารู้จบครบถ้วนฉลาดเลิศล้ำกว่าใครๆ

สำนวนนี้ในคัมภีร์โลกนิติท่านว่าดังนี้ –

………………………….

อปฺปสฺสุโต สุตํ อปฺปํ

พหุํ มญฺญติ มานวา

สินฺธูทกมปสฺสนฺโต

กูเป โตยํ ว มณฺฑุโก.

………………………….

แปลเป็นไทยว่า

………………………………….

ผู้ที่ไม่ได้ศึกษาเล่าเรียน ความรู้เล็กน้อยที่ตนมีอยู่ –

ก็มาทะนงตนเห็นไปว่ามากล้ำ

เหมือนกบไม่เคยเห็นน้ำในแม่น้ำ

สำคัญไปว่าน้ำในบ่อที่ตนอาศัยอยู่มีมากล้น

………………………………….

โคลงโลกนิติว่าดังนี้ –

………………………………….

๏ รู้น้อยว่ามากรู้………เริงใจ

กลกบเกิดอยู่ใน………สระจ้อย

ไป่เห็นชเลไกล……….กลางสมุทร

ชมว่าน้ำบ่อน้อย………มากล้ำลึกเหลือ๚ะ๛

(ประชุมโคลงโลกนิติฉบับหอสมุดแห่งชาติ บทที่ ๕๖)

………………………………….

ตามคัมภีร์โลกนิติ ท่านเปรียบกบที่อาศัยอยู่ในบ่อน้ำ (คัมภีร์ใช้ศัพท์ว่า กูป = หลุม, โพรง [a pit, a cavity]) ไม่ได้เปรียบกบในกะลา

รู้ที่ไปที่มาก็จะทำให้มองเห็นภาพทั่วถึง อย่างน้อยก็รู้ว่า –

คัมภีร์โลกนิติว่ากบในสระ 

สำนวนไทยว่ากบในกะลาครอบ

เวลานี้มักพูดกันแต่เพียง “กบในกะลา” และความหมายก็เบี่ยงเบนไป คือเอามาพูดในความหมายว่า ถูกครอบงำ ถูกบังคับให้ปฏิบัติตามกฎเกณฑ์ต่างๆ ของสังคม หรือกฎที่ผู้มีอำนาจในบ้านเมืองหรือในหน่วยงานนั้นๆ กำหนดขึ้น ห้ามคิดต่าง ใครทำตัวแตกต่างไปจากกฎเกณฑ์ของสังคมจะถูกมองว่าผิดว่าเลว 

คนรุ่นใหม่เห็นว่าไม่ควรเป็นเช่นนี้ 

คนรุ่นใหม่เห็นว่าทุกคนควรมีสิทธิ์คิด พูด ทำอะไรก็ได้ที่ตนพอใจ ไม่จำเป็นต้องอยู่ในกรอบกติกาของสังคมอีกต่อไป

เมื่อเห็นเช่นนี้ ก็จึงมองกฎเกณฑ์ของสังคมแบบเก่าๆ ว่าเหมือนกะลา และมองคนที่ยึดในกฎเกณฑ์เดิมๆ ว่า เป็นพวกกบในกะลา มีความคิดคับแคบ

“กะลา” จึงกลายเป็นสัญลักษณ์แห่งความคับแคบ ความไม่มีอิสระ ความน่าอึดอัดขัดข้อง และเป็นสำนวนที่คนรุ่นใหม่ใช้ดูถูกคนรุ่นเก่าไปด้วยประการฉะนี้

อ้อ รวมทั้งดูถูกบ้านเมืองของตัวเอง-ด้วยคำเรียกขานว่า “กะลาแลนด์”

มีแง่คิดต่อไปอีกนิดหนึ่ง –

คือเมื่อเรียกบ้านเมืองของตัวเองว่า “กะลาแลนด์” เช่นนั้นแล้ว ผู้เรียกก็มักรู้สึกภาคภูมิใจเหมือนได้ทำงานสำคัญชิ้นหนึ่งสำเร็จแล้ว

แต่ถ้าใครลองถามว่า-แล้วจะแก้ปัญหาอย่างไรบ้านเมืองของเราจึงจะพ้นจากสภาพปัญหากะลาแลนด์?

คำตอบก็คือ-ไม่ใช่หน้าที่ของข้าพเจ้า

ข้าพเจ้ามีหน้าที่บ่นว่าด่าว่าเท่านั้น 

การแก้ปัญหา หรือแม้แต่ช่วยคิดหาวิธีแก้ปัญหา ไม่ใช่หน้าที่ของข้าพเจ้า

สวัสดีเลย

………………………………….

โลกนี้เป็นกะลาอยู่แล้วทั้งใบ

ไม่ว่ารุ่นเก่าหรือรุ่นใหม่ก็ล้วนแต่กบในกะลา

ไม่ว่ารุ่นเก่าหรือรุ่นใหม่

ถ้ารู้จักฝึกใจ ก็พ้นได้จากกะลา

………………………………….

พลเรือตรี ทองย้อย แสงสินชัย

๑๑ กุมภาพันธ์ ๒๕๖๕

๑๖:๓๐

………………………………….

กบในกะลาครอบ

ดูโพสต์ในเฟซบุ๊กของครูทองย้อย

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องข้อมูลจำเป็นถูกทำเครื่องหมาย *