บาลีวันละคำ

คเวสโก (บาลีวันละคำ 392)

คเวสโก

อ่านว่า คะ-เว-สะ-โก

คเวสโก” คำเดิมคือ “คเวสก” (คะ-เว-สะ-กะ) ประกอบด้วย คว (บทหน้า) + เอส (ธาตุ = แสวงหา) + ณฺวุ (ปัจจัย แปลงเป็น “อก” = ผู้) = คเวสก แปลว่า “ผู้แสวงหา” “ผู้เสาะหา” “ผู้ค้นหา

ศัพท์นี้คำกริยา คือ “คเวสติ” (เขา มัน เป็นประธาน เอกพจน์ ปัจจุบันกาล) รากเดิมของคำนี้ มาจาก คว (=โค, วัว) + เอส แปลตามศัพท์ว่า “แสวงหาโค” ต่อมาความหมายกร่อนเหลือเพียง “แสวงหา” คือไม่ว่าจะแสวงหาอะไร ก็คงใช้ว่า “คเวสติ” (เทียบกับคำไทย “กินข้าวกินปลา” หมายถึง “รับประทานอาหาร” แม้ว่าอาหารมื้อนั้นจะไม่ใช่ข้าว หรือไม่มีปลาเลย ก็ยังคงใช้คำนี้)

คเวสก” เป็นคุณศัพท์ ในที่นี้เป็นที่ทราบกันว่าคือ “ฉายา” (ชื่อที่พระอุปัชฌาย์ตั้งให้เป็นภาษาบาลีเมื่ออุปสมบท) ของท่านอาจารย์มิตซูโอะ ประกอบวิภัตติปัจัยตามหลักบาลีไวยากรณ์จึงเป็น “คเวสโก” ดังที่เรามักเรียกควบกันไปว่า “อาจารย์มิตซูโอะ คเวสโก

: ถ้ารู้ว่าแสวงหาอะไร ก็คงได้พบเข้าสักวัน

แต่ถ้าไม่รู้ว่ากำลังแสวงหาอะไร ก็คงต้องแสวงหากันเรื่อยไป

บาลีวันละคำ (392)

11-6-56

คเวสติ (บาลี-อังกฤษ)

[คว + เอสติ (สัน. คเวษฺเต) แต่เดิมหมายถึง “ค้นหาโค” ธาตุป.ว่า มคฺคน = ติดตามรอย]

แสวงหา, ค้นหา, จำนง, เสาะหา

to seek, to search for, to wish for, strive after

คเวสก (คุณ) แสวงหา, เสาะหา

looking for, seeking

มิตซูโอะ คเวสโก

มีข่าวเมื่อ ๑๐ มิ.ย.๕๖ ว่าลาสิกขาแล้ว

ดูโพสในเฟซบุ๊กของครูทองย้อย