บาลีวันละคำ

อาจริยวาท (บาลีวันละคำ 393)

อาจริยวาท

อ่านแบบบาลีว่า อา-จะ-ริ-ยะ-วา-ทะ

อ่านแบบไทยว่า อา-จะ-ริ-ยะ-วาด

ประกอบด้วย อาจริย + วาท

อาจริย” สันสกฤตเป็น “อาจารฺย” คือคำที่เราใช้ว่า “อาจารย์” หมายถึงผู้ฝึกมรรยาท, ผู้สั่งสอน, ผู้แนะนำ (ดูความหมายโดยละเอียดที่คำว่า “อาจริย” บาลีวันละคำ (133) 18-9-55)

วาท” มีความหมายดังนี้ –

1 .การพูด, คำพูด, การคุย

2 .สิ่งที่พูดกัน, ชื่อเสียง, คุณสมบัติ, ลักษณะพิเศษ

3. การสนทนา, การทะเลาะกัน, การโต้เถียง, ความขัดแย้ง, การคัดค้าน

4. คำสอน, ทฤษฎี, ความเชื่อ, หลักความเชื่อ, ลัทธิ, นิกาย

อาจริยวาท” แปลตามศัพท์ธรรมดาว่า “คำพูดของอาจารย์” แต่โดยความหมาย หมายถึงคำสอนหรือหลักความเชื่อของอาจารย์

อาจริยวาท” เป็นคำที่ใช้เรียกพระพุทธศาสนานิกายมหายาน หลักหรือแนวคิดของพระพุทธศาสนานิกายนี้ อาจเข้าใจได้ด้วยคำว่า “อาจริยวาท” นั่นเอง กล่าวคือ ไม่ติดใจที่จะต้องรับรองยืนยันว่า “พระพุทธเจ้าสอนอย่างไร” แต่พอใจที่จะยึดถือว่า “อาจารย์สอนไว้อย่างนี้

พระพุทธศาสนาแยกกันเป็น 2 นิกายใหญ่ คือ (1) “อาจริยวาท” ที่เรียกกันทั่วไปว่า “มหายาน” และ (2) “เถรวาท” ที่ทางฝ่ายมหายานใช้คำเรียกว่า “หีนยาน

: นับถืออาจารย์

ก็ได้คำสอนอาจารย์

บาลีวันละคำ (393)

12-6-56

วาท (บาลี-อังกฤษ)

๑. การพูด, คำพูด, การคุย

๒. สิ่งที่พูดกัน, ชื่อเสียง, คุณสมบัติ, ลักษณะพิเศษ

๓. การสนทนา, การทะเลาะกัน, การโต้เถียง, ความขัดแย้ง, การคัดค้าน

๔. คำสอน, ทฤษฎี, ความเชื่อ, หลักความเชื่อ, ลัทธิ, นิกาย

doctrine, theory put forth, creed, belief, school, sect

อาจริยวาท

คำสอนตามแบบที่เป็นประเพณีมีมานาน ต่อมาภายหลังเป็นคำสอนที่นอกรีตนอกรอยเดิม, คำสอนที่มีความเห็นแยกจากลัทธิใหญ่ (ตรงข้ามกับเถรวาท คือคำสอนเชิงอนุรักษ์นิยม)

 traditional teaching; later as heterodox teaching, sectarian teaching (opp. theravāda orthodox doctrine) Miln 148; Dpvs v.30; Mhbv 96.

เถรวาท (ในคำว่า เถร–) –

ธรรมของงพระเถระซึ่งเป็นคำสอนดั้งเดิมของพระพุทธเจ้า

the doctrine of the Theras, the original Buddhist doctrine M i.164; Dpvs iv.6, 13.

เถรวาท (ในคำว่า –วาท) –

the tradition of the Theras, i. e. the orthodox doctrine or word of Gotama Buddha Mhvs 5, 2; 33, 97 sq.; Dpvs v.10, 14 (theravādo aggavādo ti vuccati), 51 (17 heretical sects, one orthodox, altogether 18 schools);

อาจริย ป.(พจนานุกรมศัพท์บาลี)

อาจารย์, ผู้ฝึกมรรยาท, ผู้สั่งสอน, ผู้แนะนำ.

วาท ป.

การกล่าว, คำพูด, ความเห็น.

อาจริยวาท (ประมวลศัพท์)

วาทะของพระอาจารย์, มติของพระอาจารย์; บางที ใช้เป็นคำเรียกพุทธศาสนานิกายฝ่ายเหนือ คือ มหายาน

อาจริยวาท (พจนานุกรมศัพท์บาลี)

อาจริยวาท, คำสั่งสอนที่ปฏิบัติตามที่อาจารย์สอนได้แก่ลัทธิมหายาน.

มหายาน (ประมวลศัพท์)

“ยานใหญ่”, นิกายพระพุทธศาสนาที่เกิดขึ้นหลังพุทธปรินิพพาน ประมาณ ๕๐๐–๖๐๐ ปี โดยสืบสายจากนิกายที่แตกแยกออกไปเมื่อใกล้ พ.ศ.๑๐๐ (ถือกันว่าสืบต่อไปจากนิกายมหาสังฆิกะ ที่สูญไปแล้ว) เรียกชื่อตนว่ามหายาน และบางทีเรียกว่าโพธิสัตวยาน (ยานของพระโพธิสัตว์) พร้อมทั้งเรียกพระพุทธศาสนาแบบเก่าๆ รวมทั้งเถรวาทที่มีอยู่ก่อนว่า หีนยาน (คำว่าหีนยาน จึงเป็นคำที่เกิดขึ้นภายหลัง แต่ใช้เรียกสิ่งที่เก่ากว่า) หรือเรียกว่าสาวกยาน (ยานของสาวก), มหายานนั้นมีผู้นับถือมากในประเทศแถบเหนือของทวีปเอเชีย เช่น จีน เกาหลี ญี่ปุ่น ทิเบต และมองโกเลีย บางทีจึงเรียกว่า อุตรนิกาย (นิกายฝ่ายเหนือ) เป็นคู่กับ ทักษิณนิกาย (นิกายฝ่ายใต้) คือ เถรวาท ที่นับถืออยู่ในประเทศแถบใต้ เช่น ไทยและลังกา  ซึ่งทางฝ่ายมหายานเรียกรวมไว้ในคำว่า หีนยาน, เนื่องจากเถรวาท เป็นพระพุทธศาสนาแบบดั้งเดิม จึงมีคำเก่าเข้าคู่กัน อันใช้เรียกนิกายทั้งหลายที่แยกออกไป รวมทั้งนิกายย่อยมากมายของมหายาน หรือเรียกมหายานรวมๆ ไปว่า อาจริยวาท หรือ อาจารยวาท (ลัทธิของอาจารย์ ที่เป็นเจ้านิกายนั้นๆ), ลักษณะสำคัญอย่างหนึ่งที่น่าสังเกตคือ เถรวาท ไม่ว่าที่ไหน ในประเทศใด ก็ถือตามหลักการเดิมเหมือนกันหมด ส่วนมหายาน แยกเป็นนิกายย่อยมากมาย มีคำสอนและข้อปฏิบัติแตกต่างกันเองไกลกันมาก แม้แต่ในประเทศเดียวกัน เช่น ในญี่ปุ่นปัจจุบันมีนิกายใหญ่ ๕ แยกย่อยออกไปอีกราว ๒๐๐ สาขานิกาย และในญี่ปุ่น พระมีครอบครัวได้แล้วทุกนิกาย แต่ในไต้หวัน เป็นต้น พระมหายานไม่มีครอบครัว; เทียบ เถรวาท, หีนยาน

หีนยาน (ประมวลศัพท์)

“ยานเลว”, “ยานที่ด้อย”, เป็นคำที่นิกายพุทธศาสนาซึ่งเกิดภายหลัง เมื่อประมาณ พ.ศ.๕๐๐–๖๐๐ คิดขึ้น โดยเรียกตนเองว่ามหายาน (ยานพาหนะใหญ่มีคุณภาพดีที่จะช่วยขนพาสัตว์ออกไปจากสังสารวัฏได้มากมายและอย่างได้ผลดี) แล้วเรียกพระพุทธศาสนาแบบอื่นที่มีอยู่ก่อนรวมกันไปว่าหีนยาน (ยานพาหนะต่ำต้อยด้อยคุณภาพที่ขนพาสัตว์ออกไปจากสังสารวัฏได้น้อยและด้อยผล), พุทธศาสนาแบบเถรวาท (อย่างที่บัดนี้นับถือกันอยู่ในไทย พม่า ลังกา เป็นต้น) ก็ถูกเรียกรวมไว้ในชื่อว่าเป็นนิกายหีนยานด้วย, ปัจจุบัน พุทธศาสนาหีนยานที่เป็นนิกายย่อยๆ ทั้งหลายได้สูญสิ้นไปหมด (ตัวอย่างนิกายย่อยหนึ่งของหีนยาน ที่เคยเด่นในอดีตบางสมัย คือ สรวาสติวาท หรือเรียกแบบบาลีว่า สัพพัตถิกวาท แต่ก็สูญไปนานแล้ว) เหลือแต่เถรวาทอย่างเดียว เมื่อพูดถึงหีนยานจึงหมายถึงเถรวาท จนคนทั่วไปมักเข้าใจว่าหีนยานกับเถรวาทมีความหมายเป็นอันเดียวกัน บางทีจึงถือว่าหีนยานกับเถรวาทเป็นคำที่ใช้แทนกันได้ แต่เมื่อคนรู้เข้าใจเรื่องราวดีขึ้น บัดนี้จึงนิยมเรียกว่า เถรวาท ไม่เรียกว่า หีนยาน, เนื่องจากคำว่า “มหายาน” และ “หีนยาน” เกิดขึ้นในยุคที่พุทธศาสนาแบบเดิมเลือนลางไปจากชมพูทวีป หลังพุทธกาลนานถึง ๕-๖ ศตวรรษ คำทั้งสองนี้จึงไม่มีในคัมภีร์บาลีแม้แต่รุ่นหลังในชั้นฎีกาและอนุฎีกา, ปัจจุบัน ขณะที่นิกายย่อยของหีนยานหมดไป เหลือเพียงเถรวาทอย่างเดียว แต่มหายานกลับแตกแยกเป็นนิกายย่อยเพิ่มขึ้นมากมาย บางนิกายย่อยถึงกับไม่ยอมรับที่ได้ถูกจัดเป็นมหายาน แต่ถือตนว่าเป็นนิกายใหญ่อีกนิกายหนึ่งต่างหาก คือ พุทธศาสนาแบบทิเบต ซึ่งเรียกตนว่าเป็น วัชรยาน และถือตนว่าประเสริฐเลิศกว่ามหายาน, ถ้ายอมรับคำว่ามหายาน และหีนยาน แล้วเทียบจำนวนรวมของศาสนิก ตามตัวเลขในปี ๒๕๔๘ ว่า มีพุทธศาสนิกชนทั่วโลก ๓๗๘ ล้านคน แบ่งเป็นมหายาน ๕๖% เป็นหีนยาน ๓๘% (วัชรยานนับต่างหากจากมหายานเป็น ๖%) แต่ถ้าเทียบระหว่างประดานิกายย่อยของสองยานนั้น (ไม่นับประเทศจีนแผ่นดินใหญ่ที่มีตัวเลขไม่ชัด) ปรากฏว่า เถรวาทเป็นนิกายที่ใหญ่มีผู้นับถือมากที่สุด; บางทีเรียกมหายานว่าอุตรนิกาย เพราะมีศาสนิกส่วนใหญ่อยู่ในแถบเหนือของทวีปเอเชีย และเรียกหีนยานว่าทักษิณนิกาย เพราะมีศาสนิกส่วนใหญ่อยู่ในแถบใต้ของทวีปเอเชีย; ดู เถรวาท, เทียบ มหายาน

วาท, วาท-

  [วาด, วาทะ-] น. คําพูด, ถ้อยคํา; ลัทธิ, ความเห็น. (ป., ส.).

อาจริย-

  [-จะริยะ-] (แบบ) น. อาจารย์. (ป., ส. อาจารฺย).

อาจริยวัตร

  น. กิจที่ควรประพฤติต่ออาจารย์. (ป. อาจริยวตฺต).

อาจริยวาท

  น. ลัทธิที่ถือตามคติที่อาจารย์ได้สั่งสอนสืบ ๆ กันมา, มหายาน หรือ อุตรนิกาย ก็ว่า.

มหายาน

  น. ชื่อนิกายในพระพุทธศาสนาฝ่ายเหนือที่ถือกันในทิเบต จีน ญี่ปุ่น เกาหลี และญวน เป็นต้น, อาจริยวาท ก็ว่า.

อุตรนิกาย

  [อุดตะระ-] น. ชื่อนิกายหนึ่งในพระพุทธศาสนา คือ นิกายฝ่ายเหนือ ซึ่งเรียกว่า มหายาน. (ป., ส. อุตฺตรนิกาย).

ดูโพสในเฟซบุ๊กของครูทองย้อย