เถรวาท (บาลีวันละคำ 394)
เถรวาท
อ่านแบบบาลีว่า เถ-ระ-วา-ทะ
อ่านแบบไทยว่า เถ-ระ-วาด
ประกอบด้วย เถร + วาท
“เถร” แปลตามศัพท์ว่า “ผู้มั่นคง” “ผู้ยังคงอยู่” “ผู้น่าสรรเสริญยกย่อง” หมายถึงพระเถระ, พระผู้ใหญ่, พระภิกษุผู้มีพรรษาตั้งแต่ 10 ขึ้นไป; ผู้เป็นพระเถระ, ผู้แก่, ผู้เฒ่า, ผู้ใหญ่
“วาท” แปลธรรมดาว่า คำพูด, การพูด ในที่นี้มีความหมายว่า คำสอน, ทฤษฎี, ความเชื่อ, หลักความเชื่อ, ลัทธิ, นิกาย (ดูความหมายโดยละเอียดที่คำว่า “อาจริยวาท” บาลีวันละคำ (394) 12-6-56)
“เถรวาท” แปลตามศัพท์ธรรมดาว่า “คำพูดของพระเถระ” เป็นชื่อเรียกพระพุทธศาสนานิกายหนึ่ง พจน.42 บอกความหมายไว้ว่า “ลัทธิที่ถือตามคติซึ่งพระเถระพุทธสาวกได้ทําสังคายนาไว้”
เมื่อพระพุทธเจ้าปรินิพพานได้ 3 เดือน พระอรหันตเถระ 500 องค์ ผู้แตกฉานในพระธรรมวินัย ได้ฟังคำสอนมาจากพระโอษฐ์โดยตรง ไม่ต้องผ่านครูบาอาจารย์ ได้ประชุมกันประมวลคำสอนของพระพุทธเจ้าแล้วตกลงยืนยันพร้อมกันว่า “พระพุทธเจ้าตรัสสอนไว้อย่างนี้”
เหตุการณ์นี้รู้จักกันในนาม “ปฐมสังคายนา”
นิกายพระพุทธศาสนาที่ยึดถือปฏิบัติตามพระธรรมวินัยที่สืบทอดมาจาก “พระเถระ” เหล่านั้น จึงได้นามว่า “เถรวาท”
พระพุทธศาสนาแบบเถรวาท คืออย่างที่บัดนี้นับถือกันอยู่ในไทย พม่า ลังกา เป็นต้น
คำเตือน :
นับถือ “เถรวาท” ระวังอย่าให้เป็น “เถรส่องบาตร”
คือทําอะไรตามเขาทั้ง ๆ ที่ไม่รู้เรื่องรู้ราว
บาลีวันละคำ (394)
13-6-56
เถร = เถระ, ผู้ชรา, ผู้เฒ่า, คนแก่ (ศัพท์วิเคราะห์)
ฐาติ ติฏฺฐตีติ เถโร ผู้ยังคงอยู่
ฐา ธาตุ ในความหมายว่ายืน, ตั้งอยู่ อิร ปัจจัย ฐ เป็น ถ อิ เป็น เอ
ถิรตีติ เถโร ผู้มั่นคง
ถิร ธาตุ ในความหมายว่ามั่นคง ณ ปัจจัย พฤทธิ์ อิ เป็น เอ
ถวติ สิญฺจตีติ เถโร ผู้น่าสรรเสริญยกย่อง
ถุ ธาตุ ในความหมายว่าสรรเสริญ, ชมเชย อิร ปัจจัย อิ เป็น เอ ลบสระหน้า
เถร (บาลี-อังกฤษ)
(คุณ) อาวุโส (= มีอายุ) (เป็นศัพท์เฉพาะที่หมายถึงพระภิกษุ เฉพาะในหมู่ของพระโคดมพุทธเจ้า)
ลักษณะ ๔ อย่างที่ทำให้เป็นพระเถระได้ คือ
๑ มีอุปนิสัยใจคอสูงส่ง high character,
๒ ทรงจำพระธรรมวินัยได้อย่างดียิ่ง knowing the essential doctrines by heart,
๓ ปฏิบัติเพื่อฌานสี่ practising the four Jhānas,
๔ มีจิตใจบริสุทธิ์จากกิเลสาสวะเนื่องจากขจัดความมัวเมาของจิตได้ being conscious of having attained freedom through the destruction of the mental intoxications.
เถร ป., ค.(พจนานุกรมศัพท์บาลี)
พระเถระ, พระผู้ใหญ่, พระภิกษุผู้มีพรรษาตั้งแต่ ๑๐ ขึ้นไป; ผู้เป็นพระเถระ, ผู้แก่, ผู้เฒ่า, ผู้ใหญ่.
เถร, เถร-, เถระ
[เถน, เถระ-] น. พระผู้ใหญ่ ตามพระวินัยกําหนดว่า พระมีพรรษาตั้งแต่ ๑๐ ขึ้นไป เรียกว่า พระเถระ. (ป.).
เถรภูมิ
[เถระพูม] น. ขั้นหรือชั้นแห่งพระเถระ, ทางคณะสงฆ์จัดภิกษุเป็น ๓ ชั้น ชั้นต้น คือ นวกภูมิ (ชั้นใหม่) มีพรรษาตํ่ากว่า ๕ ชั้นกลาง คือ มัชฌิมภูมิ (ชั้นกลาง) มีพรรษาตั้งแต่ ๕ ถึง ๙ และชั้นสุดคือ เถรภูมิ (ชั้นพระเถระ) มีพรรษาตั้งแต่ ๑๐ ขึ้นไป.
เถรวาท
[เถระวาด] น. ลัทธิที่ถือตามคติซึ่งพระเถระพุทธสาวกได้ทําสังคายนาไว้, หินยาน หรือ ทักษิณนิกาย ก็ว่า. (ป.).
เถรส่องบาตร
(สํา) น. คนที่ทําอะไรตามเขาทั้ง ๆ ที่ไม่รู้เรื่องรู้ราว.