ส๎วากขาโต (ชุดธรรมคุณ 6) (บาลีวันละคำ 3,771)
ส๎วากขาโต (ชุดธรรมคุณ 6)
…………..
ผู้นับถือพระพุทธศาสนาย่อมสวดสาธยายคุณแห่งพระรัตนตรัย คือ พระพุทธคุณ พระธรรมคุณ และพระสังฆคุณ กันอยู่เสมอ
คำบาลีแสดงพระธรรมคุณว่าดังนี้ –
…………..
สฺวากฺขาโต ภควตา ธมฺโม
สนฺทิฏฺฐิโก อกาลิโก เอหิปสฺสิโก
โอปนยิโก ปจฺจตฺตํ เวทิตพฺโพ วิญฺญูหีติ.
ที่มา: มหาปรินิพพานสูตร ทีฆนิกาย มหาวรรค
พระไตรปิฎกเล่ม 10 ข้อ 89 หน้า 111
…………..
พระธรรมคุณ 6 ท่านนับบทว่า “สฺวากฺขาโต” เป็นบทที่ 1
คำว่า “สฺวากฺขาโต” ถ้าเขียนแบบคำอ่านต้องเขียนเป็น “ส๎วากขาโต” (มีเครื่องหมายพิเศษบนตัว ส๎ ไม่มีจุดใต้ ก) ในที่นี้เขียนแบบคำไทยเป็น “ส๎วากขาโต” ตรงกับเขียนแบบคำอ่าน อ่านว่า สฺวาก-ขา-โต
“สฺวากฺขาโต” บาลี รูปคำเดิมเป็น “สฺวากฺขาต” อ่านว่า สฺวาก-ขา-ตะ รากศัพท์มาจาก สุ (คำอุปสรรค = ดี, งาม, ง่าย) + อา (คำอุปสรรค = ทั่วไป, ยิ่ง) + ขา (ธาตุ = กล่าว, บอก) + ต ปัจจัย, แผลง อุ ที่ สุ เป็น โอ แปลง โอ เป็น อฺว (สุ > โส > สฺว), รัสสะ อา อุปสรรคเป็น อะ (อา > อ), ซ้อน กฺ ระหว่างอุปสรรคกับธาตุ (อา > อ + กฺ + ขา)
(ก) อา > อ + กฺ + ขา = อกฺขา + ต = อกฺขาต แปลตามศัพท์ว่า “อันเขากล่าวไว้แล้ว” หมายถึง ประกาศ, ป่าวร้อง, กล่าว, บอก, แสดง (announced, proclaimed, told, shown)
(ข) สุ + อกฺขาต แผลง อุ ที่ สุ เป็น โอ แปลง โอ เป็น อฺว (สุ > โส > สฺว), ทีฆะสระหลัง คือ อะ ที่ อกฺ-(ขาต) เป็น อา (อกฺขาต > อากฺขาต)
: สุ > โส > สฺว + อกฺขาต = สวกฺขาต > สฺวากฺขาต แปลตามศัพท์ว่า “อันเขากล่าวไว้แล้วดี” = (พระธรรม) อัน (พระผู้มีพระภาค) ตรัสไว้ดีแล้ว (well preached)
ในที่นี้ “สฺวากฺขาต” เป็นคำขยาย ( = วิเสสนะ) ของ “ธมฺโม” (พระธรรม, ที่คำขึ้นต้นว่า สฺวากฺขาโต ภควตา ธมฺโม) คำขยายหรือวิเสสนะต้องมีลิงค์ วจนะ วิภัตติ เหมือนคำนามที่ตนขยาย
“ธมฺโม” เป็นคำนาม แจกด้วยวิภัตตินามที่หนึ่ง (ปฐมาวิภัตติ) เอกวจนะ ปุงลิงค์
“สฺวากฺขาต” แจกด้วยวิภัตตินามที่หนึ่ง (ปฐมาวิภัตติ) เอกวจนะ ปุงลิงค์ เปลี่ยนรูปเป็น “สฺวากฺขาโต” เขียนแบบไทยเป็น “ส๎วากขาโต” (มีเครื่องหมายพิเศษบนตัว ส๎ ไม่มีจุดใต้ ก)
ปัญหาเรื่องการออกเสียง :
คำที่เป็นปัญหาคือ “สฺวากฺ-” หรือ “ส๎วาก-” ออกเสียงอย่างไร
คำที่ต้องกำหนดให้ดีคือ “สฺวากฺ-” เขียนแบบบาลีมีจุดใต้ ส > สฺ- เขียนแบบคำอ่าน “ส๎วาก-” มีเครื่องหมายบน ส๎- หมายถึง สฺว- อ่านควบกัน ไม่ใช่ สะ-วาก- คือไม่ใช่ “สะ” คำหนึ่ง “วาก” อีกคำหนึ่ง
“สฺวากฺ-” คำเดิมคือ สุ + อกฺ- ลองออกเสียง สุ-อัก เร็วๆ จะได้ยินเป็น สฺ-หวัก-
หรือลองพูดว่า ซัว-อาก-ขา-โต นั่นคือเสียงที่ถูกต้องของ “ สฺวากฺขาโต”
“สฺวากฺขาโต – ส๎วากขาโต” จึงไม่ใช่ สะ-หวาก– ดังที่มักได้ยินกันทั่วไปซึ่งเป็นการออกเสียงที่คลาดเคลื่อน
ขยายความ :
“ส๎วากขาโต” เป็นคุณนามบทที่ 1 ของพระธรรม
คัมภีร์วิสุทธิมรรค ภาค 1 หน้า 273-275 (ฉอนุสสตินิทเทส) แสดงเหตุที่พระธรรมได้นามว่า “ส๎วากขาโต” ไว้ดังนี้ –
…………..
ปริยตฺติธมฺโม ตาว สฺวากฺขาโต อาทิมชฺฌปริโยสานกลฺยาณตฺตา สาตฺถสพฺยญฺชนเกวลปริปุณฺณปริสุทฺธพฺรหฺมจริยปฺปกาสนตฺตา จ ฯ
ถอดความ : พระธรรมชื่อว่า “สฺวากฺขาโต – ตรัสไว้ดีแล้ว” เพราะเป็นธรรมงามในเบื้องต้น งามในท่ามกลาง งามในเบื้องปลาย เป็นธรรมประกาศพรหมจรรย์พร้อมทั้งอรรถพร้อมทั้งพยัญชนะบริสุทธิ์บริบูรณ์สิ้นเชิง
อตฺถวิปลฺลาสาภาวโต วา สุฏฺฐุ อกฺขาโตติ สฺวากฺขาโต ฯ
ถอดความ : พระธรรมชื่อว่า “สฺวากฺขาโต – ตรัสไว้ดีแล้ว” เพราะปฏิบัติแล้วเห็นผลได้จริงตรงแท้ตามที่ตรัสไว้ ไม่วิปลาสคลาดเคลื่อนเป็นอย่างอื่น
โลกุตฺตรธมฺโม ปน นิพฺพานานุรูปาย ปฏิปตฺติยา ปฏิปทานุรูปสฺส จ นิพฺพานสฺส อกฺขาตตฺตา สฺวากฺขาโต ฯ
ถอดความ : พระธรรมชื่อว่า “สฺวากฺขาโต – ตรัสไว้ดีแล้ว” เพราะเป็นข้อปฏิบัติอันสามารถยังผู้ปฏิบัติให้ถึงพระนิพพานได้จริง
…………..
พจนานุกรมพุทธศาสน์ ฉบับประมวลศัพท์ ของท่าน ป.อ. ปยุตฺโต ที่คำว่า “สฺวากฺขาโต” สรุปความไว้ดังนี้ –
…………..
สฺวากฺขาโต : (พระธรรมอันพระผู้มีพระภาค) ตรัสดีแล้ว คือ ตรัสไว้เป็นความจริง ไม่วิปริต งามในเบื้องต้น งามในท่ามกลาง และงามในที่สุด สัมพันธ์สอดคล้องกันทั่วตลอด ประกาศพรหมจริยะคือทางดำเนินชีวิตอันประเสริฐ พร้อมทั้งอรรถ พร้อมทั้งพยัญชนะ บริสุทธิ์บริบูรณ์สิ้นเชิง (ข้อ ๑ ในธรรมคุณ ๖)
…………..
ดูก่อนภราดา!
: ยาดี ไม่กินไม่ใช้ โรคก็ไม่หาย
: พระธรรมตรัสไว้ดีเหลือหลาย ไม่ปฏิบัติ กิเลสก็ไม่หมด
#บาลีวันละคำ (3,771)
09-10-65
…………………………….
…………………………….