พรุ่งนี้ก็สายเสียแล้ว
พรุ่งนี้ก็สายเสียแล้ว
——————–
ผมเริ่มเรียนบาลีเมื่อปี ๒๕๐๖ อายุ ๑๘ เรียนไวยากรณ์ ๒ ปีเต็ม คือช่วงอายุ ๑๘-๑๙ ขึ้นปีที่ ๓ เรียนแปลธัมมปทัฏฐกถา ๘ ภาครวด แล้วเข้าสอบ ป.ธ.๓ ยังเป็นสามเณร (สมัยนั้นไม่มีประโยค ๑-๒) สอบแล้วอายุครบญัตติเป็นพระ ประกาศผลสอบ ผมก็กลายเป็น “พระมหาทองย้อย”
วัดมหาธาตุ ราชบุรีเป็นสำนักเรียนบาลีประจำจังหวัด สอบได้แล้วจะต้องช่วยกันสอนบาลีต่อไป พระราชวิสุทธิโสภณ (ช้อย มหาธีโร ป.ธ.๙) (สมณศักดิ์ขณะนั้น) เจ้าอาวาสพระอารามหลวง เจ้าคณะจังหวัด เจ้าสำนักเรียน และเป็นทั้งพระอุปัชฌาย์ของผม ก็มอบหมายให้ผมเป็นครูสอนบาลี
จนกระทั่งบัดนี้ผมก็ยังไม่เคยเห็นคำสั่งแต่งตั้ง ไม่มีใครสนใจแผ่นกระดาษ ไม่มีใครพูดถึงนิตยภัต ไม่รู้ด้วยซ้ำไปว่านิตยภัตคืออะไร ไม่เคยได้ ไม่เคยมี และไม่เคยคิด คิดอยู่อย่างเดียว-ปฏิบัติตามคำสั่งครูบาอาจารย์ รับใช้สำนัก รับใช้พระศาสนา ทำงานบูชาพระรัตนตรัย เอาบุญกุศลเป็นกำไรชีวิต
เวลานั้นพระเณรวัดมหาธาตุราชบุรีเป็นพระเณรมาจากต่างวัดเป็นจำนวนมาก มาอยู่วัดมหาธาตุเพื่อเรียนบาลี คติของนักเรียนสมัยโน้นคือเรียนเอาความรู้ เอาบุญ สอบได้เป็นผลพลอยได้ สอบได้แล้วก็ไม่ได้วางแผนจริงจังว่าจะเอาศักดิ์และสิทธิ์ไปทำอะไร นี่คือหัวใจของนักเรียนบาลีสมัยโน้น
เวลานั้นยังมีคนพูดคำว่า “เรียนบาลีเอาบุญเอากุศล” กันอยู่ทั่วไป
พระธรรมเสนานี (สมัยนั้น สมณศักดิ์ “ธรรมเสนานี” เป็นพระราชาคณะชั้นสามัญ) เจ้าอาวาสและเจ้าคณะจังหวัด ท่านมีพระฐานานุกรมรูปหนึ่ง ชื่อพระใบฎีกาสนั่น อายุน่าจะใกล้ๆ ๘๐ เดิมไม่ใช่พระวัดมหาธาตุ พระธรรมเสนานีสบอัธยาศัยอย่างไรก็ไม่ทราบ คว้าตัวจากวัดเดิมเอามาอยู่วัดมหาธาตุ ตั้งให้เป็นฐานานุกรม
หลวงลุงสนั่นแม้อายุมากท่านก็อยากเรียนบาลี เริ่มด้วยการท่องไวยากรณ์ตามแบบฉบับของการเริ่มเรียนบาลี เรียนไวยากรณ์จนจบแล้วเริ่มแปลธรรมบท (คือธัมมปทัฏฐกถา นักเรียนบาลีนิยมเรียกสั้นๆ ว่า ธรรมบท)
อุปสรรคอย่างสำคัญของหลวงลุงสนั่นก็คือความดื้อรั้นและทิฐิมานะจัด ไม่พอใจจะเรียนกับครูท่านไหน ท่านก็ไม่เข้าห้องเรียนเอาดื้อๆ พูดไม่ถูกหูก็เดินออกจากห้องเรียนเอาดื้อๆ (เรื่องนี้ฟังจากพระเก่า) จนกระทั่งพระธรรมเสนานีออกปาก “แกนี่มันจะมีแต่ฉันคนเดียวละมั้งที่เลี้ยงได้” (เรื่องนี้หลวงลุงสนั่นเล่าให้ฟังเอง)
พอพระธรรมเสนานีมรณภาพ หลวงลุงสนั่นก็เลิกเรียนบาลี หมายถึงเลิกไปเข้าห้องเรียน ใจรักเรียนยังมีอยู่ แต่เป็นที่รู้กันว่า-ใครสอนไม่ได้ ดื้อ สอนยาก
พระธรรมเสนานีมรณภาพปี ๒๕๐๓ ผมเป็นเณรมาอยู่วัดมหาธาตุปี ๒๕๐๖ นั่นแปลว่าตอนนั้นหลวงลุงสนั่นเลิกเรียนบาลีมาแล้ว ๓ ปี และกว่าผมจะได้เป็น “พระมหาทองย้อย” และเป็นครูสอนบาลีก็อีก ๓ ปี รวมแล้วหลวงลุงสนั่นทิ้งบาลีไปแล้ว ๖ ปี
แล้ววันคืนดีหลวงลุงสนั่นก็เกิดฟิตจะเรียนบาลีขึ้นมาอีก
ผมคุยเรื่องเรียนบาลีกับหลวงลุงสนั่นไม่กี่คำ คงจะเป็นเพราะ “สบอัธยาศัยอย่างไรก็ไม่ทราบ” นั่นแหละ หลวงลุงสนั่นบอกว่า มหาช่วยต่อบาลีให้ผมหน่อย
ตั้งแต่วันนั้น ผมก็มีหน้าที่ต้องไปที่กุฏิหลวงลุงสนั่นตามวันเวลาที่ตกลงกัน หลวงลุงสนั่นตั้งโต๊ะอย่างดี ครองจีวรเรียบร้อยเหมือนเข้าห้องเรียน พอผมนั่ง ท่านก็จะเปิดเป๊ปซี่ที่เตรียมไว้แล้วเลื่อนมาให้ตรงหน้าอย่างสุภาพ แล้วผมก็เริ่ม “ต่อบาลี” ให้ท่าน
ภาพจะเป็นแบบนี้ทุกครั้งไป
หลวงลุงสนั่นสติปัญญาปานกลาง ค่อนไปข้างทึบ (เหมือนผม) แต่ที่สบายใจอย่างยิ่งก็คือท่านยืนยันว่าจะเรียนบาลีเอาความรู้ สอบหรือไม่สอบเป็นอีกเรื่องหนึ่ง ท่านไม่เคยพูดไปถึงขั้นสอบได้ เพราะฉะนั้น กระบวนการต่อบาลีจึงดำเนินไปอย่างโปร่งใจ ไม่มีอะไรกดดัน
หลวงลุงสนั่นเป็นคนรุ่นเก่า เมื่อยอมรับนับถือใครเป็นครูก็นับถือจริง ทั้งอายุทั้งพรรษาผมอ่อนกว่าหลวงลุงสนั่นแทบไม่เห็นฝุ่น (ผมเป็นเณรมาอยู่วัดมหาธาตุ หลวงลุงสนั่นเป็นพระผู้ใหญ่อยู่แล้ว) แต่หลวงลุงสนั่นบำเพ็ญอาจริยวัตรเข้มแข็งมาก ให้เกียรติผมในทุกที่ และเกรงใจผมในทุกเรื่อง ซึ่งทำให้ผมยิ่งต้องระวังตัวมากขึ้น
“มหาย้อยไปทำท่าไหน ใบฎีกาหนั่นยอมให้สอนบาลีได้”
ผมโดนถามบ่อย แต่ไม่เคยตอบได้ เพราะผมเองก็ไม่รู้
ต่อบาลีกันอยู่นานพอสมควร สุดท้ายหลวงลุงสนั่นไม่มีโอกาสได้สอบเพราะอาพาธ ต้องเข้าโรงพยาบาลสงฆ์ที่กรุงเทพฯ ถึงไม่อาพาธผมก็ไม่แน่ใจว่าท่านจะเข้าสอบหรือเปล่า ท่านไม่เคยพูดถึงการสอบ ผมไปเยี่ยมท่านครั้งหนึ่งหรือ ๒ ครั้ง ออกจากโรงพยาบาลกลับวัดได้ไม่นานท่านก็มรณภาพ
เล่าเรื่องพระใบฎีกาสนั่นเพื่อจะบอกว่า นักเรียนบาลีที่ตั้งใจเรียนบาลีเพื่อเอาบุญเอาความรู้เคยมีตัวตนอยู่จริงในโลกนี้
…………………
เดี๋ยวนี้เราเรียนบาลีโดยตั้งเข็มไปที่การสอบได้จนแทบจะไม่ได้คิดถึงความรู้ แล้วเราก็พยายามอธิบายกันว่า แม้จะเรียนเพื่อสอบได้ มันก็ต้องได้ความรู้ไปด้วยโดยอัตโนมัติหรือโดยธรรมชาติอยู่แล้ว เพราะฉะนั้น การเรียนเพื่อสอบได้จึงไม่ใช่เรื่องเสียหาย และจึงยังคงตั้งใจทำกันอยู่ต่อไป
ผลที่เกิดขึ้นแล้วก็คือ เรามีผู้สอบได้แต่ไม่มีความรู้อยู่เป็นอันมาก
เพื่อนรุ่นพี่ผมคนบ้านเดียวกัน สอบ ป.ธ.๔ วิชากลับ (วิชาแปลไทยเป็นมคธ) ซึ่งใช้ธัมมปทัฏฐกถา ภาค ๑ เป็นแบบเรียน เขาลงทุนท่องธัมมปทัฏฐกถา ภาค ๑ ทั้งเล่ม ผลคือเขาสอบ ป.ธ.๔ ได้ แต่เขาบอกเองเลยว่า “อย่ามาเอาความรู้บาลีกับผม”
พระมหาเปรียญธรรม ๕ ประโยครูปหนึ่ง อาจารย์ที่คุมอบรมบาลีก่อนสอบขอให้ช่วยอธิบายบาลีไวยากรณ์พื้นฐานบางเรื่องให้ฟัง ปรากฏว่าอธิบายไม่ได้
ที่ชัดขึ้นมาอีก คัมภีร์ที่ใช้เป็นแบบเรียนในหลักสูตรบาลีของเรา ถ้าให้นักเรียนบาลีที่เรียนจบแล้วอธิบายสถานะของคัมภีร์เหล่านั้นแบบ-แนะนำคัมภีร์ให้คนไม่รู้จักได้รู้ไว้เป็นความรู้ จะสามารถอธิบายได้สักกี่รูปกี่คน เอาแค่-บอกว่ามีคัมภีร์อะไรบ้าง อาจจะไล่รายชื่อไม่ครบด้วยซ้ำไป
การเรียนบาลีของเราเป็นการเรียนวิธีแปลภาษาจากคัมภีร์ที่ใช้เป็นแบบเรียน ซึ่งมีกรอบเกณฑ์กำหนดไว้ว่า ศัพท์นี้ต้องแปลอย่างนี้ ภาษาบาลีประโยคนี้ต้องแปลเป็นไทยแบบนี้ ภาษาไทยประโยคนี้ต้องแปลเป็นบาลีแบบนี้ ทำได้ตามเกณฑ์ที่กำหนด เป็นอันว่าสอบได้
เมื่อตั้งเข็มไว้ที่การสอบได้ นักเรียนบาลีของเราจึงมุ่งเรียนวิธีแปลโดยที่แทบจะไม่ต้องสนใจว่าเรื่องราวที่แปลเป็นอย่างไร เห็นศัพท์ แปลได้ เห็นข้อความเป็นประโยค แปลได้ เท่านี้พอแล้ว เพราะทำเท่านี้คือสอบได้ ความรู้อื่นใดนอกจากนี้เป็นเรื่องนอกขอบเขตการเรียน
พิสูจน์ได้จากเรื่องในธรรมบท ๘ ภาค ที่นักเรียนสอบผ่านสอบได้มาแล้วนั่นเอง ให้ยกเรื่องใดเรื่องหนึ่งมาเล่าแบบถ่ายทอดต่อ นักเรียนบาลีของเราจะทำไม่ได้ ทำได้ก็ตะกุกตะกัก ไม่ใช่เพราะพูดไม่เป็น แต่เพราะจับประเด็นไม่ถูก เนื่องจากเราไม่ได้เรียนเอาความรู้จากเรื่องที่แปล แต่เราเรียนวิธีแปลเรื่องที่อ่าน การถ่ายทอดต่อเป็นเรื่องนอกขอบเขตการเรียน
เพราะตั้งเป้าไว้ที่สอบได้ ผลเสียที่น่าเจ็บปวดอย่างหนึ่งที่เกิดขึ้นก็คือ การทำทุจริตเพื่อให้สอบได้
การทำทุจริตในการสอบนี้ ส่วนมากจะมองกันว่าเป็นเรื่องธรรมดา เหตุผลที่อ้างก็คือ คนยังเป็นปุถุชนย่อมทำผิดทำชั่วได้เป็นธรรมดา
แต่ถ้าฉุกคิดสักนิด จะเห็นความวิปริตในความคิดเช่นนั้น
ถามว่า การเรียนนักธรรม+เรียนบาลี คือเรียนอะไร?
ตอบว่า คือเรียนการไม่ทำทุจริต
ไปเอาคำตอบแบบนี้มาจากไหน?
เอามาจากโอวาทปาติโมกข์ที่เราคุ้นกันดีนั่นเอง
วรรคแรกของโอวาทปาติโมกข์บทนี้คือ สพฺพปาปสฺส อกรณํ แปลว่า การไม่ทำบาปทั้งปวง
ไม่ทำบาปคือไม่ทำทุจริต ใช่หรือไม่
โอวาทปาติโมกข์เป็นคำสอนหลักของพระพุทธเจ้าทุกพระองค์ ใช่หรือไม่
เรียนนักธรรม+เรียนบาลี คือเรียนหลักคำสอนของพระพุทธเจ้า
ซึ่งนั่นก็คือ เรียนไม่ทำทุจริตนั่นเอง ใช่หรือไม่
แต่กลับมีคนทำทุจริตในกระบวนการเรียนไม่ทำทุจริตนั่นเอง
เป็นการกระทำที่วิปริตไปชั้นหนึ่งแล้ว
แล้วยังมีคนบอกว่า การทำทุจริตในกระบวนการเรียนไม่ทำทุจริตนั้นเป็นเรื่องธรรมดา
เป็นความเห็นที่วิปริตซ้ำเข้าไปอีก
…………………
การเอาเรื่องการเรียนบาลีในมุมนี้มาพูด บางท่านอาจเห็นว่าเป็น “ไฟในนำออก” แต่ผมพิจารณาแล้วเห็นว่า ไม่ใช่เรื่องไฟในไฟนอก เพราะเป็นเรื่องที่เราทำโดยเปิดเผยอยู่แล้ว แต่เป็นจุดอ่อน จุดอับ จุดดับของเราเองที่เราทำตัวเอง เพราะไม่รู้ หรือรู้แต่ไม่แก้ไข ไม่คิดจะแก้ไข หรือยังไม่ได้แก้ไข
นึกออกไหมครับ ช่วงหนึ่งมีการจุดกระแสจะให้วุฒิ ป.ธ.๙ เป็นปริญญาเอก นักวิชาการที่รู้และเห็นวิธีเรียนบาลีของเราพากันเบ้ปาก ส่ายหน้า บอกว่าถ้าจะให้ ป.ธ.๙ เป็นปริญญาเอกต้องปรับปรุงวิธีเรียนบาลีกันอย่างขนานใหญ่
…………………
ก้าวแรกของการปรับปรุงที่ผมขอเสนอก็คือ ต้องใส่แนวคิด อุดมคติ อุดมการณ์ “เรียนบาลีเพื่อเอาความรู้” เข้าไปใน “หัว” ของนักเรียนบาลี-แบบที่พระใบฎีกาสนั่นท่านเรียน
เรียนเพื่อสอบได้ก็ยังต้องเอา ขอย้ำนะครับ เดี๋ยวจะมีคนอ่านหนังสือไม่แตกมาถล่มผมเข้า – เรียนเพื่อสอบได้ก็ยังคงไว้ แต่เพิ่มเรียนเพื่อเอาความรู้เข้าไปอีก ความจริงควรจะพูดว่า เอาการเรียนเพื่อความรู้กลับคืนมา เพราะนั่นเป็นเป้าหมายดั้งเดิมของการเรียนบาลีที่ถูกเบียดถูกบี้จนยับเยิน ต้องฟื้นฟูให้ฟุ้งเฟื่องขึ้นมาใหม่
และต้องให้น้ำหนักแก่การเรียนเพื่อเอาความรู้ไม่ให้น้อยไปกว่าเรียนเพื่อสอบได้ ไม่ใช่เอาไปแฝงไว้กับข้ออ้างที่ว่า “แม้จะเรียนเพื่อสอบได้ มันก็ต้องได้ความรู้ไปด้วยโดยอัตโนมัติหรือโดยธรรมชาติอยู่แล้ว” – อย่างที่กำลังอ้างกันอยู่ในบัดนี้
แนวคิด อุดมคติ อุดมการณ์ “เรียนบาลีเพื่อเอาความรู้” คงไม่ฟื้นขึ้นมาง่ายๆ ในวันนี้พรุ่งนี้ หรือปีนี้ปีหน้า
แต่ต้องลงมือปลูกฝังกันตั้งแต่วันนี้
“พรุ่งนี้ก็สายเสียแล้ว” – อย่างที่ศาสตราจารย์ศิลป์ พีระศรี ท่านพูดไว้นั่นแหละ
พลเรือตรี ทองย้อย แสงสินชัย
๘ พฤษภาคม ๒๕๖๕
๑๘:๐๒
………………………………………..
พรุ่งนี้ก็สายเสียแล้ว
………………………………………..