บาลีวันละคำ

อภิสมาจาร (บาลีวันละคำ 3,615)

อภิสมาจาร

ศัพท์วิชาการที่ชาวพุทธควรรู้

อ่านว่า อะ-พิ-สะ-มา-จาน

แยกศัพท์เป็น อภิ + สม + อาจาร

(๑) “อภิ” 

เป็นคำอุปสรรค มีความหมายว่า เหนือ, ทับ, ยิ่ง, ข้างบน (over, along over, out over, on top of) โดยอรรถรสของภาษาหมายถึง มากมาย, ใหญ่หลวง (very much, greatly)

(๒) “สม

บาลีอ่านว่า สะ-มะ ในที่นี้มีที่มาได้ 2 นัย คือ –

นัย 1 มาจากศัพท์ว่า “สม” (สะ-มะ) รากศัพท์มาจาก สมฺ (ธาตุ = ห้อย, ย้อย) + (อะ) ปัจจัย

: สมฺ + = สม แปลตามศัพท์ว่า “ภาวะที่ห้อยอยู่” (คืออยู่เคียงคู่กัน) 

สม” ในบาลีเป็นคุณศัพท์ (ถ้าเป็นนาม เป็นปุงลิงค์) ใช้ในความหมายดังนี้ –

(1) เรียบ, ได้ระดับ (even, level)

(2) เหมือนกัน, เสมอกัน, อย่างเดียวกัน (like, equal, the same)

(3) เที่ยงธรรม, ซื่อตรง, มีจิตไม่วอกแวก, ยุติธรรม (impartial, upright, of even mind, just)

: สม + อาจาร = สมาจาร 

นัย 2 คำเดิมมาจาก “สํ” (สัง) เป็นคำอุปสรรค ตำราบาลีไทยแปลว่า “พร้อม, กับ, ดี” หมายถึง พร้อมกัน, ร่วมกัน (together) แปลงนิคหิตเป็น มฺ (มะ)

: สํ > สม + อาจาร = สมาจาร 

(๓) “อาจาร” 

บาลีอ่านว่า อา-จา-ระ รากศัพท์มาจาก อา (คำอุปสรรค = ทั่วไป, ยิ่ง) + จรฺ (ธาตุ = ประพฤติ) + ปัจจัย, ลบ , ทีฆะ (ยืดเสียง) อะ ที่ -(รฺ) เป็น อา (จรฺ > จารฺ)

: อา + จรฺ = อาจรฺ + = อาจรณ > อาจร > อาจาร แปลตามศัพท์ว่า “การประพฤติทั่ว” = อันใดที่ควรประพฤติ ก็ประพฤติอันนั้นทั่วทั้งหมด ไม่บกพร่อง

อาจาร” (ปุงลิงค์) ในบาลีใช้ในความหมายดังนี้ –

(1) เป็นคำนาม = การวางตัว, ความประพฤติ, การปฏิบัติ, ความประพฤติชอบ, กิริยามารยาทที่ดี (way of behaving, conduct, practice, right conduct, good manners)

(2) เป็นคำคุณศัพท์ = ประพฤติดี, ประพฤติชอบ, มีความประพฤติเช่นนั้นเป็นกิจวัตร (practising, indulging in, or of such & such a conduct)

พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2554 บอกไว้ว่า –

อาจาร, อาจาร– : (คำนาม) ความประพฤติ, ความประพฤติดี; จรรยา, มรรยาท; ธรรมเนียม, แบบแผน, หลัก. (ป., ส.).”

การประสมคำ : 

สม (สํ > สม) + อาจาร = สมาจาร (สะ-มา-จา-ระ) แปลว่า (1) “ความประพฤติที่เหมาะสม” (2) “ความประพฤติดีงาม” หมายถึง ความประพฤติ, การปฏิบัติตัว (conduct, behaviour) 

อภิ + สมาจาร = อภิสมาจาร (อะ-พิ-สะ-มา-จา-ระ) แปลว่า “ความประพฤติที่เหมาะสมดีงามอย่างยิ่ง” หมายถึง กิริยา วาจา มารยาท และการปฏิบัติตัวที่ดีงามเมื่อปรากฏต่อสายตาของผู้คน นำมาซึ่งความเลื่อมใสชื่นชมแก่ผู้ที่ได้พบเห็น

ขยายความ :

พจนานุกรมพุทธศาสน์ ฉบับประมวลศัพท์ ของท่าน ป.อ.ปยุตฺโต บอกความหมายของ “อภิสมาจาร” ไว้ว่า –

…………..

อภิสมาจาร : ความประพฤติดีงามที่ประณีตยิ่งขึ้นไป, ขนบธรรมเนียมเพื่อความประพฤติดีงามยิ่งขึ้นไปของพระภิกษุ และเพื่อความเรียบร้อยงดงามแห่งสงฆ์; เทียบ อาทิพรหมจรรย์.

…………..

อภิสมาจาร” เมื่อใช้ประกอบเข้ากับคำว่า “สิกฺขา” ลงปัจจัยเปลี่ยนรูปเป็น “อภิสมาจาริกา” เรียกควบกันว่า “อภิสมาจาริกาสิกฺขา” (อะ-พิ-สะ-มา-จา-ริ-กา-สิก-ขา) ใช้ในภาษาไทยเป็น “อภิสมาจาริกาสิกขา” (-สิกขา ไม่มีจุดใต้ )

พจนานุกรมพุทธศาสน์ ฉบับประมวลศัพท์ ของท่าน ป.อ.ปยุตฺโต บอกความหมายไว้ว่า – 

…………..

อภิสมาจาริกาสิกขา : หลักการศึกษาอบรมในฝ่ายขนบธรรมเนียมที่จะชักนำความประพฤติ ความเป็นอยู่ของพระสงฆ์ให้ดีงามมีคุณยิ่งขึ้นไป, สิกขาฝ่ายอภิสมาจาร; เทียบ อาทิพรหมจริยกาสิกขา.

…………..

ที่คำว่า “อาทิพรหมจริยกาสิกขา” พจนานุกรมพุทธศาสน์ ฉบับประมวลศัพท์ ของท่าน ป.อ.ปยุตฺโต บอกไว้ว่า – 

…………

อาทิพรหมจริยกาสิกขา : หลักการศึกษาอบรมในฝ่ายบทบัญญัติหรือข้อปฏิบัติเบื้องต้นของพรหมจรรย์ สำหรับป้องกันความประพฤติเสียหาย, ข้อศึกษาที่เป็นเบื้องต้นแห่งพรหมจรรย์ หมายถึง สิกขาบท ๒๒๗ ที่มาในพระปาฏิโมกข์.

…………

อาทิพรหมจริยกาสิกขา” คือศีล 227 สิกขาบท เป็นกฎระเบียบเพื่อให้ดำรงสมณเพศอยู่ได้ ส่วน “อภิสมาจาริกาสิกขา” เป็นกฎระเบียบเพื่อให้สมณเพศมีความงดงามน่าเลื่อมใส

ทั้งสองส่วนนี้บรรพชิตในพระพุทธศาสนาต้องประพฤติปฏิบัติด้วยความเอาใจใส่อย่างยิ่ง โดยเฉพาะ “อาทิพรหมจริยกาสิกขา” คือ ศีล 227 เป็นพื้นฐานสำคัญของความเป็นบรรพชิต 

ภิกษุผู้ประพฤติสำรวมในศีล 227 แม้บางเวลากิริยาวาจาจะรุ่มร่ามไปบ้าง ก็ยังนับว่าเป็นผู้งามแท้ในศีล

ตรงข้ามกับภิกษุที่ “อาทิพรหมจริยกาสิกขา” ขาดรุ่งริ่ง แม้จะแต่งกิริยาวาจาคือ “อภิสมาจาริกาสิกขา” ให้เรียบร้อยอย่างไร ซึ่งจะนับว่างามแท้นั้นหามิได้เลย

อุปมา :

อาทิพรหมจริยกาสิกขา” เหมือนอาบน้ำให้เนื้อตัวสะอาด

อภิสมาจาริกาสิกขา” เหมือนประแป้งแต่งตัวให้สวยงาม

…………..

ดูก่อนภราดา!

: มารยาทงาม น่าชมไปครึ่งตัว

: แต่ถ้าประพฤติชั่ว น่าชังหมดทั้งตัว

…………………………….

อาทิพรหมจรรย์

ดูโพสต์ในเฟซบุ๊กของครูทองย้อย

…………………………….

#บาลีวันละคำ (3,615)

6-5-65 

…………………………….

ดูโพสต์ในเฟซบุ๊กของครูทองย้อย

…………………………….

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องข้อมูลจำเป็นถูกทำเครื่องหมาย *