บาลีวันละคำ

อุกฺกุฏิก – กระหย่ง (บาลีวันละคำ 1,545)

อุกฺกุฏิกกระหย่ง

นั่งกระหย่ง นั่งกระโหย่ง นั่งหย่อง

นั่งท่าไหน?

คำว่า กระหย่ง กระโหย่ง หย่อง แปลมาจากภาษาบาลีว่า “อุกฺกุฏิก

อุกฺกุฏิก” (อุก-กุ-ติ-กะ) รากศัพท์มาจาก อุ (คำอุปสรรค = ขึ้น, นอก) + กุฏฺ (ธาตุ = คด, โค้ง, งอ), ซ้อน กฺ ระหว่าง อุปสรรคกับธาตุ (อุ + กฺ + กุฏฺ) + อิก ปัจจัย (หรือ + ปัจจัย, ลง อิ อาคมท้ายธาตุ : กุฏฺ + อิ + )

: อุ + กฺ + กุฏฺ = อุกฺกุฏฺ + อิก = อุกฺกุฏิก แปลตามศัพท์ว่า “การงอขึ้น” หมายถึง การโก่งหรืองอ (bending up)

อุกฺกุฏิก” มักใช้เป็นคุณศัพท์ขยายกริยา “นั่ง” เช่น อุกฺกุฏิกํ นิสีทิตฺวา = นั่งกระหย่ง

มีปัญหาว่า “นั่งกระหย่ง” คือนั่งท่าไหน?

พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2554 บอกไว้ว่า –

(1) กระหย่ง ๒ : (คำวิเศษณ์) ฯลฯ อาการที่นั่งเอาปลายเท้าตั้งลงที่พื้น ส้นเท้าทั้ง ๒ รับก้น เรียกว่า นั่งกระหย่ง, กระโหย่ง หย่ง หย่ง ๆ โหย่ง หรือ โหย่ง ๆ ก็ว่า.

(2) กระโหย่ง ๒ : (คำวิเศษณ์) ฯลฯ อาการที่นั่งเอาปลายเท้าตั้งลงที่พื้น ส้นเท้าทั้ง ๒ รับก้น เรียกว่า นั่งกระโหย่ง, กระหย่ง หย่ง หย่ง ๆ โหย่ง หรือ โหย่ง ๆ ก็ว่า.

ในภาษาไทยมีคำว่า “นั่งยองๆ” คำว่า “ยองๆ” กับคำว่า “กระหย่ง” หรือ “กระโหย่ง” เป็นคำเดียวกันโดยไม่ต้องสงสัย เพียงแต่ว่าคำไหนกลายไปจากคำไหนเท่านั้น

แม้แต่คำว่า “ยงโย่ยงหยก” ก็คงจะต้องกลายรูปกลายเสียงไปจาก “ยองๆ” “กระหย่ง” “กระโหย่ง” นี่ด้วย

พจน.54 บอกความหมายของ “ยองๆ” และ “นั่งยองๆ” ไว้ดังนี้ –

(1) ยอง ๑, ยอง ๆ : (คำวิเศษณ์) อาการที่นั่งชันเข่าทั้ง ๒ โดยก้นไม่ถึงพื้น เช่น นั่งยองอยู่ในท้องแม่. (ไตรภูมิ), หย่อง ก็ว่า.

(2) นั่งยอง ๆ : (คำกริยา) นั่งโดยวิธีชันเข่าทั้ง ๒ ข้าง ไม่ให้ก้นถึงพื้น.

จากบทนิยามคำว่า “นั่งยองๆ” กับคำว่า “กระหย่ง” หรือ “กระโหย่ง” จะเห็นได้ว่า อาการที่นั่งนั้นต่างกัน คือ –

นั่งยองๆ” : นั่งชันเข่าทั้ง ๒ ไม่ให้ก้นถึงพื้น = นั่งท่านี้จะเอาส้นเท้าทั้ง ๒ รับก้นไม่ได้

นั่งกระหย่ง” หรือ “นั่งกระโหย่ง” : นั่งเอาปลายเท้าตั้งลงที่พื้น ส้นเท้าทั้ง ๒ รับก้น = นั่งท่านี้จะชันเข่าทั้ง ๒ ไม่ได้

พจนานุกรมพุทธศาสน์ ฉบับประมวลศัพท์ ของท่าน ป.อ.ปยุตฺโต บอกไว้ว่า –

กระหย่ง : (ในคำว่า “นั่งกระหย่ง”) นั่งคุกเข่าเอาปลายเท้าตั้งลงที่พื้น ส้นเท้าทั้งสองรับก้น เรียกว่า นั่งกระโหย่ง ก็ได้; บางแห่งว่าหมายถึงนั่งยองๆ.”

จะเห็นว่า พจนานุกรมพุทธศาสน์ ฉบับประมวลศัพท์ ก็นิยามความหมายตามพจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถานนั่นเอง แต่ได้เพิ่มเติมว่า บางแห่งบอกว่า “นั่งกระหย่ง” หรือ “นั่งกระโหย่ง” ก็คือ “นั่งยองๆ

ในบทละครเรื่อง สังข์ทอง พระราชนิพนธ์ในพระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย เหตุการณ์ตอนเจ้าเงาะเข้าเฝ้านางมณฑาที่กระท่อมปลายนา มีความตอนหนึ่งว่า –

๏ เมื่อนั้น

เจ้าเงาะทำเหมือนถวายตัวใหม่

เฝ้าแต่แลมาแลไป

ไม่เข้าใจนบนอบหมอบกราน

นั่งยองยองมองดูแล้วปูผ้า

พนมมือเมินหน้าท่าแบกขวาน

ราวกับจะรับศีลสมภาร

พังพาบกราบกรานท่านแม่ยาย

(สังข์ทอง ตอนตีคลี)

กลอนวรรคที่ว่า “ราวกับจะรับศีลสมภาร” บอกให้รู้ว่า นั่งยองๆ นั้นเป็นท่านั่งในเวลารับศีลหรือเวลาปฏิบัติพิธีการในพระพุทธศาสนา

ผู้เขียนบาลีวันละคำเคยเห็นคนเก่ากราบพระรัตนตรัยโดยเบญจางคประดิษฐ์จะเริ่มด้วยท่านั่งยองๆ แล้วจึงคุกเข่า เมื่อก้มกราบครั้งหนึ่งแล้วยกตัวขึ้นก็จะกลับนั่งยองๆ ท่าเดิมอีก แล้วเริ่มกราบครั้งที่สองที่สาม

อนึ่ง พระรุ่นเก่าเวลาแสดงอาบัติ นั่งหันหน้าเข้าหากันก็จะนั่งในท่านั่งยองๆ เช่นกัน

จึงน่าจะตกลงใจได้ว่า สำนวนบาลีที่ว่า “นั่งกระหย่งประนมมือ” (อุกฺกุฏิกํ  นิสีทิตฺวา  อญฺชลึ  ปคฺคเหตฺวา) ก็คือ “นั่งยองๆ” นี่เอง ไม่ใช่นั่งเอาปลายเท้าตั้งลงที่พื้น ส้นเท้าทั้งสองรับก้น ดังบทนิยามในพจนานุกรมฯ

อย่างไรก็ตาม พจนานุกรมบาลี-อังกฤษ อธิบายท่านั่ง “อุกฺกุฏิก” ตามทัศนะของฝรั่งไว้ดังนี้ –

Ukkuṭika : a special manner of squatting. The soles of the feet are firmly on the ground, the man sinks down, the heels slightly rising as he does so, until the thighs rest on the calves, and the hams are about six inches or more from the ground. Then with elbows on knees he balances himself. Few Europeans can adopt this posture, & none (save miners) can maintain it with comfort, as the calf muscles upset the balance. Indians find it easy, & when the palms of the hands are also held together upwards, it indicates submission.

อุกฺกุฏิก : การนั่งกระโหย่ง, การนั่งคุกเข่าโดยเท้าทั้งสองติดพื้นอย่างเต็มที่แล้วก้มตัวลง, ยกส้นเท้าทั้งสองข้างขึ้นเล็กน้อยในขณะก้มตัวลงนั้น จนกระทั่งต้นขาทั้งสองทาบอยู่บนน่อง และตะโพกสูงขึ้นจากพื้นประมาณ 6 นิ้ว หรือมากกว่านั้น แล้วเอาข้อศอกไว้บนหัวเข่า และทรงตัวไว้. ชาวยุโรปน้อยคนสามารถนำเอาท่านี้มาใช้, และไม่มีใครคงท่าเช่นนั้นได้อย่างไม่ลำบาก เพราะกล้ามเนื้อของน่องจะทำให้ทรงตัวไม่ถนัด. ชาวอินเดียเห็นว่าทำง่าย และเมื่อเอาฝ่ามือทั้งสองประกบกันไว้และยกตั้งขึ้น (ประนมมือ) ก็เป็นการแสดงการมอบหรือถวายตัว.

…………

: นั่งปฏิบัติธรรมอยู่บนกองอิฐ

: ประเสริฐกว่านั่งคิดการทุจริตอยู่บนกองทอง

—————

(ส่งการบ้านให้คุณครู Charanya Deeboonmee Na Chumphae)

27-8-59

ดูโพสต์ในเฟซบุ๊กของครูทองย้อย