บาลีวันละคำ

เอกฉันท์ (บาลีวันละคำ 395)

เอกฉันท์

อ่านแบบไทยว่า เอก-กะ-ฉัน

บาลีเป็น “เอกจฺฉนฺท” อ่านว่า เอ-กัด-ฉัน-ทะ

เอกจฺฉนฺท” ประกอบด้วย เอก + ฉนฺท = เอกจฺฉนฺท (บาลีซ้อน ตามอักขรวิธี)

เอก” แปลว่า “หนึ่ง” ใช้ใน 2 สถานะ คือ (1) เป็นสังขยา (คำบอกจำนวน) เช่น “ชายหนึ่งคน” (เน้นที่จำนวน 1 คน = มุ่งจะกล่าวว่าชายที่เอ่ยถึงนี้มีเพียง “หนึ่งคน”) และ (2) เป็นคุณศัพท์ เช่น “ชายคนหนึ่ง” (ไม่เน้นที่จำนวน = มุ่งจะกล่าวถึงชายคนใดคนหนึ่งเท่านั้น)

ในที่นี้ “เอก” ใช้ในฐานะเป็นคุณศัพท์

ฉนฺท” แปลว่า ความพอใจ, ความชอบใจ, ความยินดี, ความต้องการ, ความรักใคร่, ความปรารถนา, ความอยาก, ความประสงค์, สิ่งกระตุ้นใจ, แรงดลใจ, ความตื่นเต้น, ความตั้งใจ, การตกลงใจ

เอกจฺฉนทเอกฉันท์” ความหมายเด่นในภาษาบาลีคือ = ความชอบใจในสิ่งเดียวกัน หรือใจตรงกัน เช่นพอใจที่จะทำสิ่งใดสิ่งหนึ่งร่วมกัน

ความหมายเด่นในภาษาไทยคือ = การตกลงใจร่วมกัน หรือมีความเห็นเป็นอย่างเดียวกันทั้งหมด

ความหมายที่ตรงกันทั้งในบาลีและไทยคือ = ต้องไม่มีเสียงคัดค้าน จึงจะเรียกได้ว่า “เอกฉันท์”

: ถ้า “ฉันต้องเป็นเอก” ก็ยากที่จะมีเอกฉันท์

: แต่ถ้า “เราเป็นเอกร่วมกัน” ก็เอกฉันท์ทันที

บาลีวันละคำ (395)

14-6-56

เอก ค.(พจนานุกรมศัพท์บาลี)

หนึ่ง.

สัง.

หนี่ง, ๑, (คน) หนึ่ง, ผู้เดียว

ฉนฺท (บาลี-อังกฤษ)

สิ่งกระตุ้นใจ, แรงดลใจ, ความตื่นเต้น; ความตั้งใจ, การตกลงใจ, ความปรารถนา, ความอยาก, ความประสงค์, ความพอใจ

ฉนฺท ป.(พจนานุกรมศัพท์บาลี)

ฉันทะ, 1 ความพอใจ, ความชอบใจ ความยินดี, ความต้องการ, ความรักใคร่ในสิ่งนั้น ๆ, ความรักงาน (เป็นกลาง ๆ เป็นอกุศลก็มี เป็นกุศลก็มี, เป็นอัญญสมานาเจตสิกข้อ ๑๓, ที่เป็นอกุศล เช่นในกามฉันทะ ที่เป็นกุศล เช่น ข้อ ๑ ในอิทธิบาท ๔) 2. ความยินยอม, ความยอมให้ที่ประชุมทำกิจนั้น ๆ ในเมื่อตนมิได้ร่วมอยู่ด้วย, เป็นธรรมเนียมของภิกษุ ที่อยู่ในวัดซึ่งมีสีมารวมกัน มีสิทธิที่จะเข้าประชุมทำกิจของสงฆ์ เว้นแต่ภิกษุนั้นอาพาธจะเข้าร่วมประชุมด้วยไม่ได้ ก็มอบฉันทะคือ แสดงความยินยอมให้สงฆ์ทำกิจนั้น ๆ ได้

เอกฉันท์ (ประมวลศัพท์)

มีความพอใจอย่างเดียวกัน, เห็นเป็นอย่างเดียวกันหมด

เอกฉันท์

 [เอกกะ-] ว. มีความเห็นเป็นอย่างเดียวกันหมด.

[๙๙]  สห  คาถาปริโยสานา  เตน  พฺราหฺมเณน  สทฺธึ  เอกจฺฉนฺทา 

เอกปฺปโยคา  เอกาธิปฺปายา  เอกวาสนวาสิตา  เตสํ  อเนกปาณสหสฺสานํ 

วิรชํ  วีตมลํ  ธมฺมจกฺขุํ  อุทปาทิ  ยงฺกิญฺจิ  สมุทยธมฺมํ  สพฺพนฺตํ  นิโรธธมฺมนฺติ 

ตสฺส  จ  พฺราหฺมณสฺส  อนุปาทาย  อาสเวหิ  จิตฺตํ  วิมุจฺจิ ฯ

จูฬนิเทส พระไตรปิฎกเล่ม ๓๐ ข้อ ๙๙, ๑๑๕, ๕๓๑

ดูโพสในเฟซบุ๊กของครูทองย้อย