บาลีวันละคำ

ภคินีภริยา (บาลีวันละคำ 3,609)

ภคินีภริยา

ภรรยาเยี่ยงน้องสาว

…………..

สมัยหนึ่ง พระผู้มีพระภาคประทับอยู่ ณ เมืองสาวัตถี ได้ทรงแสดงเรื่องภรรยา 7 ประเภท โปรดนางสุชาดาสะใภ้ของท่านอนาถบิณฑิกเศรษฐี ภรรยา 7 ประเภทมีคำเรียกตามบาลีพระไตรปิฎก (ภริยาสูตร สัตตกนิบาต อังคุตรนิกาย พระไตรปิฎกเล่ม 23 ข้อ 60) ดังนี้:- 

วธกสมา = ภรรยาเสมอด้วยผู้ฆ่า

โจรสมา = ภรรยาเสมอด้วยโจร

อัยยสมา = ภรรยาเสมอด้วยนาย

มาตุสมา = ภรรยาเสมอด้วยมารดา

ภคินิสมา = ภรรยาเสมอด้วยน้องสาว

สขีสมา = ภรรยาเสมอด้วยเพื่อน

ทาสีสมา = ภรรยาเสมอด้วยทาส

ในภาษาไทย ท่านใช้คำเรียกภรรยาทั้ง 7 ประเภทว่า วธกาภริยา โจรีภริยา อัยยาภริยา มาตาภริยา ภคินีภริยา สขีภริยา ทาสีภริยา

…………..

ภคินีภริยา” อ่านว่า พะ-คิ-นี-พะ-ริ-ยา

ประกอบด้วยคำว่า ภคินี + ภริยา 

(๑) “ภคินี” 

อ่านว่า พะ-คิ-นี รากศัพท์มาจาก –

(1) ภชฺ (ธาตุ = เสพ, คบหา) + (อะ) ปัจจัย, แปลง ชฺ ที่สุดธาตุเป็น (ภชฺ > ภค) + อินี ปัจจัยเครื่องหมายอิตถีลิงค์ 

: ภชฺ + = ภช > ภค + อินี = ภคินี แปลตามศัพท์ว่า “ผู้ที่บุคคลพึงคบหา

(2) ภค (อวัยวะเป็นที่เสพ) + อินี ปัจจัยเครื่องหมายอิตถีลิงค์ 

: ภค + อินี = ภคินี แปลตามศัพท์ว่า “ผู้มีอวัยวะเป็นที่เสพ” 

ภคินี” หมายถึง พี่สาวหรือน้องสาว

บาลี “ภคินี” สันสกฤตก็เป็น “ภคินี

สํสกฤต-ไท-อังกฤษ อภิธาน บอกไว้ดังนี้ –

ภคินี : (คำนาม) พี่หรือน้องสาว; สตรีทั่วไป; a sister; a woman in general.” 

พจนานุกรมบาลี-อังกฤษ แปล “ภคินี” ว่า a sister

พจนานุกรม สอ เสถบุตร แปล sister ว่า –

(1) น้องสาว, พี่สาว, พี่น้อง, นางชี 

(2) พยาบาลหญิงชั้นหัวหน้า

พจนานุกรมอังกฤษ-บาลี แปล sister เป็นบาลีดังนี้: 

(1) bhaginī ภคินี (พะ-คิ-นี) = พี่สาว, น้องสาว

(2) anujā อนุชา (อะ-นุ-ชา) = “(หญิง) ผู้เกิดทีหลัง” คือ น้องสาว

แปล younger sister เป็นบาลี: 

kaniṭṭhabhaginī กนิฏฺฐภคินี (กะ-นิด-ถะ-พะ-คิ-นี) = หญิงผู้เป็นน้อง

แปล elder sister เป็นบาลี: 

jeṭṭhabhaginī เชฏฺฐภคินี (เชด-ถะ-พะ-คิ-นี) = หญิงผู้เป็นพี่

กนิฏฺฐภคินี” และ “เชฏฺฐภคินี” เป็นคำในจำพวกราชาศัพท์ที่คนไทยคุ้นกันดี เราใช้ในภาษาไทยว่า “พระกนิษฐภคินี” และ “พระเชษฐภคินี”

ในภาษาไทย พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2554 บอกไว้ว่า – 

ภคินี : (คำนาม) พี่หญิง, น้องหญิง. (ป., ส.).”

อธิบายเสริม :

ภคินี” ในคัมภีร์บาลีใช้เรียกใครได้บ้าง?

คำว่า “ภคินี” เมื่อใช้เป็นอาลปนะ (คำเรียก, คำทัก = addressing) เปลี่ยนรูปเป็น “ภคินิ” (จาก –นี เป็น –นิ) นักเรียนบาลีแปลกันว่า “ดูก่อนน้องหญิง

คำแปลว่า “ดูก่อนน้องหญิง” ทำให้เข้าใจกันว่า “ภคินิ” เป็นคำที่คนทั่วไปเรียกสตรีที่อายุน้อยกว่า 

พระภิกษุในสมัยพุทธกาลใช้คำนี้เรียกสตรีทั่วไปไม่จำกัดว่าจะมีอายุมากหรือน้อย เป็นการเรียกอย่างเป็นกลาง ไม่มีความหมายในทางสนิทเสน่หา 

ในอรรถกถาขยายความว่า คำว่า “ภคินี” ที่ภิกษุใช้เรียกสตรีนี้เป็น “อริยโวหาร” คือภาษาของอารยชน 

ในคัมภีร์พบว่า ภิกษุเรียกนักบวชหญิงไม่ว่าจะเป็นนักบวชในลัทธิใดว่า “ภคินี” เสมอ และเมื่อภิกษุเรียกภิกษุณีก็ใช้คำเรียกว่า “ภคินิ” ด้วยเช่นกัน

ในภาษาไทย คำว่า “ภคินี” รู้สึกกันว่าเป็นคำเรียกผู้หญิงที่มีอายุน้อยกว่าผู้เรียก แต่ในภาษาบาลี คำว่า “ภคินี” ไม่ได้จำกัดว่าเป็นคำเรียกสตรีที่มีอายุน้อยกว่าผู้เรียกเท่านั้น แม้เรียกสตรีที่มีอายุมากกว่า เช่นภิกษุเรียกภิกษุณีที่มีอายุมากกว่าตน ก็ใช้คำว่า “ภคินี” ได้ 

เมื่อแปลเป็นไทย อาจมีหลักง่ายๆ ว่า คำว่า “ภคินี” : 

ใช้เรียกสตรีที่มีอายุน้อยกว่า แปลว่า “น้องสาว

ใช้เรียกสตรีที่มีอายุมากกว่า แปลว่า “พี่สาว

(๒) “ภริยา” 

บาลีอ่านว่า พะ-ริ-ยา รากศัพท์มาจาก ภรฺ (ธาตุ = เลี้ยง) + อิ อาคม + ปัจจัย + อา ปัจจัยเครื่องหมายอิตถีลิงค์

: ภรฺ + อิ + = ภริย + อา = ภริยา แปลตามศัพท์ว่า “ผู้อันสามีต้องเลี้ยงดู” 

พจนานุกรมบาลี-อังกฤษ แปล “ภริยา” ว่า a wife และบอกคำแปลตามรากศัพท์ไว้ว่า one who is supported (ผู้ถูกเลี้ยงดู)

บาลี “ภริยา” ในภาษาไทยใช้ว่า “ภริยา” และ “ภรรยา

พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2554 บอกไว้ว่า – 

(1) ภริยา : (คำนาม) ภรรยา, เมีย, หญิงที่เป็นคู่ครองของชาย, คู่กับ สามี. (ป.; ส. ภารฺยา).

(2) ภรรยา : (คำนาม) ภริยา, เมีย, หญิงที่เป็นคู่ครองของชาย, คู่กับ สามี. (ส. ภารฺยา; ป. ภริยา).

โปรดสังเกตศึกษาวิธีให้คำนิยามของพจนานุกรมฯ 

ภริยา” บอกว่าคือ “ภรรยา

ภรรยา” ก็บอกว่าคือ “ภริยา

หมายความว่าทั้ง 2 คำใช้ได้เท่ากัน ไม่มีคำไหนเป็นคำหลัก-คำรอง คือเป็นคำหลักทั้งคู่ คำนิยามต่อมาก็ตรงกันทั้ง 2 คำ

ภคินี + ภริยา = ภคินีภริยา แปลว่า “ภรรยาผู้เป็นเหมือนน้องสาว” หรือ “ภรรยาเยี่ยงน้องสาว

ขยายความ :

ในพระไตรปิฎก (สัตตกนิบาต อังคุตรนิกาย เล่ม 23 ข้อ 60) มีคาถาที่เป็นพระพุทธพจน์แสดงลักษณะของ “ภคินีภริยา” ดังนี้ 

…………..

ยถาปิ เชฏฺฐา ภคินี กนิฏฺฐา

สคารวา โหติ สกมฺหิ สามิเก

หิรีมนา ภตฺตุวสานุวตฺตินี

ยา เอวรูปา ปุริสสฺส ภริยา

ภคินี จ ภริยาติ จ สา ปวุจฺจติ  ฯ

…………..

แปลโดยประสงค์ว่า –

…………..

ภรรยาที่เหมือนพี่ร่วมท้องน้องร่วมไส้

มีความเคารพรักใคร่ในสามีของตน

เป็นคนสงบเสงี่ยมเจียมใจ ไม่ขัดแย้งแข็งขืน

บุรุษมีภรรยาชวนชื่นลักษณะเห็นปานนี้

พระจอมมุนีตรัสเรียกว่า “ภคินีภริยา” ภรรยาเยี่ยงน้องสาว

…………..

พจนานุกรมพุทธศาสตร์ ฉบับประมวลธรรม ของท่าน ป.อ. ปยุตฺโต ข้อ [282] สรุปลักษณะของ “ภคินีภริยา” ไว้ดังนี้ 

…………..

5. ภคินีภริยา (ภรรยาเยี่ยงน้องสาว, ภรรยาผู้เคารพรักสามี ดังน้องรักพี่ มีใจอ่อนโยน รู้จักเกรงใจและคล้อยตามสามี — Bhaginī-bhariyā: a wife like a sister; sisterly wife)

…………..

แถม :

ตามรูปศัพท์ “ภคินีภริยา” ควรหมายถึงภรรยาที่เหมือนพี่สาวหรือน้องสาว คือภรรยาที่อยู่กินกับสามีเหมือนเป็นพี่น้องกัน จะเป็นเหมือนพี่ของสามีก็ได้ หรือเป็นเหมือนน้องก็ได้ แต่คำที่ผู้รู้ท่านแปลลงตัวแล้วคือ “ภรรยาเยี่ยงน้องสาว” ไม่ได้แปลว่า “ภรรยาเยี่ยงพี่สาวน้องสาว” 

เป็นอันว่า “ภรรยาเยี่ยงน้องสาว” ก็เท่ากับละ “ภรรยาเยี่ยงพี่สาว” ไว้ในฐานเข้าใจ

…………..

ดูก่อนภราดา!

: มีเมียเหมือนน้อง ควร

: แต่มีน้องเมียเหมือนเมีย ไม่ควร

#บาลีวันละคำ (3,609)

30-4-65 

…………………………….

ดูโพสต์ในเฟซบุ๊กของครูทองย้อย

…………………………….

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องข้อมูลจำเป็นถูกทำเครื่องหมาย *