บทความเกี่ยวกับศาสนา-ภาษา-สังคม

อริยวินัย

อริยวินัย

———

อริยวินัย” หรืออารยวินัย เป็นคำที่มีใช้ในคัมภีร์ หมายถึงพระสัทธรรมคำสอนทั้งมวลขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าอันจำแนกเป็นพระธรรมและพระวินัย กล่าวโดยความหมาย “อริยวินัย” ก็คือแบบแผนของพระอริยะ หรือระบบชีวิตหรือระบบการฝึกฝนอบรมของอารยชนนั่นเอง

ลักษณะเด่นของอริยวินัย คือ 

(๑) ควบคุมตนด้วยตนเอง ความชั่วจะมีใครรู้เห็นหรือไม่รู้เห็น ก็ไม่ทำ ความดีจะมีใครรู้เห็นหรือไม่รู้เห็น ก็ทำ บุคคลอื่นและสิ่งแวดล้อมเป็นเพียงส่วนประกอบหรือส่วนเสริม

(๒) อริยวินัยเป็นระบบที่ให้เกียรติมนุษย์ด้วยกันอย่างยิ่ง เป็นระบบที่หวังว่าผู้เข้ามาเป็นสมาชิกของระบบย่อมเป็นบุคคลที่มีเกียรติ รู้จักผิดชอบชั่วดีได้ด้วยตนเอง กล้าที่จะเปิดเผยตัวเอง ยอมรับผิดได้ด้วยตัวเอง

(๓) ในระบบอริยวินัย ไม่มีกลไกตรวจจับผิดแบบตำรวจไล่จับผู้ร้าย หรือซุ่มซ่อนสอดแนมดูว่าใครละเมิดกฎ เพราะให้เกียรติสมาชิกของระบบว่า-เมื่อรู้ว่าอะไรผิดย่อมไม่ทำ จึงไม่จำเป็นต้องมีการจ้องจับผิดกัน และคนทำผิดย่อมจะเปิดเผยตัวเองไม่ต้องรอให้ใครโจท

(๔) ในระบบอริยวินัย ไม่มีการลงโทษด้วยวิธีทารุณกรรม เช่น เฆี่ยนตี ทรมาน หรือจำขัง หรือแม้แต่ประจานความผิดให้ได้อาย การลงโทษในอริยวินัยใช้วิธี “ทัณฑกรรม”

พจนานุกรมพุทธศาสน์ ฉบับประมวลศัพท์ ของท่าน ป.อ.ปยุตฺโต บอกไว้ว่า –

ทัณฑกรรม : การลงอาชญา, การลงโทษ; ในที่นี้ หมายถึงการลงโทษสามเณรคล้ายกับการปรับอาบัติภิกษุ ได้แก่ กักบริเวณ ห้ามไม่ให้เข้า ห้ามไม่ให้ออกจากอาราม หรือการใช้ตักน้ำ ขนฟืน ขนทราย เป็นต้น”

การลงโทษแบบทัณฑกรรมอาจสรุปได้ ๒ วิธี คือ –

(๑) ให้ทำงานหรือทำประโยชน์แก่ส่วนรวมเพิ่มขึ้นจากหน้าที่ปกติ 

(๒) ตัดสิทธิ์หรือระงับสิทธิ์บางอย่างเป็นการชั่วคราว เช่น ถึงลำดับที่จะได้รับนิมนต์ก็ให้ข้ามลำดับไปเป็นต้น 

ทัณฑกรรม มิใช่ใช้ลงโทษแก่สามเณรเท่านั้น แม้พระภิกษุก็อาจถูกสงฆ์หรือพระอุปัชฌาย์อาจารย์ลงทัณฑกรรมได้เช่นกัน สมัยผมเป็นเด็กวัด เคยเห็นหลวงพ่อลงทัณฑกรรมพระลูกวัดรูปหนึ่งด้วยการให้ไป “ล้างถาน” คือทำความสะอาดส้วม!

เจตนาของทัณฑกรรมในอริยวินัยก็คือ เพื่อจะให้รู้สึกถึงความผิด ไม่ใช่กลั่นแกล้งประสงค์ร้าย

…………………..

อุปสรรคหรืออันตรายของระบบอริยวินัยก็คือ บุคคลประเภท “ทุมมังกุ

ทุมมังกุ” แปลตามศัพท์ว่าว่า “เก้อ ยาก” หมายถึง หน้าด้าน ไม่รู้จักอาย

ในพระไตรปิฎกส่วนพระวินัย จะพบข้อความที่แสดงวัตถุประสงค์หรือเจตนารมณ์ของการบัญญัติสิกขาบท (ศีล) ของภิกษุว่ามี ๑๐ ประการ 

๑ ใน ๑๐ ประการนั้นคือ “ทุมฺมงฺกูนํ  ปุคฺคลานํ  นิคฺคหาย = เพื่อข่มบุคคลผู้เก้อยาก

ในพระไตรปิฎกมีกล่าวไว้ว่า แต่เดิมพระพุทธเจ้าทรงแสดงปาติโมกข์แก่ภิกษุสงฆ์ด้วยพระองค์เอง ต่อมาถึงวันอุโบสถคราวหนึ่ง พระสงฆ์ประชุมกันพร้อมแล้ว แต่พระองค์ไม่เสด็จมาเข้าร่วมประชุม ตรัสว่า “บริษัทไม่บริสุทธิ์” (คือมีภิกษุอลัชชีอยู่ในที่ประชุมสงฆ์นั้นด้วย) 

ร้อนถึงพระมหาโมคคัลลานะอัครสาวกผู้เลิศในทางฤทธิ์ ตรวจดูจนพบตัวอลัชชีผู้นั้น ท่านขอร้องแต่โดยดีถึง ๓ ครั้งให้ออกไปเสีย แต่ภิกษุอลัชชีนั้นกลับนั่งนิ่งเฉย ในที่สุดพระมหาโมคคัลลานะต้อง “ใช้กำลัง” จับตัวออกไปจากที่ประชุม 

ตั้งแต่บัดนั้นมา พระพุทธเจ้าก็มิได้ทรงเข้าร่วมอุโบสถสังฆกรรมกับภิกษุสงฆ์อีกเลย

(ดูรายละเอียดใน วินัยปิฎก จุลวรรค ภาค ๒ พระไตรปิฎกเล่ม ๗ ข้อ ๔๔๘)

ปัจจุบันถ้ามีกรณีเช่นนี้หรือทำนองเดียวกันนี้เกิดขึ้น เราจะได้บุคคลเช่นพระมหาโมคคัลลานะมาแต่ไหน หรือว่าใครควรจะทำหน้าที่แบบพระมหาโมคคัลลานะ?

……………….

อริยวินัย นอกจากจะมีลักษณะเด่นดังที่กล่าวมาข้างต้นนั้นแล้ว ลักษณะเด่นอีกอย่างหนึ่งก็คือ เป็นระบบที่ใช้วัดใจสมาชิกได้ด้วยตัวเองว่า รักพระศาสนามากกว่า หรือว่ารักตัวเองมากกว่า

(๑) สมมุติว่า อยู่มาวันหนึ่ง มีพระเถระระดับบิ๊กในวงการสงฆ์ลุกขึ้นมาประกาศว่า อาตมาต้องอาบัติถึงอันติมวัตถุ จึงขอลาจากเพศสงฆ์ไป ณ บัดนี้ 

อะไรจะเกิดขึ้น?

(๒) กรณีเช่นที่สมมุตินี้ถ้าเกิดขึ้นจริง มีไหมที่จะมีคนออกมาบอกว่า-ไปบอกสังคมทำไม อยู่ไปเฉยๆ จะมีใครรู้อะไร ทำไมโง่อย่างนี้ ฯลฯ

กรณีในข้อ (๑) คงยากมากที่จะเกิดขึ้น

แต่กรณีในข้อ (๒) คาดว่าจะมีมากทีเดียว

……………….

สมัยเป็นเด็กวัดหนองกระทุ่ม อำเภอปากท่อ จังหวัดราชบุรี (๒๔๙๖-๒๕๐๐) ผมจำได้แม่นว่า มีพระรูปหนึ่งต้องอาบัติปฐมสังฆาทิเสส ท่านบอกแก่เพื่อนพระด้วยกัน เรื่องถึงหลวงปู่ (พระครูขันตยาภิรัต ป๋อง) หลวงปู่เรียกประชุมสงฆ์ สงฆ์ดำเนินการตามขั้นตอนกระบวนการในการออกจากอาบัติสังฆาทิเสส

ตอนนั้นผมไม่รู้อะไรหรอก รู้แต่ว่าหลวงปู่สั่งให้หลวงพี่รูปนั้นไปอยู่ที่ศาลาปรกข้างป่าช้า อยู่รูปเดียวเหมือนถูกขังเดี่ยว มีพระหรือเณรเอาข้าวเช้าข้าวเพลไปส่งเท่านั้น ห้ามใครไปยุ่ง ยังเห็นภาพติดตามาจนถึงทุกวันนี้

แทนที่จะมีคนรังเกียจ กลับตรงกันข้าม มีแต่เสียงสรรเสริญว่า ท่านเป็นพระที่ซื่อตรงต่อพระธรรมวินัย

ผมไม่แน่ใจว่าชาววัดหนองกระทุ่มรุ่นหลังๆ รู้หรือจำเรื่องนี้กันได้บ้างหรือเปล่า 

เสียดายที่ผมจำชื่อหลวงพี่รูปนั้นไม่ได้ แต่ยังระลึกถึงและนับถืออยู่จนทุกวันนี้ ไม่เคยลืมเลย

อริยวินัยเจริญรุ่งเรืองได้เพราะมีสมาชิกที่ซื่อตรงต่อพระธรรมวินัยแบบนี้

………………………………..

หมายเหตุ: มีศัพท์วิชาการ ๒ คำที่ไม่ได้แปล คือ “อันติมวัตถุ” และ “ปฐมสังฆาทิเสส” ผมเจตนาที่จะไม่แปลและไม่บอกความหมาย เพราะอยากให้ญาติมิตรที่อ่านเรื่องนี้มีอุตสาหะที่จะศึกษาสืบค้นหาความรู้ด้วยตัวเองบ้าง เป็นการขึ้นบันไดขั้นต้นในการช่วยกันรักษาพระศาสนา

………………………………..

พลเรือตรี ทองย้อย แสงสินชัย

๓๐ เมษายน ๒๕๖๕

๑๗:๓๗

……………………………………..

อริยวินัย

ดูโพสต์ในเฟซบุ๊กของครูทองย้อย

…………………………………….

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องข้อมูลจำเป็นถูกทำเครื่องหมาย *