บาลีวันละคำ

ทิฏฐิสามัญญตา (บาลีวันละคำ 3,613)

ทิฏฐิสามัญญตา

ทิฏฐิเสมอกัน

อ่านว่า ทิด-ถิ-สา-มัน-ยะ-ตา

ประกอบด้วยคำว่า ทิฏฐิ + สามัญญ + ตา

(๑) “ทิฏฐิ” 

เขียนแบบบาลีเป็น “ทิฏฺฐิ” โปรดสังเกต “ทิฏฺฐิ” บาลีมีจุดใต้ ปฏัก รากศัพท์มาจาก ทิสฺ (ธาตุ = เห็น) + ติ ปัจจัย, ลบ สฺ ที่สุดธาตุ, แปลง ติ เป็น ฏฺฐิ

: ทิสฺ + ติ = ทิสฺติ > ทิติ > ทิฏฺฐิ แปลตามศัพท์ว่า “ความเห็น” หมายถึง ความคิดเห็น, ความเชื่อ, หลักลัทธิ, ทฤษฎี, การเก็ง, ทฤษฎีที่ผิด, ความเห็นที่ปราศจากเหตุผลหรือมูลฐาน (view, belief, dogma, theory, speculation, false theory, groundless or unfounded opinion)

ในภาษาธรรม ถ้าพูดเฉพาะ “ทิฏฺฐิ” จะหมายถึง ความเห็นผิด

ถ้าต้องการชี้เฉพาะ จะมีคำบ่งชี้นำหน้า คือ “มิจฺฉาทิฏฺฐิ” = ความเห็นผิดสมฺมาทิฏฺฐิ” = ความเห็นถูก

บาลี “ทิฏฺฐิ” ในภาษาไทยตัดตัวสะกดออกเขียนเป็น “ทิฐิ” แต่คงอ่านว่า ทิด-ถิ

พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2554 บอกไว้ว่า –

ทิฐิ : (คำนาม) ความเห็น เช่น สัมมาทิฐิ ความเห็นชอบ มิจฉาทิฐิ ความเห็นผิด; ความอวดดื้อถือดี เช่น เขามีทิฐิมาก. (ป. ทิฏฺฐิ; ส. ทฺฤษฺฏิ).”

คำนี้เมื่อใช้ในภาษาธรรมยังมีผู้นิยมสะกดตามรูปคำเดิม ไม่ตัดตัวสะกด คือเขียนเป็น “ทิฏฐิ” (ไม่มีจุดใต้ ปฏัก)

(๒) “สามัญญ” 

เขียนแบบบาลีเป็น “สามญฺญ” อ่านว่า สา-มัน-ยะ รากศัพท์มาจาก – 

(1) สมาน (สะ-มา-นะ, เสมอกัน, เหมือนกัน, เหมาะสมกัน) + ณฺย ปัจจัย, ลบ ณฺ, ทีฆะ อะ ที่ -(มาน) เป็น อา– ด้วยอำนาจ ณฺย ปัจจัย (สมาน > สามาน), แปลง อาน (ที่ –มาน) กับ เป็น ญฺญ

: สมาน + ณฺย = สมานณฺย > สมานฺย > สามานฺย > สามญฺญ (สา-มัน-ยะ) แปลตามศัพท์ว่า “สิ่งที่เสมอกัน

(2) สม (สะ-มะ, เสมอกัน, เหมาะสมกัน) + ณฺย ปัจจัย, ทีฆะ อะ ที่ -(ม) เป็น อา– ด้วยอำนาจ ณฺย ปัจจัย (สม > สาม), แปลง ณฺย เป็น ญฺญ

: สม + ณฺย = สมณฺย > สามณฺย > สามญฺญ แปลตามศัพท์ว่า “สิ่งที่เสมอกัน

สามญฺญ” ตามรากศัพท์นี้หมายถึง –

(1) สามัญ, ความเสมอกัน, การอนุวัตตาม (generality; equality, conformity) 

(2) ความเป็นหนึ่ง, วงสมาคม (unity, company)

ในภาษาไทยตัดตัวสะกดออกตัวหนึ่ง ใช้เป็น “สามัญ” พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2554 บอกไว้ว่า – 

สามัญ ๒ : (คำวิเศษณ์) ปรกติ, ธรรมดา, เช่น ชนชั้นสามัญ คนสามัญ. (ป. สามญฺญ; ส. สามานฺย).”

ในที่นี้ใช้ตามรูปเดิมในบาลีเป็น “สามัญญ

(๓) “ตา” 

เป็นปัจจัยตัวหนึ่ง ในบาลีไวยากรณ์อยู่ในส่วนที่เรียกว่า “ตัทธิต” (ตัด-ทิด) ตา-ปัจจัยเป็นปัจจัยในภาวตัทธิต แทนศัพท์ว่า “ภาว” (ความเป็น) ใช้ต่อท้ายศัพท์ ทำให้เป็นคำนาม แปลว่า “ความเป็น–” เทียบกับภาษาอังกฤษก็คล้ายกับ -ness -ation หรือ -ity นั่นเอง เช่น –

happy แปลว่า สุข สบาย 

happiness แปลว่า ความสุข 

การประสมคำ :

สามญฺญ + ตา = สามญฺญตา (สา-มัน-ยะ-ตา) แปลว่า “ความเป็นผู้เสมอกัน” 

ทิฏฺฐิ + สามญฺญตา = ทิฏฺฐิสามญฺญตา (ทิด-ถิ-สา-มัน-ยะ-ตา) แปลว่า “ความเป็นผู้เสมอกันด้วยทิฏฐิ” หมายถึง มีความคิดเห็นถูกต้องตรงกัน

อธิบายเทียบเพื่อให้เข้าใจง่ายขึ้น –

มีความรู้เท่ากัน เรียกว่า ความเป็นผู้เสมอกันด้วยความรู้

มีตำแหน่งเท่ากัน เรียกว่า ความเป็นผู้เสมอกันด้วยตำแหน่ง

มีทรัพย์สมบัติเท่ากัน เรียกว่า ความเป็นผู้เสมอกันด้วยทรัพย์สมบัติ

ดังนั้น มีทิฏฐิถูกต้องตรงกัน จึงเรียกว่า ความเป็นผู้เสมอกันด้วยทิฏฐิ

ทิฏฺฐิสามญฺญตา” เขียนแบบไทยเป็น “ทิฏฐิสามัญญตา” (ทิฏฐิ- ไม่มีจุดใต้ ) ว่าตามหลักนิยมในภาษาไทย “ทิฏฐิ” ควรจะตัด ออก และตัด ออกตัวหนึ่ง ใช้เป็น “ทิฐิสามัญตา” แต่ท่านถือว่าคำนี้เป็นศัพท์เฉพาะทางวิชาการ จึงคงไว้ตามรูปเดิมในบาลี

ทิฏฐิสามัญญตา” ยังไม่ได้เก็บไว้ในพจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2554

ขยายความ :

พจนานุกรมพุทธศาสตร์ ฉบับประมวลธรรม ของท่าน ป.อ. ปยุตฺโต ข้อ [273] สารณียธรรม 6 (ธรรมเป็นที่ตั้งแห่งความให้ระลึกถึง, ธรรมเป็นเหตุให้ระลึกถึงกัน, ธรรมที่ทำให้เกิดความสามัคคี, หลักการอยู่ร่วมกัน) หลักธรรมข้อที่ 6. ทิฏฐิสามัญญตา ขยายความไว้ดังนี้ –

…………..

6. ทิฏฐิสามัญญตา (มีทิฏฐิดีงามเสมอกันกับเพื่อนพรหมจรรย์ทั้งหลาย ทั้งต่อหน้าและลับหลัง คือ มีความเห็นชอบร่วมกัน ในข้อที่เป็นหลักการสำคัญอันจะนำไปสู่ความหลุดพ้น สิ้นทุกข์ หรือขจัดปัญหา — Diṭṭhisāmaññatā: to be endowed with right views along with one’s fellows, openly and in private)

…………..

ทิฏฐิสามัญญตา” ตรงกับที่เราพูดกันว่า “มีทิฏฐิเสมอกัน” คำนี้ใช้ในด้านดีเท่านั้น คน 2 คน เห็นตรงกันว่า พ่อแม่ครูบาอาจารย์ไม่มีบุญคุณ บาปบุญเป็นเรื่องเพ้อฝัน นรกสวรรค์เป็นเรื่องหลอกลวง จะเรียกว่ามี “ทิฏฐิสามัญญตา” ทิฏฐิเสมอกัน หาได้ไม่ อาจเรียกล้อได้ว่า “มีทิฏฐิวิปลาสเสมอกัน”

คำที่มักมาคู่กับ “ทิฏฐิสามัญญตา” คือ “สีลสามัญญตา” (สี-ละ-สา-มัน-ยะ-ตา) แปลว่า “ความเป็นผู้เสมอกันด้วยศีล” หลักธรรม 2 ข้อนี้จำเป็นอย่างยิ่งในการอยู่ร่วมกันเป็นสังคม โดยเฉพาะอย่างยิ่งสังคมของบรรพชิตในพระพุทธศาสนา

…………..

ดูก่อนภราดา!

: เห็นต่างหรือเห็นตาม

: ยังไม่งามเท่ากับเห็นตรง

#บาลีวันละคำ (3,613)

4-5-65 

…………………………….

ดูโพสต์ในเฟซบุ๊กของครูทองย้อย

…………………………….

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องข้อมูลจำเป็นถูกทำเครื่องหมาย *