ศิวลึงค์ (บาลีวันละคำ 1,347)
ศิวลึงค์
อ่านว่า สิ-วะ-ลึง
ประกอบด้วย ศิว + ลึงค์ (ค ควาย การันต์ ไม่ใช่ ก ไก่)
(๑) “ศิว”
บาลีเป็น “สิว” (สิ-วะ) รากศัพท์มาจาก –
1) สิ (ธาตุ = เสพ, คบหา) + ว ปัจจัย
: สิ + ว = สิว แปลตามศัพท์ว่า “ธรรมอันผู้กลัวภัยในสงสารพึงซ่องเสพ”
2) สมฺ (ธาตุ = สงบ, ระงับ) + ริว ปัจจัย, ลบ มฺ ที่สุดธาตุและ ร ที่ ริว (ริว > อิว)
: สมฺ + ริว = สมริว > สริว > สิว แปลตามศัพท์ว่า “ธรรมอันสงบระงับ”
3) สิว (ความเกษม) + อ ปัจจัย
: สิวํ (เขมภาวํ กโรตีติ) + อ = สิวํ แปลตามศัพท์ว่า “ธรรมที่ทำความเกษม”
“สิว” ตามความหมายนี้หมายถึง สิวธรรม คือพระนิพพาน
4) สมฺ (ธาตุ = สงบ, ระงับ) + ว ปัจจัย, แปลง อะ ที่ ส-(มฺ) เป็น อิ (ส > สิ), ลบ มฺ ที่สุดธาตุ (สมฺ > ส)
: สมฺ > สิม > สิ + ว = สิว แปลตามศัพท์ว่า “สิ่งที่ระงับความทุกข์ได้” หมายถึง สิ่งที่ประเสริฐ, ความดี, มงคล
5) สิ (ธาตุ = คบหา) + ว ปัจจัย
: สิ + ว = สิว แปลตามศัพท์ว่า (1) “เทพเจ้าอันผู้ปรารถนาประโยชน์สุขเข้าไปหา” (2) “เทพเจ้าผู้เป็นที่เสพสมแห่งเจ้าแม่ผู้ดุร้าย” หมายถึง พระศิวะ
“สิว” ในที่นี้มีความหมายตามข้อ 5) นี้
“สิว” ในบาลีใช้ในความหมายดังนี้ –
(1) เป็นมงคล, มีสุข, มีโชคดี, ได้รับพร (auspicious, happy, fortunate, blest)
(2) ผู้บวงสรวงพระศิวะ (a worshipper of the god Siva)
(3) ความสุข, ความสำราญ (happiness, bliss)
“ศิว” ในภาษาสันสกฤต สํสกฤต-ไท-อังกฤษ อภิธาน บอกไว้ว่า –
(1) ศิว : (คำคุณศัพท์) ‘ศิวะ,’ ศรีมัต, มีศรีหรือความรุ่งเรือง, สุขิน, มีสุขหรือเปนสุข; prosperous, happy.
(2) ศิว : (คำนาม) ‘ศิวะ,’ พระศิวะ; ปรมคติ; เสาหรือหลักที่บุทคลผูกโคไว้; ศุภนักษัตรโยค; เวท, พระเวท; นักษัตรกาลอันหนึ่งซึ่งเรียกว่าโยค; ปรอท; องคชาตของชาย; พระศิวลิงค์; สุข, สันโดษหรือประโมท; มงคล; น้ำ; เกลือทะเลหรือเกลือสินเธาว์; น้ำประสานทอง; ต้นศมี; ศุนักป่า; the deity Śiva; final emancipation from existence, or eternal happiness; a pillar or post to which cattle are tied; an auspicious planetary conjunction; scripture, the Vedas; one of te astronomical periods termed Yogas; quicksilver; the penis; the phallic emblem of Śiva; happiness, pleasure; auspiciousness; water; sea or rock salt; borax; the Sami tree; a jackal.
พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2554 บอกไว้ว่า –
“ศิว-, ศิวะ : (คำนาม) พระอิศวร; พระนิพพาน. (ส.; ป. สิว).”
(๒) “ลึงค์”
บาลีเป็น “ลิงฺค” อ่านว่า ลิง-คะ รากศัพท์มาจาก –
1) ลิงฺคฺ (ธาตุ = ไป, ถึง, เป็นไป) + อ ปัจจัย
: ลิงฺคฺ + อ = ลิงฺค แปลตามศัพท์ว่า “อวัยวะเป็นเครื่องถึงการจำแนกว่าเป็นหญิงเป็นชาย”
2) ลีน (ที่ลับ) + องฺค (อวัยวะ), ลบ น ที่ (ลี)-น, รัสสะ อี เป็น อิ (ลี > ลิ)
: ลีน + องฺค = ลีนงฺค > ลินงฺค > ลิงฺค แปลตามศัพท์ว่า “อวัยวะที่ลับ”
3) ลีน (ที่ลับ) + คมฺ (ธาตุ = ไป, ถึง, เป็นไป) + ณ ปัจจัย, ลบ ณ, ลบ น ที่ (ลี)-น, รัสสะ อี เป็น อิ (ลี > ลิ), ซ้อน งฺ ระหว่าง ลีน + คมฺ, ลบ มฺ ที่สุดธาตุ
: ลีน > ลิน > ลิ + งฺ = ลิงฺ + คมฺ = ลิงฺคม + ณ = ลิงฺคมฺณ > ลิงฺคม > ลิงฺค แปลตามศัพท์ว่า “สิ่งที่ยังส่วนที่ลี้ลับให้ถึงความแจ่มแจ้ง”
“ลิงฺค” ในบาลีใช้ในความหมายดังนี้ –
(1) ลักษณะ, เครื่องหมาย, นิมิต, ที่สังเกตรูปลักษณะ (characteristic, sign, attribute, mark, feature)
(2) เครื่องหมายเพศ, องคชาต, อวัยวะเพศ (mark of sex, sexual characteristic, pudendum)
(3) (คำในไวยากรณ์) เพศ, คำลงท้ายที่แสดงลักษณะ, ลิงค์ (mark of sex, characteristic ending, gender)
สิว + ลิงฺค = สิวลิงฺค (สิ-วะ-ลิง-คะ) แปลตามศัพท์ว่า “เครื่องหมายเพศของพระศิวะ”
สิวลิงฺค ใช้ในภาษาไทยเป็น “ศิวลึงค์” (ภาษาไทยแผลง อิ ที่ ลิ-(งฺ) เป็น อึ)
พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2554 บอกไว้ว่า –
“ศิวลึงค์ : (คำนาม) รูปนิมิตแทนองค์พระศิวะหรือพระอิศวร ทําเป็นรูปอวัยวะเพศชาย ถือว่าเป็นวัตถุบูชาอันศักดิ์สิทธิ์ของพวกไศวะ.”
: ถ้าเอาศิวลึงค์ตรึงใจโลก
ย่อมสืบทุกข์สุขโศกสิ้นไฉน
: แม้นเอาสิวธรรมนำหัวใจ
ย่อมดับทุกข์โศกได้ทุกฟ้าดิน
(ภาพประกอบจากเฟซของ ศาสนวิทยา dr.Sinchai Chaojaroenrat
6-2-59