อุทยานราชภักดิ์ (บาลีวันละคำ 1,203)
อุทยานราชภักดิ์
อ่านว่า อุด-ทะ-ยาน-ราด-ชะ-พัก
ประกอบด้วย อุทยาน + ราช + ภักดิ์
(๑) “อุทยาน”
เป็นรูปคำสันสกฤต “อุทฺยาน” บาลีเป็น “อุยฺยาน” (อุย-ยา-นะ) รากศัพท์มาจาก :
(1) อุ (ขึ้น, นอก) + ยา (ธาตุ = ไป) + ยุ ปัจจัย, ซ้อน ยฺ ระหว่าง อุ + ยา, แปลง ยุ เป็น อน (อะ-นะ)
: อุ + ยฺ + ยา = อุยฺยา + ยุ > อน = อุยฺยาน แปลตามศัพท์ว่า “ที่เป็นที่แหงนดูพลางเดินไป”
(2) อุ (ขึ้น, นอก) + อิ (ธาตุ = ไป) + ยุ ปัจจัย, แปลง อิ เป็น ย, ทีฆะ (ยืดเสียง) อะ ที่ ย เป็น อา (อิ > ย > ยา), ซ้อน ยฺ ระหว่าง อุ + ย, แปลง ยุ เป็น อน,
: อุ + ยฺ + อิ > ย = อุยฺย > อุยฺยา + ยุ > อน = อุยฺยาน แปลตามศัพท์ว่า “ที่เป็นที่ไปของผู้ขวนขวายเพื่อเล่นและพักผ่อน”
“อุยฺยาน” หมายถึง สวน, ดงไม้อันรื่นรมย์, สวนหลวง (a park, pleasure grove, a royal garden)
สํสกฤต-ไท-อังกฤษ อภิธาน บอกไว้ว่า –
“อุทฺยาน : (คำนาม) สวน; สวนหลวง; การออกไป; การเข้าฉากหรือเข้าโรง; เหตุ, การย์; a garden, a park; a royal garden; going forth, exit; motive, purpose.”
(๒) “ราช”
บาลีอ่านว่า รา-ชะ รากศัพท์มาจาก :
(1) ราชฺ (ธาตุ = รุ่งเรือง) + อ (ปัจจัย) = ราช แปลตามศัพท์ว่า “ผู้รุ่งเรืองโดยยิ่งเพราะมีเดชานุภาพมาก” หมายความว่า ผู้เป็นพระราชาย่อมมีเดชานุภาพมากกว่าคนทั้งหลาย
(2) รญฺชฺ (ธาตุ = ยินดี พอใจ) + ณ ปัจจัย, ลบ ณ ลบ ญฺ แผลง ร เป็น รา
: รญฺชฺ + ณ = รญฺชณ > รญฺช > รช > ราช แปลตามศัพท์ว่า “ผู้ยังคนทั้งหลายให้ยินดี” หมายความว่า เป็นผู้อำนวยความสุขให้ทวยราษฎร์ จนคนทั้งหลายร้องออกมาว่า “ราชา ราชา” (พอใจ พอใจ)
“ราช” ความหมายตรงๆ ที่เข้าใจกัน คือ พระราชา, พระเจ้าแผ่นดิน
(๓) “ภักดิ์”
เป็นรูปคำสันสกฤต “ภกฺติ” บาลีเป็น “ภตฺติ” (พัด-ติ) รากศัพท์มาจาก ภชฺ (ธาตุ = คบหา, รัก) + ติ ปัจจัย, แปลง ชฺ ที่สุดธาตุเป็น ตฺ
: ภชฺ + ติ = ภชติ > ภตฺติ แปลตามศัพท์ว่า “การคบหาสมาคม” “ความรัก” หมายถึง ความจงรักภักดี, ความผูกพัน, ความรักอย่างสุดซึ้ง (devotion, attachment, fondness)
สํสกฤต-ไท-อังกฤษ อภิธาน บอกไว้ว่า –
“ภกฺติ : (คำนาม) ‘ภักติ,’ การบูชา; ศรัทธา, ความเชื่อ; ความภักดีต่อ; ภาค, ส่วน; worship; faith; belief; devotion or attachment to; part, portion.”
ภตฺติ > ภกฺติ ภาษาไทยมักใช้เป็น “ภักดี”
พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2554 บอกไว้ว่า –
“ภักดี : (คำนาม) ความจงรัก, ความเลื่อมใสยิ่ง. (ส. ภกฺติ; ป. ภตฺติ).”
“ภักดี” เมื่อต้องการให้อ่านว่า “พัก” ในกรณีใช้ในคำประพันธ์หรือใช้เป็นชื่อเฉพาะ จึงสะกดเป็น “ภักดิ์”
อุทยาน + ราช + ภักดิ์ = อุทยานราชภักดิ์
“อุทยานราชภักดิ์” เป็นอุทยานประวัติศาสตร์ที่กองทัพบกจัดสร้างขึ้นเมื่อ พ.ศ.๒๕๕๘ ที่อำเภอหัวหิน จังหวัดประจวบคีรีขันธ์ ภายในอุทยานประดิษฐานพระบรมรูปพระมหากษัตริย์ไทย 7 พระองค์ คือ
1. พ่อขุนรามคำแหงมหาราช (สมัยกรุงสุโขทัย)
2. สมเด็จพระนเรศวรมหาราช (สมัยกรุงศรีอยุธยา)
3. สมเด็จพระนารายณ์มหาราช (สมัยกรุงศรีอยุธยา)
4. สมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราช (สมัยกรุงธนบุรี)
5. พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช (รัชกาลที่ 1 แห่งกรุงรัตนโกสินทร์)
6. พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว (รัชกาลที่ 4 แห่งกรุงรัตนโกสินทร์)
7. พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว (รัชกาลที่ 5 แห่งกรุงรัตนโกสินทร์)
พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวพระราชทานชื่ออุทยานที่สร้างขึ้นนี้ว่า “อุทยานราชภักดิ์” มีความหมายว่า อุทยานที่สร้างขึ้นด้วยความจงรักภักดีต่อพระมหากษัตริย์
อุทยานราชภักดิ์ :
ภักดีแท้ต้องพิสูจน์
อย่าเพียงพูดว่าภักดี
กล้าอุทิศชีวิตพลี
ทำความดีเพื่อแผ่นดิน
14-9-58