บาลีวันละคำ

อัยยาภริยา (บาลีวันละคำ 3,607)

อัยยาภริยา

ภรรยาเยี่ยงนาย

…………..

สมัยหนึ่ง พระผู้มีพระภาคประทับอยู่ ณ เมืองสาวัตถี ได้ทรงแสดงเรื่องภรรยา 7 ประเภท โปรดนางสุชาดาสะใภ้ของท่านอนาถบิณฑิกเศรษฐี ภรรยา 7 ประเภทมีคำเรียกตามบาลีพระไตรปิฎก (ภริยาสูตร สัตตกนิบาต อังคุตรนิกาย พระไตรปิฎกเล่ม 23 ข้อ 60) ดังนี้:- 

วธกสมา = ภรรยาเสมอด้วยผู้ฆ่า

โจรสมา = ภรรยาเสมอด้วยโจร

อัยยสมา = ภรรยาเสมอด้วยนาย

มาตุสมา = ภรรยาเสมอด้วยมารดา

ภคินิสมา = ภรรยาเสมอด้วยน้องสาว

สขีสมา = ภรรยาเสมอด้วยเพื่อน

ทาสีสมา = ภรรยาเสมอด้วยทาส

ในภาษาไทย ท่านใช้คำเรียกภรรยาทั้ง 7 ประเภทว่า วธกาภริยา โจรีภริยา อัยยาภริยา มาตาภริยา ภคินีภริยา สขีภริยา ทาสีภริยา

…………..

อัยยาภริยา” อ่านว่า ไอ-ยา-พะ-ริ-ยา

ประกอบด้วยคำว่า อัยยา + ภริยา 

(๑) “อัยยา” 

เขียนแบบบาลีเป็น “อยฺยา” อ่านว่า ไอ-ยา รูปคำเดิมเป็น อยฺย + อา ปัจจัย

(ก) “อยฺย” อ่านว่า ไอ-ยะ รากศัพท์มาจาก –

(1) อย (ธาตุ = ไป, ถึง) + ปัจจัย

: อย + = อยฺย แปลตามศัพท์ว่า “ผู้ควรเข้าไปหา” “ผู้อันพวกสัตบุรุษเข้าไปหา

(2) อย (ธาตุ = รู้) + ปัจจัย

: อย + = อยฺย แปลตามศัพท์ว่า “ผู้อันคนรู้จักทั่วไปว่าเป็นผู้ประเสริฐ

คำแปลตามรากศัพท์ อาจจะขยายความตามหลักตรรกะว่า เราต้องการสิ่งใด จึงเข้าไปหาสิ่งนั้น, สิ่งใดประเสริฐ เราจึงต้องการสิ่งนั้น 

ดังนั้น ความหมายโดยนัยของ “อยฺย” ก็คือ “ศูนย์รวมแห่งผลประโยชน์” หรือ “ผลประโยชน์ของส่วนรวม” นั่นเอง

นักเรียนบาลีในเมืองไทยนิยมแปล “อยฺย” ว่า “พระผู้เป็นเจ้า” 

พระผู้เป็นเจ้า” ในคำแปลนี้ไม่ได้หมายถึง god แต่หมายถึง พระสงฆ์, นักบวช หรือที่เราเรียกว่า “พระคุณเจ้า

พจนานุกรมบาลี-อังกฤษ แสดงความเห็นว่า “อยฺย” เป็นคำที่กลายเสียงมาจาก “อริย” (อะ-ริ-ยะ) = ผู้เจริญ, ผู้ประเสริฐ และบอกความหมายไว้ดังนี้ –

(1) เป็นคำนาม : gentleman, sire, lord, master (สุภาพบุรุษ, เจ้าเหนือหัว, เจ้านาย, หัวหน้า)

(2) เป็นคุณศัพท์ : worthy, gentlemanly, honourable (ทรงคุณค่า, เป็นสุภาพบุรุษ, ทรงเกียรติ)

อยฺย” ในภาษาบาลีเป็นคำเรียกผู้ที่พูดด้วย ( = you) และผู้ที่ถูกพูดถึง ( = he, she, they) ใช้ในฐานะดังนี้ –

1 เป็นคำชาวบ้านเรียกนักบวช ตรงกับที่เรานิยมพูดว่า “พระคุณเจ้า” ในคัมภีร์พบว่าภิกษุณีใช้เรียกภิกษุด้วย

2 เป็นคำผู้น้อยใช้เรียกเจ้านาย “เจ้านาย” ในที่นี้ไม่ได้หมายถึงราชากับสามัญชน แต่หมายถึงคนรับใช้กับนาย หรือผู้ใต้บังคับบัญชากับผู้บังคับบัญชา:

– ในคัมภีร์จับคู่ “อยฺย” กับ “ทาส” หมายถึงถ้าใครมี “ทาส” ( = คนรับใช้) คนรับใช้ก็จะเรียกผู้นั้นว่า “อยฺย” 

– ภรรยาเรียกสามีก็ใช้คำว่า “อยฺย” ด้วย

3 ใช้เป็น “อาลปนะ” คำทักที่ชุมนุมแบบสุภาพ: อยฺยา = ท่านผู้มีเกียรติทั้งหลาย! (Ladies and gentlemen!)

อยฺย” ใช้เป็นคำทักก่อนจะพูดธุระหรือเรื่องที่ต้องการจะพูดต่อไป มีความหมายเท่ากับ “คุณครับ -” “ท่านครับ -” หรือ “ขอประทานโทษนะครับ -” นั่นเอง

อยฺย” ในภาษาบาลีหมายถึง พระคุณเจ้า, ผู้เป็นใหญ่, ผู้ปกครอง, เจ้านาย, ผู้สูงศักดิ์, ท่านผู้มีเกียรติ 

ในที่นี้ “อยฺย” ใช้ในความหมายว่า ผู้เป็นนาย

(ข) อยฺย + อา ปัจจัยเครื่องหมายอิตถีลิงค์ = อยฺยา (ไอ-ยา) แปลว่า “สตรีผู้เป็นนาย

(๒) “ภริยา” 

บาลีอ่านว่า พะ-ริ-ยา รากศัพท์มาจาก ภรฺ (ธาตุ = เลี้ยง) + อิ อาคม + ปัจจัย + อา ปัจจัยเครื่องหมายอิตถีลิงค์

: ภรฺ + อิ + = ภริย + อา = ภริยา แปลตามศัพท์ว่า “ผู้อันสามีต้องเลี้ยงดู” 

พจนานุกรมบาลี-อังกฤษ แปล “ภริยา” ว่า a wife และบอกคำแปลตามรากศัพท์ไว้ว่า one who is supported (ผู้ถูกเลี้ยงดู)

บาลี “ภริยา” ในภาษาไทยใช้ว่า “ภริยา” และ “ภรรยา

พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2554 บอกไว้ว่า – 

(1) ภริยา : (คำนาม) ภรรยา, เมีย, หญิงที่เป็นคู่ครองของชาย, คู่กับ สามี. (ป.; ส. ภารฺยา).

(2) ภรรยา : (คำนาม) ภริยา, เมีย, หญิงที่เป็นคู่ครองของชาย, คู่กับ สามี. (ส. ภารฺยา; ป. ภริยา).

โปรดสังเกตศึกษาวิธีให้คำนิยามของพจนานุกรมฯ 

ภริยา” บอกว่าคือ “ภรรยา

ภรรยา” ก็บอกว่าคือ “ภริยา

หมายความว่าทั้ง 2 คำใช้ได้เท่ากัน ไม่มีคำไหนเป็นคำหลัก-คำรอง คือเป็นคำหลักทั้งคู่ คำนิยามต่อมาก็ตรงกันทั้ง 2 คำ

อยฺยา + ภริยา = อยฺยาภริยา (ไอ-ยา-พะ-ริ-ยา) เขียนแบบไทยเป็น “อัยยาภริยา” แปลว่า “ภรรยาผู้เป็นเหมือนนาย” หรือ “ภรรยาเยี่ยงนาย

ขยายความ :

ในพระไตรปิฎก (สัตตกนิบาต อังคุตรนิกาย เล่ม 23 ข้อ 60) มีคาถาที่เป็นพระพุทธพจน์แสดงลักษณะของ “อัยยาภริยา” ดังนี้ 

…………..

อกมฺมกามา อลสา มหคฺฆสา

ผรุสา จ จณฺฑี จ ทุรุตฺตวาทินี

อุฏฺฐายกานํ อภิภุยฺย วตฺตติ

ยา เอวรูปา ปุริสสฺส ภริยา

อยฺยา จ ภริยาติ จ สา ปวุจฺจติ  ฯ

…………..

แปลโดยประสงค์ว่า –

…………..

ภรรยาที่ไม่เอางาน เกียจคร้าน กินจุ

ดุเดือด เลือดโหด โคตรหยาบ

ผัวแสนขยันก็ยังขนาบข่มขี่คุกคาม

บุรุษมีภรรยาทรามมีลักษณะเช่นนี้

พระจอมมุนีตรัสเรียกว่า “อัยยาภริยา” ภรรยาเยี่ยงนาย

…………..

พจนานุกรมพุทธศาสตร์ ฉบับประมวลธรรม ของท่าน ป.อ. ปยุตฺโต ข้อ [282] สรุปลักษณะของ “อัยยาภริยา” ไว้ดังนี้ 

…………..

3. อัยยาภริยา (ภรรยาเยี่ยงนาย, ภรรยาที่เกียจคร้าน ไม่ใส่ใจการงาน กินมาก ปากร้าย หยาบคายใจเหี้ยม ชอบข่มสามี — Ayyā-bhariyā: a wife like a mistress: Madam High and Mighty)

…………..

ดูก่อนภราดา!

: ถ้าเป็นนายเหนือใจตนเอง

: ก็ไม่ต้องเกรงว่าใครจะมาเป็นนาย

#บาลีวันละคำ (3,607)

28-4-65 

…………………………….

ดูโพสต์ในเฟซบุ๊กของครูทองย้อย

…………………………….

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องข้อมูลจำเป็นถูกทำเครื่องหมาย *