บทความเกี่ยวกับศาสนา-ภาษา-สังคม

ถ้ายอมรับว่าผิดเป็นถูก

ถ้ายอมรับว่าผิดเป็นถูก

—————————–

ก็จะเหลือแต่กระดูกไม่มีเนื้อ

ถ้าใครขยันเปิดพจนานุกรมมาตั้งแต่ฉบับแรกๆ แล้วมาเปิดฉบับล่าสุด ก็จะพบว่า มีคำอ่านที่เรียกว่า “อ่านตามความนิยม” เพิ่มขึ้นมาอีกเป็นอันมาก 

ขอยกมาสักคำหนึ่ง เช่นคำว่า พระอรหันต์

“อรหันต์” คำนี้เดิมมีคำอ่านอย่างเดียวคืออ่านว่า อะ-ระ-หัน

เวลานี้มีคำอ่านว่า ออ-ระ-หัน เพิ่มขึ้นมาอีกแบบหนึ่ง

เหตุที่ต้องเพิ่มก็เพราะมีคนอ่านคำนี้ว่า ออ-ระ-หัน กันมาก

อะไรที่ทำกันมากๆ ก็ถือว่าถูก – นี่คือแนวคิดของท่านผู้เพิ่มคำอ่าน

ทำให้ผมนึกถึงคำว่า “จำวัด” 

“จำวัด” หมายถึง พระนอนหลับ 

เวลานี้มีผู้ใช้คำว่า “จำวัด” ในความหมายว่า “พำนักอยู่ที่วัด”

เชื่อว่าญาติมิตรที่กำลังอ่านโพสต์ของผมนี่ หลายท่านก็คงเคยใช้คำว่า “จำวัด” ในความหมายนี้ และต่อไปก็น่าจะยังใช้ในความหมายนี้อีก

“จำวัด” ในความหมายว่า “พำนักอยู่ที่วัด” คือใช้คำผิดความหมาย

ถามว่า ถ้ามีผู้ใช้คำว่า “จำวัด” ในความหมายว่า “พำนักอยู่ที่วัด” กันมากขึ้น เราควรจะยอมรับกันหรือไม่ว่า “จำวัด” หมายความว่า “พำนักอยู่ที่วัด” เป็นความหมายที่ถูกต้อง โดยอ้างว่า-ก็คนเขาใช้กันอย่างนี้ เข้าหลัก-อะไรที่ทำกันมากๆ ก็ถือว่าถูก

แล้วก็นึกเลยไปถึงการเขียนนามสมณศักดิ์ของสื่อมวลชนสมัยนี้ที่นิยมแยกคำเป็นชื่อคำหนึ่ง นามสกุลคำหนึ่ง

เช่น-พระครูพิพัฒน์ธรรมธาดา

สื่อมวลชนจะเขียนว่า พระครูพิพัฒน์ ธรรมธาดา 

คือพระครูชื่อ พิพัฒน์ นามสกุล ธรรมธาดา

พระธรรมปัญญาภรณ์

สื่อมวลชนจะเขียนว่า พระธรรม ปัญญาภรณ์ 

คือพระชื่อ ธรรม นามสกุล ปัญญาภรณ์

เวลานี้สังเกตเห็นว่า ไม่ใช่เฉพาะสื่อมวลชน หากแต่คนทั่วไปก็ชักจะเขียนแบบนี้กันบ้างแล้ว

เคยเห็นชื่อสมณศักดิ์ทางเฟซบุ๊ก เจ้าของชื่อเขียนแยกเป็น ๒ คำเองเลย นั่นแปลว่าแม้แต่พระเองก็ชักจะไปกับเขาด้วยแล้ว

เมื่อเป็นเช่นนี้ เราก็ควรจะยอมรับกันไหมว่า การเขียนนามสมณศักดิ์แยกเป็น ๒ คำเป็นการเขียนที่ถูกต้อง โดยข้ออ้างเดียวกัน-ก็คนเขาใช้กันอย่างนี้ อะไรที่ทำกันมากๆ ถือว่าถูก

มีคำหนึ่งที่ผมกำลังนึกจะเขียนถึง คือคำว่า “สุคติ” ก็พอดีเห็นญาติมิตรท่านหนึ่งเอามาเขียนย้ำว่า คำนี้ต้องสะกดว่า “สุคติ”

คือคำว่า “สุคติ” นี้ มักมีคนสะกดเป็น “สุขคติ” จะว่าร้อยทั้งร้อยก็คงไม่เกินความจริง

คือไปเข้าใจว่าเป็น “สุข” คำหนึ่ง แล้วก็ “คติ” อีกคำหนึ่ง 

เอามารวมกันก็เป็น “สุขคติ” สบายไปเลย

ร้อยทั้งร้อยไม่เคยเปิดพจนานุกรม

และร้อยทั้งร้อยไม่เคยศึกษาคำบาลี

ไม่เคยศึกษาคำบาลีก็ไม่ว่า แต่ถ้าหมั่นเปิดพจนานุกรมสักหน่อย ก็จะรู้ว่าคำนี้สะกด “สุคติ” ไม่ใช่ “สุขคติ”

เอาคำผิดมาเขียนให้ดูด้วยนี่ บางท่านก็แนะนำด้วยความปรารถนาดีว่าไม่ควรทำ เมื่อมันผิดก็อย่าเอามาเขียนให้เห็นเป็นดีที่สุด จะได้ไม่มีใครจำคำผิดๆ

แต่ผมมีเหตุผลไปอีกอย่างหนึ่ง นั่นคือ รู้ด้วยเห็นด้วยว่าอย่างนี้มันผิดแล้วไม่เขียนผิดตาม แบบนี้ปลอดภัยกว่ารู้คำถูก แต่ไม่รู้คำผิด

แต่กระนั้นก็ควรอธิบายประกอบด้วย เพื่อให้เกิดปัญญา ไม่ใช่ให้จำได้อย่างเดียว

สุคติ” “ทุคติ” ผมเคยเขียนอธิบายไว้ใน “บาลีวันละคำ” ขอแรงญาติมิตรตามไปอ่านที่โพสต์ไว้ตามลิงก์ข้างล่างนี้ครับ

……………………………………..

https://www.facebook.com/tsangsinchai/posts/630724610354613

……………………..

https://www.facebook.com/tsangsinchai/posts/312211458872598

……………………………………..

ย้อนกลับไปที่ปัญหาข้างต้น – อะไรที่มีคนทำกันมากๆ แม้จะผิด เราก็ควรยอมรับว่าถูก – ถ้าใช้เกณฑ์อย่างนี้เป็นหลัก ก็เท่ากับยอมรับหายนะว่าเป็นวัฒนะ

ถ้าใช้เกณฑ์อย่างนี้เป็นหลัก ต่อไปจะไม่มีเฉพาะเรื่องภาษา แต่จะลามไปถึงเรื่องการประพฤติปฏิบัติ

และถ้าลามไปถึงการประพฤติปฏิบัติของพระสงฆ์ ต่อไปพระธรรมวินัยก็วินาศ

หลักของพระธรรมวินัยมีเรื่องใหญ่ๆ ๒ เรื่อง จำไว้ง่ายๆ คือเรื่องที่ “ห้ามทำ” กับเรื่องที่ “ต้องทำ”

เรื่องที่ “ห้ามทำ” ไปทำเข้า ก็คือผิด

เรื่อง “ต้องทำ” ปล่อยปละละเลย ไม่ทำ ก็คือผิด

ทั้ง ๒ เรื่องนี้ต้องศึกษาเรียนรู้ คิดเอาเองเข้าใจเอาเองไม่ได้

ต่อไป ถ้าหากพระสงฆ์สามเณรไปทำเรื่องที่ “ห้ามทำ” กันมากๆ เข้า และปล่อยปละละเลยเรื่องที่ “ต้องทำ” กันมากๆ เข้า แล้วก็ถือว่าแบบนั้นถูกต้อง ตามหลักการที่ว่า-อะไรที่ทำกันมากๆ ถือว่าถูก 

พระศาสนาก็ไม่เหลือ

จะเหลือแต่คนที่แต่งเครื่องแบบของพระพุทธเจ้า

แต่พระธรรมวินัยอันเป็นตัวพระศาสนา ไม่เหลือ

เหลือก็เหลือแต่กระดูก แต่ไม่มีเนื้อติดอยู่เลย

……………………

ทางแก้คืออย่างไร?

ทางแก้ก็คือ ต้องช่วยกันปลูกฝังฟื้นฟูนิสัยรักการหาความรู้

ปัญหาเรื่องภาษา ก็เริ่มง่ายๆ ด้วยการปลูกฝังนิสัยรักการเปิดพจนานุกรม

ปัญหาเรื่องพระธรรมวินัย ก็เริ่มด้วยการปลูกฝังอุดมคติ-อุดมการณ์ลงไปในจิตใจของนักเรียนบาลี นั่นคือ-เรียนบาลีเพื่อเอาความรู้หลักบาลีไปศึกษาเรียนรู้พระธรรมวินัย

ปลูกฝังลงไปตั้งแต่เริ่มเรียนบาลีไวยากรณ์นั่นเลย

เวลานี้เราปลูกฝังกันว่า เรียนบาลีไปจนถึง ป.ธ.๙ จะมีสิทธิ์เป็นนั่นเป็นนี่ โดยเฉพาะถ้าเป็นสามเณร ป.ธ.๙ ก็จะได้เป็น “นาคหลวง”

ก็ยังคงปลูกฝังกันต่อไปได้เหมือนเดิมเท่าเดิมหรือยิ่งกว่าเดิมก็ได้ เช่นจะสนับสนุนให้พระเณรเรียนจนจบ ดร. ก็ยิ่งดี ควรแก่การอนุโมทนา

แนวคิดของผมไม่ได้ไปขวางทางใครทั้งสิ้น

เพียงแต่ขอให้ “ต่อยอด” ขึ้นไปอีกให้ถึงยอดแท้ๆ ของการเรียนบาลี นั่นคือ —

๑ เรียนบาลีเพื่อเอาความรู้ไปศึกษาพระไตรปิฎกและคัมภีร์ทั้งหลายเพื่อให้รู้หลักพระธรรมวินัยอันเป็นตัวพระศาสนาที่ถูกต้อง

๒ แล้วเอาความรู้ที่ถูกต้องนั้นมาประพฤติปฏิบัติสำหรับตัวเอง

๓ แล้วเผยแผ่ความรู้ที่ถูกต้องนั้นให้แพร่หลายต่อไป

นี่คือยอดแท้ๆ ของการเรียนบาลี

นักเรียนบาลีจะเรียนอะไรให้ถึงระดับไหนอีก ก็เรียนได้ทั้งนั้น แต่ตราบเท่าที่ยังอยู่ในวัด การเรียนบาลีไปให้ถึงพระธรรมวินัยต้องเป็นภารกิจหลัก

เวลานี้การเรียนบาลีของเรายอดด้วนอยู่แค่เรียนให้สอบได้ สอบได้แล้วก็จบ

เวลาเห็นคนเขียนคำว่า “สุคติ” ผิด คือเขียนผิดเป็น “สุขคติ”

นักเรียนบาลีของเราเคยมีความคิดที่จะช่วยกันทักท้วงชี้แจงให้ความรู้ทางหลักภาษาที่ถูกต้องแก่เขาบ้างไหม

ไม่เคย ไม่ใช่หน้าที่

เวลาเห็นพระเณรประพฤตินอกธรรมนอกวินัย หรือเห็นชาวพุทธประพฤติผิดหลักคำสอนในพระพุทธศาสนา

นักเรียนบาลีของเราเคยมีความคิดที่จะช่วยกันทักท้วงชี้แจงให้ความรู้หลักพระธรรมวินัยที่ถูกต้องแก่พระเณร และแนะนำหลักคำสอนที่ถูกต้องให้แก่สังคมบ้างไหม

ไม่เคย ไม่ใช่หน้าที่

นี่คือการเรียนบาลีแบบยอดด้วน 

เราสามารถช่วยกันต่อยอดขึ้นไปได้อีก

ในแง่การบริหารจัดการ ช่วยกันปลูกฝังนโยบายหรืออุดมคติเรียนบาลีแบบต่อยอดให้แก่นักเรียนบาลีตั้งแต่ชั้นต้นไปเลย อันนี้อาจจะต้องรอผู้รับผิดชอบสำนักเรียนให้ท่านเป็นผู้ลงมือ

ในแง่การลงมือปฏิบัติ ช่วยกันหาความรู้และให้ความรู้ที่ถูกต้องแก่สังคม อันนี้ไม่ต้องรอใคร ทุกคนลงมือทำได้ทันที-เดี๋ยวนี้

แต่ที่ต้องทำอย่างเป็นหลักการก็คือ อย่ายอมรับการทำอะไรผิดๆ ว่าเป็นสิ่งที่ถูกต้องเพียงเพราะเหตุผลว่า-เขาทำอย่างนี้กันทั้งนั้น หรือที่ไหนๆ เขาก็ทำกันอย่างนี้

แต่จงช่วยกระตุ้นเตือนกันและกันให้ศึกษาหาความรู้ที่ถูกต้องในเรื่องนั้นๆ ไว้เสมอ

โปรดมั่นใจเถิดว่า-มนุษย์เป็นสิ่งมีชีวิตที่สามารถฝึกฝนพัฒนาตนเองให้หายโง่ได้-ไม่ใช่ยอมสยบอยู่กับการทำอะไรไปตามความเข้าใจผิดๆ แล้วก็พากันยอมรับว่าถูก

พลเรือตรี ทองย้อย แสงสินชัย

๒๘ เมษายน ๒๕๖๕

๑๔:๓๓

………………………………………..

ถ้ายอมรับว่าผิดเป็นถูก

ดูโพสต์ในเฟซบุ๊กของครูทองย้อย

………………………………………..

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องข้อมูลจำเป็นถูกทำเครื่องหมาย *