วิธีคิดของผู้นำพระศาสนา
วิธีคิดของผู้นำพระศาสนา
—————————
กับปัญหาคำว่า “หีนยาน”
พระพุทธศาสนาที่นับถือกันอยู่ในบ้านเมืองของเรานี้เป็นพระพุทธศาสนาแบบ “เถรวาท”
พระพุทธศาสนาดั้งเดิมก็มีแบบเดียว คือแบบที่พระพุทธองค์ทรงประกาศไว้ แต่เมื่อพระพุทธองค์เสด็จดับขันธปรินิพพานแล้ว ผู้นับถือพระพุทธศาสนาในเวลาต่อมาเข้าใจหลักธรรมคำสอนไม่ตรงกันและประพฤติปฏิบัติไม่เหมือนกัน จึงเกิดการแบ่งเป็นนิกาย
นิกายใหญ่ที่ลงตัวแล้วในเวลานี้มี ๒ นิกาย คือ เถรวาทและอาจารยวาท หรือจะเรียกว่า นิกายที่ถือแบบเดิมและนิกายที่เปลี่ยนแปลงไปจากเดิม ก็ได้
เถรวาทเป็นนิกายที่ถือแบบเดิม
อาจารยวาทเป็นนิกายที่เปลี่ยนแปลงไปจากเดิม
ต่อมาก็เกิดมีผู้คิดคำเรียกขึ้น
เรียกเถรวาทว่า “หีนยาน”
เรียกอาจารยวาทว่า “มหายาน”
ความหมายตามเจตนาเดิม “หีนยาน” ตามศัพท์แปลว่า “ยานเลว” หมายถึงนิกายที่ใจแคบ ปฏิบัติเอาตัวรอดไปตามลำพัง
“มหายาน” แปลว่า “ยานใหญ่” หมายถึงนิกายที่ใจกว้าง ช่วยพาเพื่อนมนุษย์ให้รอดไปก่อน ตนเองไปทีหลัง
ต่อมา ก็มีผู้แปลความหมายให้สุภาพขึ้นมาหน่อย คือบอกว่า “หีนยาน” หมายถึงยานพาหนะที่แคบ พาคนไปได้น้อย “มหายาน” หมายถึงยานพาหนะที่กว้าง พาคนไปได้มาก
จนถึงปัจจุบันนี้ ได้ทราบว่ามีการขอร้องกันว่า อย่าเรียกพระพุทธศาสนาแบบเดิมว่า “หีนยาน” เลย เพราะเป็นคำที่กดข่มกัน ขอให้เรียกว่า “เถรวาท” เถิด
เป็นอันว่า โดยมารยาทแล้ว เมื่อพูดถึงพระพุทธศาสนาแบบเดิม เราก็จะเรียกกันว่า “เถรวาท” แต่ในใจลึกๆ แล้วผู้ที่นิยมชมชื่นกับการคิดถ้อยคำ ๒ คำนี้ขึ้นมา ก็ยังคงมองพระพุทธศาสนาแบบเถรวาทในทาง “ลบ” อยู่เหมือนเดิม เช่นบอกว่า พระพุทธศาสนาแบบเถรวาทสอนให้ท่องจำอย่างเดียว ไม่ได้ใช้สติปัญญา หรือพูดแบบใหม่ว่า สอนให้คิดตามเท่านั้น ห้ามคิดต่าง
การมองว่าพระพุทธศาสนาแบบเถรวาทสอนให้คิดตามเท่านั้น ห้ามคิดต่าง เป็นประเดินที่น่าอภิปราย แต่ตอนนี้ผมอยากอภิปรายประเด็นที่ว่า พระพุทธศาสนาแบบเถรวาทเป็นนิกายที่ใจแคบ ปฏิบัติเอาตัวรอดไปตามลำพัง – จริงอย่างที่ว่าหรือ?
ดูตรงไหนจึงบอกว่าพระพุทธศาสนาแบบเถรวาทเอาตัวรอดไปตามลำพัง?
จำกัดความกันก่อนว่า อย่างไรที่เรียกว่า “เอาตัวรอดไปตามลำพัง”
ดูตามเจตนาของผู้ใช้คำนี้ “เอาตัวรอดไปตามลำพัง” ก็คือ ปฏิบัติเพื่อให้ตัวเองพ้นทุกข์ไปคนเดียว เพื่อนมนุษย์จะเป็นอย่างไรไม่สนใจ และเมื่อปฏิบัติจนพ้นทุกข์แล้วก็ไม่เอาอะไรกับสังคม ไม่รับผิดชอบอะไรทั้งนั้น ถ้ามองเป็นภาพคนไปนิพพานก็คือ ไปนิพพานคนเดียว ทิ้งสังคมไว้เบื้องหลัง นี่คือ “เอาตัวรอดไปตามลำพัง”
ถ้าศึกษาเหตุการณ์ในพุทธประวัติ จะเห็นว่าผู้ที่มองแบบนี้มองข้ามข้อเท็จจริงไปอย่างน่าเสียใจ
ขอให้ดูองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าและพระอรหันตสาวก ท่านเหล่านั้นปฏิบัติธรรมสำเร็จแล้ว ตัวเองพ้นทุกข์เรียบร้อยแล้ว แล้วท่านไปไหน?
ท่านไม่ได้หนีสังคมไปไหนเลย
องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงทำงานอย่างที่ภาษาการเมืองเรียกว่า “รับใช้สังคม” ต่อมาอีก ๔๕ ปี จึงเสด็จดับขันธปรินิพพาน
วันที่เสด็จดับขันธปรินิพพานนั่นเองก็ยังทรงแสดงธรรมให้เพื่อนมนุษย์พ้นทุกข์ไปได้อีกคนหนึ่ง พูดได้เต็มปากว่า รับใช้สังคมจนตาย
แล้วดูพระอรหันตสาวกทั้งหลาย สถานะของท่านเหล่านั้นก็คือเอาตัวรอดได้แล้วทุกองค์
แล้วมีองค์ไหนบ้างที่ทิ้งสังคมเอาตัวรอดไปตามลำพัง?
เท่าที่ระลึกได้ มีพระอัญญาโกณฑัญญะองค์เดียวที่ทูลขออนุญาตไปอยู่ป่าหิมพานต์ตามลำพัง ดูตามรูปการณ์แล้วน่าจะเนื่องจากปัญหาด้านสุขภาพ เพราะท่านเป็นพระเถระที่อายุมากที่สุด การอยู่ในชุมชนจะเป็นภาระแก่ผู้อื่นมากที่สุด และเนื่องจากท่านเป็นพระเถระที่มีอาวุโสสูงสุด การอยู่ร่วมกับหมู่คณะที่ล้วนแต่กำลังทำงานพระศาสนาน่าจะกลายเป็นอุปสรรคบางอย่าง เช่นเกิดความเกรงใจทำให้ทำงานไม่สะดวก ท่านจึงปลีกตัวเองออกไป เพื่อให้หมู่คณะทำงานได้อย่างคล่องตัวคล่องใจ
พระอรหันต์องค์อื่นที่ปลีกตัวจากสังคม ผมยังนึกไม่ออก ลองช่วยกันศึกษาตรวจสอบดูเถิด
เหตุการณ์ที่สำคัญที่สุดก็คือการทำสังคายนาเมื่อพระพุทธองค์เสด็จดับขันธปรินิพพานได้ ๓ เดือน
ผู้ที่เป็นตัวตั้งตัวตีคือพระมหากัสสปเถระ พระอรหันตเถระที่เข้าร่วมงานครั้งนี้ทั้งหมดล้วนแต่ “เอาตัวรอด” ได้แล้วทั้งสิ้น
การทำสังคายนาครั้งนั้นก็คือการรวบรวมหลักคำสอนขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าให้เป็นหมวดหมู่ ไม่ให้กระจัดกระจาย เนื่องจากการประกาศพระศาสนาเวลานั้นใช้วิธี “สอนไป-ปฏิบัติไป-ต่างคนต่างจำกันไป” ยังไม่ได้ใช้ระบบประมวลคำสอนไว้ในที่เดียวกัน จึงต้องรวบรวมคำสอนไว้ให้เป็นหมวดหมู่ ให้ชัดเจนว่าอะไรที่พระพุทธเจ้าสอน รวบรวมไว้ อะไรที่พระพุทธเจ้าไม่ได้สอน คัดออกไป ทั้งนี้ก็เพื่อประโยชน์ของคนรุ่นหลังที่จะได้เข้ามาศึกษาและปฏิบัติได้อย่างถูกต้อง
พระอรหันตเถระเหล่านั้น ตัวเองรอดแล้วจะต้องมาทำงานแบบนี้อีกทำไม? ทำไมไม่เอาตัวรอดไปตามลำพัง-เหมือนที่ให้ความหมายคำว่า “หีนยาน”?
หรือจะดิ้นไปอีกว่า ตอนนั้นก็เป็นแบบนั้นแหละ แต่ต่อมาหลังจากนั้นจึงได้เกิดลัทธิเอาตัวรอดไปตามลำพัง
ก็ต้องซักกันต่อไปว่า ลัทธิเอาตัวรอดไปตามลำพังที่ว่านั้นเกิดเมื่อไร?
พระพุทธศาสนาแบบเถรวาทก็คือพระพุทธศาสนาที่ถือแบบเดิม
แบบเดิม-ก็คือแบบที่วางรากฐานไว้ตั้งแต่การทำสังคายนาครั้งนั้น
การทำสังคายนาครั้งนั้นก็คือสังคายนาเพื่อรักษาคำสอนแบบดั้งเดิม ก็คือแบบที่ถูกต้องเอาไว้
พระพุทธศาสนาแบบเดิมจึงคือ พระพุทธศาสนาที่เมื่อตัวเองรอดแล้วก็หันกลับมาช่วยสังคม-อย่างที่พระอรหันตเถระครั้งนั้นท่านทำเป็นแบบอย่าง จนเป็นที่มาของคำว่า “เถรวาท” ซึ่งหมายถึง “หลักคำสอนของพระเถระ”
สรุปว่า หลักคำสอนของพระเถระก็คือ ปฏิบัติธรรมจนตัวเองรอดแล้วกลับมาช่วยสังคม
ผู้นับถือพระพุทธศาสนาแบบเถรวาทก็คือผู้ที่ปฏิบัติตามแบบแผนดังกล่าวนี้
แล้วการทิ้งสังคมเอาตัวรอดไปตามลำพัง จะเป็นความหมายของพระพุทธศาสนาแบบเถรวาทได้อย่างไร
ใครจะแก้ตัวแก้ต่างว่าอย่างไรอีก
ถ้าแก้ว่า – ตอนนั้นก็เป็นแบบนั้นแหละ แต่ต่อมาหลังจากนั้นจึงได้เกิดลัทธิเอาตัวรอดไปตามลำพัง และคำว่า “ต่อมาหลังจากนั้น” หมายถึงพฤติกรรม-การกระทำของเหล่าผู้นับถือบางส่วนบางกลุ่มบางคนที่เห็นๆ กันอยู่ในปัจจุบัน —
ถ้าแก้ไปอย่างนี้อีก ก็ควรจะเข้าใจว่า นั่นคือ พฤติกรรม-การกระทำของเหล่าผู้นับถือบางส่วนบางกลุ่มบางคน ไม่ใช่หลักการของ “เถรวาท” ต้องแยกออกไปว่ากันต่างหากเป็นส่วนๆ เป็นกลุ่มๆ หรือเป็นคนๆ ไป
การเอาพฤติกรรมส่วนบุคคลมาสรุปว่าเป็นหลักการ จึงไม่ถูกต้อง
………………
เขียนมาถึงตรงนี้ ผมก็นึกถึงท่าทีของผู้บริหารการพระศาสนาของเราในปัจจุบัน ที่ท่านใช้วิธีวางเฉย
ใครเสนอให้ทำอะไรที่ควรทำ ท่านก็เฉย
ใครทำอะไรที่ไม่ควรทำ ท่านก็ช้า-กว่าจะลงมือแก้ และหลายๆ เรื่องก็แก้ไม่ได้เพราะไม่ได้แก้
ถ้าใครใจกล้าไปปรารภตรงๆ กับท่านว่าทำไมเป็นอย่างนี้
ผมเชื่อว่า คำตอบแบบหนึ่งก็คือ —
………………………………..
อายุปานนี้แล้ว จะให้ทำอะไรอีกเล่า อีกไม่กี่วันก็จะลาโลกอยู่แล้ว ใครอยู่ก็ทำกันไปซิ
………………………………..
ถ้าพระอรหันตเถระครั้งนั้นที่ทำสังคายนาจนเป็นมาตรฐานของพระพุทธศาสนาเถรวาทในบัดนี้ ท่านคิดแบบนี้ – จะให้ทำอะไรอีกเล่า อีกไม่กี่วันก็จะลาโลกอยู่แล้ว ใครอยู่ก็ทำกันไปซิ – จะมีพระพุทธศาสนาเถรวาทมาถึงพวกเราไหม?
พลเรือตรี ทองย้อย แสงสินชัย
๒๗ เมษายน ๒๕๖๕
๑๖:๕๔
………………………………………..
วิธีคิดของผู้นำพระศาสนา
………………………………………..