บาลีวันละคำ

ราชตฤณมัยสมาคม [1] (บาลีวันละคำ 2,301)

ราชตฤณมัยสมาคม [1]

อ่านว่า ราด-ชะ-ตฺริน-นะ-ไม-สะ-มา-คม

ประกอบด้วยคำว่า ราช + ตฤณ + มัย + สมาคม

(๑) “ราช

บาลีอ่านว่า รา-ชะ แปลตามรากศัพท์ว่า –

(1) “ผู้รุ่งเรืองโดยยิ่งเพราะมีเดชานุภาพมาก” หมายความว่า ผู้เป็นพระราชาย่อมมีเดชานุภาพมากกว่าคนทั้งหลาย

(2) “ผู้ยังคนทั้งหลายให้ยินดี” หมายความว่า เป็นผู้อำนวยความสุขให้ทวยราษฎร์ จนคนทั้งหลายร้องออกมาว่า “ราชา ราชา” (พอใจ พอใจ)

ราช” หมายถึง พระราชา, พระเจ้าแผ่นดิน ใช้นำหน้าคำให้มีความหมายว่า เป็นของพระเจ้าแผ่นดิน, เกี่ยวกับพระเจ้าแผ่นดิน หรือเป็นของหลวง

พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2554 บอกไว้ว่า –

ราช ๑, ราช– : (คำนาม) พระเจ้าแผ่นดิน, พญา (ใช้แก่สัตว์) เช่น นาคราช คือ พญานาค สีหราช คือ พญาราชสีห์, คํานี้มักใช้ประกอบกับคําอื่น, ถ้าคําเดียวมักใช้ว่า ราชา.”

(๒) “ตฤณ

บาลีเป็น “ติณ” (ติ-นะ) รากศัพท์มาจาก ติณฺ (ธาตุ = กิน) + ปัจจัย

: ติณฺ + = ติณ (นปุงสกลิงค์) แปลตามศัพท์ว่า “สิ่งอันสัตว์กิน” หมายถึง หญ้า, ใบไม้, วัชพืช; ฟาง; แฝก; หญ้าแห้ง, ใบไม้หรือใบหญ้าที่ทิ้งรก (grass, herb; weed; straw; thatch; hay, litter)

บาลี “ติณ” สันสกฤตเป็น “ตฤณ

พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2554 บอกไว้ว่า –

ตฤณ, ตฤณ– : (คำแบบ) (คำนาม) หญ้า. (ส.; ป. ติณ).”

(๓) “มัย

บาลีเป็น “มย” (มะ-ยะ) นักภาษาวิเคราะห์ความหมายของศัพท์ไว้ดังนี้ –

(1) มีความหมายว่า “มยํ” (มะ-ยัง) = ข้าพเจ้าเอง (“myself”)

(2) มีความหมายว่า “ปญฺญตฺติ” (บัญญัติ) = รับรู้กันว่าเป็นสิ่งนั้นสิ่งนี้ (“regulation”)

(3) มีความหมายว่า “นิพฺพตฺติ” = บังเกิด (“origin”, arising from)

(4) มีความหมายว่า “มโนมย” = ทางใจ (“spiritually”)

(5) มีความหมายว่า “วิการ” = ทำให้แปลกไปจากสภาพเดิมของสิ่งนั้น (“alteration”) เช่น เอาทองมาทำเป็นสร้อยคอ (ทอง = สภาพเดิม, สร้อยคอ = สิ่งที่ถูกทำให้แปลกจากเดิม)

(6) มีความหมายว่า “ปทปูรณ” (บทบูรณ์) = ทำบทให้เต็ม เช่น ทานมัย ก็คือทานนั่นเอง สีลมัย ก็คือศีลนั่นเอง เติม “มัย” เข้ามาก็มีความหมายเท่าเดิม (to make up a foot of the verse)

กฎของการใช้คำว่า “มย” ก็คือ ไม่ใช้เดี่ยวๆ แต่จะเป็นส่วนท้ายของคำอื่นเสมอ ในที่นี้ก็คือ ติณ + มย = ติณมย > ตฤณมัย

(๔) “สมาคม

บาลีอ่านว่า สะ-มา-คะ-มะ รากศัพท์มาจาก สํ > สม ( = พร้อมกัน, รวมกัน) + อา ( = ทั่ว, ยิ่ง, กลับความ) + คม (ธาตุ = ไป, ถึง)

: สํ > สม + อา + คม = สมาคม แปลตามศัพท์ว่า “มาพร้อมกัน” “มารวมกัน” (คม” แปลว่า “ไปอา + (คำอุปสรรค “กลับความ”) จาก “ไป” กลายเป็น “มา”)

ในภาษาไทย พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2554 บอกความหมายของคำว่า “สมาคม” ไว้ดังนี้ :

(1) การประชุม, การเข้าร่วมพวกร่วมคณะ, การคบค้า.

(2) แหล่งหรือที่ประชุมของบุคคลหลายคนมาร่วมกันด้วยมีจุดประสงค์เพื่อประโยชน์บางประการ เช่น เข้าสมาคม สมาคมศิษย์เก่า.

(3) (คำที่ใช้ในกฎหมาย) นิติบุคคลที่ก่อตั้งขึ้นเพื่อกระทําการใด ๆ อันมีลักษณะต่อเนื่องร่วมกันและมิใช่เป็นการหาผลกําไรหรือรายได้มาแบ่งปันกัน สมาคมต้องมีข้อบังคับและจดทะเบียนตามบทบัญญัติแห่งประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์. (ป., ส.).

(4) คบค้า, คบหา, เช่น อย่าสมาคมกับคนพาล ให้สมาคมกับนักปราชญ์.

ในที่นี้คำว่า “สมาคม” มีความหมายตามนัยแห่งข้อ (2)

การประสมคำ :

ติณ + มย = ติณมย > ตฤณมัย แปลว่า “แล้วไปด้วยหญ้า” = พื้นที่ซึ่งปกคลุมด้วยหญ้าหรือปูด้วยหญ้า

สํสกฤต-ไท-อังกฤษ อภิธาน มีคำว่า “ตฤณมย” บอกไว้ดังนี้ –

ตฤณมย : (คำวิเศษณ์) ‘ตฤณมัย,’ อันทำด้วยหญ้า; made of grass.”

พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2554 บอกไว้ว่า –

ตฤณมัย : (คำวิเศษณ์) แล้วไปด้วยหญ้า, ทําด้วยหญ้า. (คำนาม) สนามหญ้า. (ส.).”

ตฤณมัย + สมาคม = ตฤณมัยสมาคม แปลว่า “สมาคม (อันมีกิจกรรม) เกี่ยวกับสนามหญ้า

ราช + ตฤณมัยสมาคม = ราชตฤณมัยสมาคม แปลว่า “สมาคม (อันมีกิจกรรม) เกี่ยวกับสนามหญ้าของพระราชา

อภิปรายขยายความ :

ราชตฤณมัยสมาคม” มีชื่อเต็มว่า “ราชตฤณมัยสมาคมแห่งประเทศไทย ในพระบรมราชูปถัมภ์ (Royal Turf Club of Thailand under the Royal Patronage) ตั้งอยู่ที่ถนนพิษณุโลก แขวงสวนจิตรลดา เขตดุสิต กรุงเทพมหานคร

ราชตฤณมัยสมาคม” มีกำเนิดขึ้นในสมัยรัชกาลที่ 6 โดยพระยาประดิพัทธภูบาลและพระยาอรรถการประสิทธิ์ได้ทำหนังสือทูลเกล้าฯ พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว ขอพระราชทานพระบรมราชานุญาตตั้งสโมสรสนามม้าเพื่อให้บริการแข่งม้าสำหรับคนไทยและนำรายได้มาใช้บำรุงพันธุ์ม้า ทรงมีพระบรมราชานุญาตพร้อมทั้งพระราชทานนามในครั้งแรกว่า “ราชตฤณมัยสมาคมแห่งกรุงสยาม” และทรงรับไว้ในพระบรมราชูปถัมภ์

ราชตฤณมัยสมาคม” เปิดสนามอย่างเป็นทางการเมื่อวันจันทร์ที่ 18 ธันวาคม พ.ศ. 2459

(ข้อมูลจากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี อ่าน 30 กันยายน 2561 เวลา 21:00)

…………..

ดูก่อนภราดา!

สถานที่ ไม่ดีไม่ชั่วในตัวมันเอง

: ผู้ทรงศีลอยู่ในเรือนจำ เรือนจำก็เป็นวัด

: โจรตระบัดสัตย์อยู่ในอาวาส อาวาสก็เป็นซ่องโจร

——————-

(ตามคำขอของ Santi Issaraphan)

#บาลีวันละคำ (2,301)

30-9-61

ดูโพสต์ในเฟซบุ๊กของครูทองย้อย